Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
วิจัยชี้ โลกรีไซเคิลไม่ทัน เพราะขยะล้น-ปริมาณการบริโภควัสดุพุ่งสูง
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

วิจัยชี้ โลกรีไซเคิลไม่ทัน เพราะขยะล้น-ปริมาณการบริโภควัสดุพุ่งสูง

24 พ.ค. 68
22:19 น.
แชร์

อ้างอิงจากรายงาน Circularity Gap Report 2025 อ้างอิงจากรายงาน Circularity Gap Report 2025 จัดทำโดย Circle Economy ร่วมกับ Deloitte Global พบว่า จากวัสดุทั้งหมดที่โลกใช้ในแต่ละปี รวม 106 พันล้านตัน มีเพียง 6.9% เท่านั้นที่เป็นวัสดุรีไซเคิล ทั้งนี้ ปริมาณการใช้วัสดุทั้งหมด นับว่าเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่ตัวเลขการใช้วัสดุรีไซเคิลกลับไม่เพิ่มขึ้นตาม อีกทั้งยังลดลงราว 2.2% ด้วย การใช้วัสดุของทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นเช่นนี้ ส่งผลให้เกิดของเสียเกินกว่าที่ระบบรีไซเคิลที่มีอยู่ในปัจจุบันจะสามารถรองรับการกำจัดขยะที่เหมาะสมได้

เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คือแนวคิดการจัดการทรัพยากรและรูปแบบธุรกิจเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของวัสดุ และลดของเสียอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาว โดยมุ่งจัดการการใช้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด และลดการสร้างของเสียให้น้อยที่สุด

แม้ในช่วงปี 2561–2564 ปริมาณการใช้วัสดุรีไซเคิลจะเพิ่มขึ้นถึง 200 ล้านตัน แต่การบริโภควัสดุโดยรวมกลับเติบโตเร็วกว่า จึงส่งผลลัพธ์เป็นลบ รายงานของ Circle Economy ซึ่งนำเสนอฐานข้อมูลด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนระดับโลก จึงเรียกร้องให้ลดการพึ่งพาวัสดุบริสุทธิ์ หันมาให้ความสำคัญกับวัสดุรีไซเคิล เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่มูลค่า และออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีอายุการใช้งานยาวนาน ซ่อมแซมได้ และถอดแยกชิ้นส่วนได้ง่าย

หากสามารถรีไซเคิลวัสดุที่นำกลับมาใช้ได้ทั้งหมดโดยไม่ลดการบริโภค อัตราเศรษฐกิจหมุนเวียนของโลกอาจเพิ่มขึ้นจาก 6.9% เป็น 25% อย่างไรก็ตาม ระบบรีไซเคิลในปัจจุบันยังไม่สามารถรองรับปัญหาขยะทั่วโลกได้อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ ธุรกิจจึงสามารถมีบทบาทได้โดยการปรับปรุงระบบรีไซเคิล ลดการสร้างขยะตั้งแต่ต้นทาง ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีด้านการจัดเก็บของเสีย และแสวงหาวิธีใช้ประโยชน์ที่มีมูลค่าสูงจากของเสีย

สิ่งที่รายงานฉบับนี้เน้นย้ำ คือ วัสดุที่ผ่านการรีไซเคิลส่วนใหญ่มาจากภาคอุตสาหกรรมและเศษวัสดุจากการรื้อถอนอาคาร ขณะที่ของเสียจากครัวเรือนกลับมีสัดส่วนเพียงเล็กน้อย คิดเป็นเพียง 3.8% ของวัสดุรีไซเคิลที่มาจากของใช้ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค

Ivonne Bojoh ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Circle Economy กล่าวถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ขั้นต้นของห่วงโซ่คุณค่า โดยชี้ว่า “การวิเคราะห์ของเราชัดเจนว่า แม้ในโลกอุดมคติ เราก็ไม่สามารถแก้ปัญหาวิกฤตสิ่งแวดล้อมทั้งสามเพียงแค่ด้วยการรีไซเคิลเพียงอย่างเดียวได้ การเปลี่ยนแปลงในระดับระบบที่เราต้องการ ต้องเริ่มตั้งแต่ฐานราก หมายความว่า เราต้องปลดล็อกศักยภาพของทรัพยากรในรูปของสิ่งปลูกสร้างและโครงสร้างพื้นฐาน การจัดการชีวมวลอย่างยั่งยืน และไม่ทิ้งวัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ตั้งแต่ครั้งแรกที่ใช้งาน การเปลี่ยนแปลงนี้ต้องเริ่มจากตัวเราเอง ทุกคนต้องเลือกใหม่ ต้องกล้าหาญ และลงทุนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนในห่วงโซ่คุณค่า”

รายงานเรียกร้องให้มีการกำหนดเป้าหมายเศรษฐกิจหมุนเวียนระดับโลกร่วมกัน เน้นการลดการใช้ทรัพยากรและพลังงาน ควบคู่ไปกับการเพิ่มอัตรารีไซเคิล ซึ่งสามารถทำได้ผ่านการส่งเสริมการออกแบบเชิงหมุนเวียน การยืดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ และการทำให้การใช้วัสดุรีไซเคิลกลายเป็นมาตรฐานในภาคธุรกิจทั่วโลก

รายงานชี้ว่ารัฐบาลเข้ามามีส่วนร่วมด้วยการกำหนดเงื่อนไขที่เอื้อต่การเปลี่ยนผ่านสูเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งทำได้โดยการกำหนดวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ยืดอายุการใช้งานผลิตภัณฑ์ และทำให้การใช้วัสดุรีไซเคิลกลายเป็นมาตรฐานในภาคธุรกิจทั่วโลก

เราสามารถสับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ผ่านแนวทางต่างๆ ดังนี้

 Recycle – การรีไซเคิล
การนำผลิตภัณฑ์ ชิ้นส่วน หรือวัสดุที่หมดอายุการใช้งานแล้ว กลับมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ ชิ้นส่วน หรือวัสดุใหม่

Reuse – การนำกลับมาใช้ซ้ำ
การใช้ผลิตภัณฑ์ ชิ้นส่วน หรือวัสดุเดิมอีกครั้ง โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนการผลิตใหม่หรือกระบวนการปรับสภาพก่อน

Reclamation – การรวบรวมเพื่อนำกลับมาใช้
การเก็บรวบรวมผลิตภัณฑ์ ชิ้นส่วน หรือวัสดุที่เคยใช้งาน เพื่อเตรียมไว้สำหรับการใช้ซ้ำหรือการรีไซเคิล

Recondition – การฟื้นฟูสภาพ
การซ่อมแซมหรือสร้างชิ้นส่วนใหม่ให้กับผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการใช้งาน เพื่อให้กลับมาอยู่ในสภาพที่ยอมรับได้

Recovery – การใช้ประโยชน์จากของที่ใช้แล้ว
การทำให้แน่ใจว่าวัสดุหรือผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการใช้งานแล้ว ถูกนำมาใช้ต่ออย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ผ่านการเตรียมใช้ซ้ำ รีไซเคิล หรือวิธีนำกลับมาใช้ประโยชน์อื่น ๆ

Refurbish – การตกแต่งปรับปรุงใหม่
การปรับปรุงรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์หรือวัสดุให้ดูดีขึ้น เพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ต่อได้

Remanufacture – การผลิตซ้ำแบบเทียบเท่าของใหม่
การนำผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการใช้งานแล้วมาฟื้นฟูให้กลับมามีประสิทธิภาพอย่างน้อยเทียบเท่าผลิตภัณฑ์ใหม่ พร้อมการรับประกันคุณภาพในระดับเดียวกันหรือดีกว่าเดิม

Repair – การแก้ไขซ่อมแซม
การทำให้ผลิตภัณฑ์หรือชิ้นส่วนที่มีปัญหาหรือเสียหาย กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง

Repurpose – การนำไปใช้ในวัตถุประสงค์ใหม่
การนำผลิตภัณฑ์หรือวัสดุไปใช้ในบทบาทหรือการใช้งานที่ไม่ใช่สิ่งที่ออกแบบมาแต่แรก

Upcycle – การเพิ่มมูลค่าผ่านการแปรรูป
การนำวัสดุเหลือใช้หรือวัสดุรองมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพหรือมูลค่าสูงกว่าของเดิม

Upgradable – การออกแบบให้สามารถพัฒนาได้
คุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ที่สามารถเปลี่ยนหรืออัปเกรดชิ้นส่วนบางส่วนได้ โดยไม่ต้องเปลี่ยนทั้งตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ทั้งหมด

Circle Economy เป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนตั้งแต่ปี 2011 รายงานว่า Circularity Gap Report คือมาตรฐานในการวัดความก้าวหน้า และ Circle Economy ยังดูแลฐานข้อมูลเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งครอบคลุมข้อมูลจากกว่า 90 ประเทศ 350 เมือง และ 1,000 ธุรกิจ


แชร์
วิจัยชี้ โลกรีไซเคิลไม่ทัน เพราะขยะล้น-ปริมาณการบริโภควัสดุพุ่งสูง