ความยั่งยืน

ดร. ธรณ์เผยปี 65 ไทยสร้างขยะลงทะเล 3 หมื่นตัน พบเป็นบรรจุภัณฑ์มากสุด

8 ต.ค. 66
ดร. ธรณ์เผยปี 65 ไทยสร้างขยะลงทะเล 3 หมื่นตัน พบเป็นบรรจุภัณฑ์มากสุด

เมื่อเราไปเยือนสถานที่ท่องเที่ยวทางน้ำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำ ทะเลสาบ หรือทะเล สิ่งหนึ่งที่เราเห็นกันจนชินในไทย ก็คือ ภาพของขยะพลาสติกที่นักท่องเที่ยวไปใช้เที่ยวกินดื่ม แล้วทิ้งขยะลงในแม่น้ำ ทะเล บนพื้นดินทราย แหล่งท่องเที่ยว ซึ่งขณะเหล่านี้ไม่สามารถย่อยสลายได้เอง เมื่อขยะเหล่านี้ลงสู่ท้องทะเล ก็จะกลายเป็นขยะ และมลพิษในน้ำ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ในน้ำ และทำลายพื้ช น้ำ หรือสัตว์ในน้ำต่อไป 

โดยขยะเหล่านี้ไม่เพียงแค่ทำลายระบบนิเวศในทะเลเท่านั้น แต่พลาสติกเหล่านี้ มีผลต่อชีวิตสัตว์ทะเลโดยตรง เพราะอาจไปบาด หรือพันกับตัวสัตว์จนทำให้เกิดการบาดเจ็บ อาจทำให้สัตว์บางชนิดคิดว่ามันเป็นอาหารจนรับประทานเข้าไป และอาจย้อนกลับมาทำร้ายเราในรูปแบบ ‘ไมโครพลาสติก’ ที่เข้าไปในตัวสัตว์น้ำ และเข้ามาในตัวของเราได้เมื่อเรารับประทานสัตว์เหล่านั้นเข้าไปอีกที 

ดังนั้น ปัญหาขยะในทะเลจึงไม่ใช่ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่กระทบกับเราทุกคนในยุคนี้ และลูกหลานของเราในยุคหน้า ที่อาจจะต้องเจอปัญหาร้ายแรงมากกว่าเราเสียอีก เพราะผลเสียจากความมักง่ายของเราในตอนนี้จะไปตกกับพวกเขาทั้งหมด ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

เพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ในการเสวนาหัวข้อ “Battling Marine Debris to Preserve Biodiversity” ในงาน Sustainability Expo ปี 2023 ผู้เชียวชาญและนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลจากหลายภาคส่วนทั้งทางภาครัฐ และภาคเอกชน จึงได้มาร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มของสถานการณ์ขยะในทะเล รวมไปถึงนำเสนอวืธีการแก้ปัญหากัน

SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนมาดูกันว่าปัญหาขยะในทะเลในปัจจุบันนี้เป็นอย่างไรบ้าง จะส่งผลกระทบอย่างไร และเราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อลดผลกระทบเหล่านั้น

UN พบขยะลงทะเลปีละ 11 ล้านตัน ไทยสร้างถึง 3 หมื่นตัน 

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยว่า พบว่า ปัจจุบันประชากรโลกผลิตขยะเป็นจำนวนร้อยล้านตันต่อปี แต่ยังไม่มีวิธีจัดการขยะที่เหมาะสม ทำให้ขยะส่วนมากเข้าไปในสิ่งแวดล้อม กลายเป็นมลพิษทั้งในอากาศ ดิน รวมถึงน้ำ

vfere

เมื่อมองภาพรวมทั่วโลก พบว่า ข้อมูลของ UN Foundation คนทั่วโลกผลิตขยะพลาสติกมากถึง 430 ล้านตันต่อปี และ 2 ในสามของจำนวนนั้น เป็นขยะพลาสติกจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นหลอด บรรจุภัณฑ์หรือจานชามพลาสติกต่างๆ และแต่ละปีถึง 11 ล้านตัน และจะกลายเป็นขยะในทะเล ทำให้ปัจจุบันโลกมีขยะพลาสติกถึงประมาณ 200 ล้านตันแล้วในทะเล โดยหากขยะพลาสติกในโลกยังคงเพิ่มในอัตรานี้ต่อปี จำนวนขยะพลาสติกในทะเลจะมีมากกว่าจำนวนสัตว์ทะเลภายในปี 2050

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าปัญหาขยะพลาสติกในทะเลในปัจจุบันเป็นปัญหาที่ใหญ่มากสำหรับทั้งโลก และถ้าหากมองมาที่ประเทศไทย ซึ่งประชาชนมีการใช้พลาสติกเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ปัญหานี้ก็เลวร้ายไม่แพ้กัน 

โดยจากสถิติของกรมควบคุมมลพิษ ในปี 2022 คนไทยสร้างขยะมูลฝอยรวมกันถึง 116 ล้านตัน แต่มีเพียง 51.7% เท่านั้น ที่ได้รับการกำจัดอย่างถูกต้อง และมีเพียง 26.6% เท่านั้นที่ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ ขณะที่มีถึง 21.7% ได้รับการกำจัดแบบไม่ถูกต้อง ซึ่ง 12%  ของที่ได้กำจัดขยะแบบไม่ถูกต้องนั้น ซึ่งเป็นขยะพลาสติกถึง 10% จะกลายเป็นขยะพลาสติกในทะเล คิดเป็นปริมาณถึง 3 หมื่นล้านตัน 

และหากเจาะลึกลงไปอีกในแต่ละพื้นที่ของไทย ข้อมูลจากการศึกษาของคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังชี้อีกว่าในปี 2022 มีขยะพลาสติกถึง 121 ล้านชิ้นในอ่าวไทยตอนบน ซึ่งคิดเป็นขยะจากแม่น้ำเจ้าพระยามากที่สุด รองลงมาเป็นแม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำท่าจีน และส่วนมากเป็นขยะจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกต่างๆ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 33.9% ชี้ว่าขยะเหล่านี้เกิดจากการบริโภคที่ไม่มีความรับผิดชอบของมนุษย์

 

ขยะในทะเล ปัญหาที่กระทบทุกชีวิตบนโลก

ถึงแม้สถิติเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่เรารู้กันดีว่า เมื่อพูดถึงปัญหาขยะในทะเล หลายๆ คนอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว และเพิกเฉย และไม่ยอมเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพราะยังติดความสะดวกสบายจากการใช้พลาสติกในชีวิตประจำวัน แต่ไม่รู้ว่าแท้จริงแล้ววิถึชีวิตในปัจจุบันของเรากำลังกลับมาทำร้ายตัวเราเองทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

สำหรับผลเสียของขยะในทะเล ปัญหาที่ชัดเจนที่สุด ก็คือ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เพราะสิ่งแปลกปลอมในทะเลจะกระทบการใช้ชีวิตของสัตว์ทะเลทันที โดยจากข้อมูลของ Gall and Thompson ขยะพลาสติกในทะเลกระทบสัตว์ทะเลถึง 700 สายพันธุ์ทั่วโลก ตั้งแต่พืชพันธุ์ชายฝั่ง แพลงตอน ปลา นกทะเล ไปจนถึงเต่าทะเล เพราะเมื่อเข้าไปอยู่ในทะเลแล้วขยะพวกนี้อาจจะไปติดหรือพันกับตัวสัตว์ทะเลจนทำให้สัตว์เหล่านี้บาดเจ็บ หรือไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ บางส่วนก็ถูกรับประทานเข้าไปจนทำให้ทางเดินอาหารของสัตว์เหล่านี้ได้รับความเสียหาย และหลอกให้สัตว์เหล่านี้คิดว่าตัวเองอิ่มอยู่ ไม่หาอาหารเพิ่ม จนสุดท้ายขาดสารอาหารตาย

istock-1182561854

สำหรับภาคเศรษฐกิจนั้น ปัญหาขยะพลาสติกในทะเลก็สร้างผลกระทบใหญ่ไม่แพ้กัน เพราะ ทรัพยากรน้ำและทะเลเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ในหลายอุตสาหกรรมมาก ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาหาร หรืออุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทำให้หากความหลากหลายของสัตว์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในทะเลลดจำนวนไป หรือมีคุณภาพแย่ลง อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอาหารที่ต้องพึ่งพาความหลากหลายของระบบนิเวศก็จะได้รับผลกระทบ เสี่ยงทำให้คนจำนวนมากที่ต้องพึ่งพาธุรกิจเหล่านี้เลี้ยงชีวิตสูญเสียรายได้มหาศาลในอนาคต

ท้ายที่สุด หากทั้งสัตว์น้ำและมนุษย์ได้รับผลกระทบจากปัญหานี้ ปัญหาสังคมก็จะตามมา เพราะจะทำให้เกิดการขาดแคลนอาหาร อาจต้องมีการอพยพย้ายถิ่นฐานเพื่อหาแหล่งอาหารและรายได้อื่น ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน อาชญากรรม และปัญหาสังคมอื่นๆ อีกมากมายตามมาในอนาคต

ดูเหมือนแก้ยาก แต่แก้ได้ เริ่มที่ตัวเราเอง

ดังนั้น เมื่อเห็นผลกระทบใหญ่หลวงที่จะตามมาเหล่านั้นแล้ว มนุษย์ทุกคนในทุกภาคส่วน ทุกระดับ ทุกองค์กร มีส่วนในการช่วยปรับปรุงสภาพทะเลให้ดีขึ้นได้ ทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการซื้อ หรือใช้ของใช่ในชีวิตประจำวัน เน้นซื้อของที่ใช้ซ้ำได้ ไม่ใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหลอด แก้ว หรือจานชามช้อนส้อม ต่างๆ และถ้าหากต้องใช้พลาสติกควรเลือกพลาสติกที่ทั้งแตกสลายและย่อยสลายตามธรรมชาติได้ ไม่เพียงแค่แตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยจนกลายไปเป็นไมโครพลาสติกในอนาคต

นอกจากนี้ หากจำเป็นต้องมีการสร้างขยะ การทิ้งขยะให้เป็นที่ และแยกขยะที่รีไซเคิลได้ออกจากขยะที่รีไซเคิลไม่ได้ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะทำให้วัสดุที่ควรถูกหมุนเวียนกลับเข้าไปใช้ใหม่กลับเข้าระบบหมด ไม่ไปจบในหลุมฝังกลบ หรือไหลลงน้ำจนกลายเป็นมลพิษทางทะเลอีก

istock-1199683640

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT