Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทย และ ใกล้บ้าน ทำใจได้หรือไม่? เป็นไปได้แค่ไหน?
โดย : มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทย และ ใกล้บ้าน ทำใจได้หรือไม่? เป็นไปได้แค่ไหน?

17 พ.ย. 67
01:01 น.
|
241
แชร์

วันนี้ใครๆก็พูดเรื่องการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเพื่อพาโลกขยับไปอีกก้าวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนกันทั้งนั้น

ถ้าเงินทุนเป็นเลือดที่หล่อเลี้ยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจแล้ว ในอีกมุมหนึ่งพลังงานไฟฟ้าก็นับเป็นโครงข่ายของเส้นเลือดจำนวนมากที่กระจายไปตามจุดต่างๆของร่างกาย ตรงไหนขาดหรือหายไป ก็ทำงานได้ไม่ปกติหรือเป็นอันตรายได้

การใช้พลังงานทดแทนหรือ  Renewable Energy ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มกลายเป็นกฏหรือหลักปฏิบัติของบางอุตสาหกรรมไปแล้วว่าคู่ค้าที่อยากทำมาหากินด้วยต้องผลิตสินค้าจากพลังงานทดแทนเท่านั้นหรือใช้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะตอนนี้ใครก็ตื่นตัวกับการลดคาร์บอนลงในทุกจุดของห่วงโซ่อุปทาน

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จึงเป็นตัวเลือกที่ถูกพูดถึงมากขึ้นในยุคนี้ โดยชูจุดขายเรื่องพลังงานสะอาด ต้นทุนพลังงานต่ำกว่าการใช้ทรัพยากรผลิตไฟฟ้าแบบดั้งเดิม แต่เมื่อพูดเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เราอาจยังจำภาพติดตาของโศกนาฏกรรมที่ฟูกูชิมะ ประเทศญี่ปุ่นหรือเชอร์โนบิล ประเทศยูเครน และจดจำว่าเป็นเทคโนโลยีที่อันตราย จึงได้เกิดโมเดลของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดจิ๋ว (Small Modular Reactor-SMR) ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่าจะเป็นตัวเปลี่ยนเกมที่สำคัญและทำให้พลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายเนื่องจากมีขนาดเล็ก ขนย้ายและติดตั้งในพื้นที่ต่างๆได้ง่าย

SMR เป็นเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบโมดูลาร์ขนาดเล็กแต่ให้กำลังการผลิตไฟฟ้าสูงถึง 300 เมกะวัตต์ สร้างพลังงานความร้อนไปขับเคลื่อนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเสริมไปกับแหล่งพลังงานหมุนเวียนอื่นอย่างลมและแสงอาทิตย์ โดยผู้สนับสนุน SMR อ้างว่าเป็นเทคโนโลยีที่ปลอดภั ลดความเสี่ยงจากความร้อนที่สูงเกินและการหลอมละลายของแกนกลาง สามารถเริ่มใช้งานได้จากหน่วยขนาดเล็กและเพิ่มปริมาณการใช้งานได้ตามต้องการ

ที่สำคัญคือ SMR สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอด  24 ชั่วโมง ทำงานต่อเนื่อง ครบกำหนดเปลี่ยนเชื้อเพลิงทุก 24 เดือน โดยโรงงานสามารถใช้งานได้ถึง 60 ปี ซึ่งถือว่ายาวนาน แม้เงินลงทุนจะสูงกว่าโรงไฟฟ้าปกติ 2-3 เท่าตัว แต่เมื่อคำนวณออกมาเป็นต้นทุนทั้งหมดแล้วถูกกว่าโรงไฟฟ้าที่ใช้กันอยู่พอสมควร คาดการณ์กันว่าจะลดราคาค่าไฟได้ถึงครึ่งหนึ่ง นั่นคือ จาก 4 บาทต่อหน่วยในปัจจุบันลดลงจนเหลือ 2 บาทได้

ตอนนี้ทั่วโลกเริ่มมีแนวคิดการใช้งาน SMR ในวงกว้างกันแล้ว ทั้งสหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น แคนาดา เกาหลีใต้ ซาอุดิอาระเบียหรือกระทั่งอินโดนีเซีย ก็ออกแบบและพัฒนาโรงไฟฟ้า SMR มากถึงเกือบร้อยรูปแบบแล้ว

ล่าสุด ทางคณะกรรมกาารกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมจะลงนามบันทึกความเข้าใจกับทางสำนักปรมาณูเพื่อสันติโดยมีทั้งกระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าผ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และหน่วยงานอื่นๆเข้าร่วมวางกรอบดำเนินงาน ศึกษาความไปได้ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย

ถ้าพิจารณาจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศหรือ PDP2024 ได้ระบุเรื่อโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เอาไว้ด้วย กำหนดได้มีพลังงานนิวเคลียร์ 1% ของพลังงานสะอาด 51% ซึ่งเป็นหมุดหมายที่ชัดเจนว่าประเทศไทยจะผลักดันเรื่องนี้กับเขาด้วย

ที่มา:การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

สิ่งที่เป็นความท้าทายคือ แม้ปัจจุบันยังไม่มีกฏหมายมากำกับดูแลอย่างชัดเจน แต่ประเทศไทยยังต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานนิวเคลียร์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอีกมาก สิ่งที่สำคัญมากที่สุดคือการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนและชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงกับจุดที่ SMR ตั้งอยู่

และยังมีความเห็นจากกลุ่มผู้ตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้ว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องใช้พลังงานนิวเคลียร์หรือไม่ เนื่องจากประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เหลือเฟืออยู่แล้ว ปัจจัยเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานจากแหล่งพลังงานใหม่ๆอาจจะยังไม่จำเป็นนัก ดูเหมือนว่าเหตุผลด้านความยั่งยืนและการปรับกระบวนการของกิจกรรมทางเศรษฐกิจสู่พลังงานสะอาดจะมีน้ำหนักมากกว่าโดยมีข้อบังคับด้านการค้าระหว่างประเทศเป็นตัวเร่ง

แรงส่งที่สำคัญคือ รัฐบาลสหรัฐตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์เป็นสามเท่าภายในปี 2050 ซึ่งธุรกิจที่ทำ SMR จะได้ประโยชน์เต็มๆ จึงไม่แปลกที่หุ้นของ NuScale Power จะดีดเด้งกลับมาหลังจากหลักการและข้อกฏหมายถูกปลดล็อก ซึ่งถ้า SMR ถูกผลิตและใช้ในวงกว้างจนสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับผู้ใช้พลังงานทั่วโลกได้แล้ว วันนั้นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดจิ๋วก็อาจเกิขึ้นที่ประเทศเร็วกว่าที่คาด

ระหว่างนี้ สิ่งที่ต้องทำการศึกษาอย่างลึกซึ้งและนำเสนอข้อมูลที่เป็นธรรมกับประชาชน เพราะถ้ามี SMR ตั้งไม่ไกลจากหมู่บ้านที่เราอยู่ ทำอย่างไรเราจึงจะนอนหลับได้อย่างสบายใจกันจริงๆ

มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

นักข่าวเศรษฐกิจและผู้ก่อตั้งเพจ BizKlass

แชร์
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทย และ ใกล้บ้าน ทำใจได้หรือไม่? เป็นไปได้แค่ไหน?