Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
อียิปต์จะขาดน้ำ วิจัยชี้ภายใน 2100 ชาวอียิปต์ 33 ล้านคนต้องทนภัยแล้ง
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

อียิปต์จะขาดน้ำ วิจัยชี้ภายใน 2100 ชาวอียิปต์ 33 ล้านคนต้องทนภัยแล้ง

16 พ.ค. 68
17:21 น.
แชร์

ประเทศที่มีวัฒนธรรมผูกพันกับน้ำอย่างลึกซึ้งไม่แพ้ชาติใดในโลกอย่างอียิปต์ อาจต้องเผชิญกับจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ เมื่อดัชนีมาตรฐานฝนและการระเหยน้ำชี้ว่า ภายในปี 2100 อียิปต์จะเผชิญกับภัยแล้งบ่อยครั้งและรุนแรงยิ่งขึ้น แม้จะอยู่ภายใต้สถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำ ชาวอียิปต์อย่างน้อยหลายล้านคนก็ยังคงต้องประสบกับภัยแล้งอยู่ดี

งานวิจัยเตือน: ภัยแล้งรุนแรง แม้ในสถานการณ์ปล่อยก๊าซต่ำ

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Development ภายใต้หัวข้อ “Millions more Egyptians will be exposed to drought by 2100 under low-emission scenarios” วิเคราะห์ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อความเสี่ยงภัยแล้งในอียิปต์ภายในปี 2100 แม้ในสถานการณ์ที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง คนอียิปต์ราว 33 ล้านคนก็ยังต้องเผชิญกับภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง

ภัยแล้งและปัญหาการขาดแคลนน้ำเป็นปัญหาที่อียิปต์เริ่มเผชิญอย่างชัดเจนตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 20 แต่สถานการณ์เริ่มรุนแรงขึ้นนับตั้งแต่ทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา โดยเฉพาะเมื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้แม่น้ำไนล์ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำหลักของประเทศ มีปริมาณน้ำลดลงเรื่อย ๆ

ภาวะโลกร้อนทำให้อากาศที่แห้งแล้งในอียิปต์รุนแรงมากขึ้น อุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลให้การระเหยของน้ำเกิดขึ้นมากและเร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังอาจทำให้กระแสน้ำเกิดความแปรปรวน บางช่วงอาจมีน้ำท่วมหนัก ขณะที่บางช่วงกลับเจอภัยแล้งรุนแรง

ผลกระทบต่อภูมิประเทศและทรัพยากรน้ำ

ตลอดศตวรรษที่ 21 แนวชายฝั่งของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์กำลังถอยร่นไปประมาณ 60 ฟุตต่อปี และมีการคาดการณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของปริมาณการไหลของแม่น้ำไนล์เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 ซึ่งหมายถึงโอกาสเกิดน้ำท่วมหรือภัยแล้งที่เพิ่มขึ้นถึงสองเท่า

ในขณะที่ประเทศมีความต้องการใช้น้ำต่อปีมากกว่า 80,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ทว่าแหล่งทรัพยากรน้ำที่มีอยู่กลับมีเพียงประมาณ 56,000 ล้านลูกบาศก์เมตร นำไปสู่ช่องว่างของทรัพยากรน้ำมากถึง 20,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

น้ำฝน: แหล่งน้ำสำรองที่สำคัญ

แม้แม่น้ำไนล์จะเป็นแหล่งน้ำหลักของประเทศ แต่อียิปต์ก็ยังพึ่งพาน้ำฝนด้วยเช่นกัน โดยมีปริมาณน้ำฝนราว 1,300 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งถูกใช้ในภาคเกษตรประมาณ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร การเก็บกักน้ำฝนจึงมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต ทั้งการบริโภค การเลี้ยงสัตว์ และการเกษตร โดยเฉพาะสำหรับชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งทางเหนือของอียิปต์ หากช่วงเวลาและปริมาณน้ำฝนเปลี่ยนแปลง ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้คนที่ต้องพึ่งพาน้ำฝนในการดำรงชีพ

ภาวะโลกร้อนอาจทำให้ช่วงเวลาการเกิดฝนและการกระจายตัวของฝนเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดช่วงเวลาแห้งแล้งที่ยาวนานขึ้น สลับกับเหตุการณ์ฝนตกหนักที่ไม่เกิดขึ้นบ่อย และมีแนวโน้มว่าปริมาณฝนโดยรวมจะลดลง ส่งผลให้ภัยแล้งเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงยิ่งขึ้น

การเสื่อมสภาพของแม่น้ำ และปริมาณน้ำฝนที่เปลี่ยนแปลงไป หมายถึงภัยคุกคามต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในหลายด้าน ทั้งเกษตรกรรม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม

ผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร

ด้านความมั่นคงทางอาหาร ร้อยละ 86 ของน้ำจากแม่น้ำไนล์ถูกนำไปใช้เพื่อการเกษตร รัฐบาลอียิปต์จึงตัดสินใจลดการผลิตพืชผลที่ใช้น้ำมาก แม้ว่าบางชนิดจะมีความจำเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น พื้นที่เพาะปลูกข้าวทั้งหมดลดลงถึงร้อยละ 31 ในเดือนมกราคม ปี 2018

แต่แนวทางดังกล่าวกลับมีต้นทุนทางเศรษฐกิจ เกษตรกรจำนวนมากต้องตกงาน อัตราการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมของอียิปต์ลดลงจากร้อยละ 44 เหลือเพียงร้อยละ 27 ระหว่างปี 1991 ถึง 2019 ไม่เพียงแต่กระทบต่อความเป็นอยู่ของครอบครัวแต่ละราย แต่ยังสร้างความเสียหายต่อภาคเศรษฐกิจการเกษตรของประเทศ ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 28,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

โครงการเขื่อนของเอธิโอเปีย: ความเสี่ยงใหม่ของอียิปต์

อย่างไรก็ตาม ปัญหามิได้จำกัดอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่านั้น อีกหนึ่งความกังวลใหญ่คือโครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนแกรนด์เอธิโอเปียนเรเนซองส์ (Grand Ethiopian Renaissance Dam หรือ GERD) บนแม่น้ำไนล์ตอนบนในเอธิโอเปีย ซึ่งเริ่มก่อสร้างในปี 2011 ทำให้อียิปต์วิตกว่าปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าสู่ประเทศจะลดลงอย่างมาก

การสร้างเขื่อนแกรนด์เอธิโอเปียนเรเนซองส์สะท้อนการเปลี่ยนดุลอำนาจของเอธิโอเปีย ซึ่งแม้จะเป็นประเทศต้นกำเนิดของแม่น้ำไนล์ แต่เดิมกลับไม่สามารถใช้น้ำหล่อเลี้ยงตนเองได้มากนัก การสร้างเขื่อนนี้จึงอาจทำให้เอธิโอเปียมีอำนาจต่อรองมากขึ้นเหนือแม่น้ำสายนี้ โดยเขื่อนแห่งนี้ถูกสร้างบนพื้นที่ทางตะวันออกติดกับชายแดนซูดาน เพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า และเริ่มเปิดใช้งานบางส่วนในปี 2022

อียิปต์ ซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไปถึง 1,600 ไมล์ตามแนวแม่น้ำ และพึ่งพาแม่น้ำไนล์ถึงร้อยละ 97 ของน้ำที่ใช้เพื่อการชลประทานและการบริโภค เชื่อว่าการเดินเครื่องเขื่อนดังกล่าวจะทำให้ปริมาณน้ำจืดที่ไหลเข้าสู่ประเทศลดลงอย่างมีนัยสำคัญ รัฐบาลอียิปต์จึงพยายามรักษาความมั่นคงทางน้ำของประเทศผ่านหลากหลายวิธีการ โดยเฉพาะการดำเนินการทางการทูต เพื่อโน้มน้าวให้ประเทศต่าง ๆ ลดการสนับสนุนโครงการเขื่อนในภูมิภาค

อ้างอิง: Carnegie, Jurist, UNICEF

แชร์
อียิปต์จะขาดน้ำ วิจัยชี้ภายใน 2100 ชาวอียิปต์ 33 ล้านคนต้องทนภัยแล้ง