ถ้าพูดถึงสินทรัพย์ทางการเงิน หลายคนมักจะนึกถึงประกันเป็นอันดับแรก เนื่องจากเป็นเครื่องมือทางการเงินที่มีความสำคัญในแง่ของการป้องกันความเสี่ยง และยังมีรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่เข้าใจง่าย
เมื่อมองภาพรวมร่วมกับเรื่องของสิทธิ์ประโยชน์อย่างการลดหย่อนภาษี ยิ่งทำให้หลายคนตัดสินใจซื้อประกันได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และ ประกันบำนาญ
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อได้รู้จักสินทรัพย์ทางการเงินมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการที่มีตัวเลือกในการลงทุนหรือบริหารจัดการมากขึ้น หรือในทางกลับกัน การมีภาระชีวิตต่างๆที่มากขึ้น ก็ทำให้บางคนต้องกลับมาตั้งคำถามว่า เบี้ยประกันที่ต้องจ่ายในแต่ละปีที่เคยจ่ายอยู่นั้น เรายังสามารถจ่ายได้ไหวไหม ?
บทความนี้เลยจะมาชวนคุยในมุมของการจัดการการเงิน สำหรับคนที่เริ่มจ่ายเบี้ยประกันไม่ไหวว่าควรทำยังไงดี? โดยที่การเงินของเรายังไปต่อได้แบบไม่สะดุด และไม่ผิดเงื่อนไขในการลดหย่อนภาษี ลองมาดูกันไปแต่ละขั้นตอนเลยครับ
อันดับแรก ผมแนะนำให้ลองเช็ค ค่าเบี้ยประกันที่เหมาะสมต่อปี สำหรับตัวเองก่อนว่า ควรเป็นเท่าไร ซึ่งโดยปกติแล้ว นักวางแผนการเงินมักแนะนำให้เราจ่ายค่าเบี้ยประกันไม่เกิน 10-15% ของรายได้ต่อปี เพื่อไม่ให้เกิดภาระในการจัดการเงินที่หนักเกินไป
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรามีรายได้ต่อปี 600,000 บาท จำนวนค่าเบี้ยประกันที่เหมาะสมควรอยู่ที่ประมาณ 60,000 - 90,000 บาทต่อปี หรือประมาณ 5,000 - 7,500 บาทต่อเดือน แต่ถ้าหากมีภาระหนี้สิน เช่น ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ การคำนวณค่าเบี้ยประกันก็ควรระวังไม่ให้กระทบกับค่าใช้จ่ายประจำเดือนที่จำเป็นด้วยเช่นกัน ซึ่งตรงนี้อาจจะดูความเหมาะสมเพิ่มเติมในการจัดการสภาพคล่องเป็นแต่ละกรณีไป
นอกจากค่าเบี้ยประกันที่จ่ายไปว่าเหมาะสมหรือไม่แล้ว สิ่งที่ควรสนใจคือ ทุนประกัน (สินไหมทดแทนที่ผู้รับผลประโยชน์จะได้รับ กรณีผู้เอาประกันเสียชีวิต หรือความคุ้มครองอื่นๆตามที่ตกลงไว้ในกรมธรรม์) ว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสม สอดคล้องกับค่าเบี้ยประกันที่จ่ายไป และความพอใจของผู้ทำประกันอย่างเราหรือเปล่า
ถ้าปรับส่วนนี้ก่อนได้ หรือ เข้าใจหลักการที่ว่ามานี้ก่อนตัดสินก็เป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ เลยครับ แต่ถ้าหากเราเช็คทุกอย่างเรียบร้อยอย่างที่ว่ามา แล้วรู้สึกว่าเริ่มจะจ่ายเบี้ยประกันไม่ไหวจริงๆ ผมแนะนำว่าอาจจะต้องลองดูทางเลือกต่าง ๆ ตามนี้ครับ …
วิธีการแก้ปัญหาเมื่อจ่ายเบี้ยประกันไม่ไหว
ถ้าพิจารณาว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (จ่ายเบี้ยประกันไม่ไหว) นั้นเป็นเรื่องชั่วคราว ช็อตเงินชั่วครู่ ตึงมือไปหน่อย เกือบจะหนักแต่ก็กลับมาได้แน่ ๆ เราอาจจะเริ่มต้นจากการขอ ชำระเบี้ยประกันได้ในช่วงที่ประกันผ่อนผันให้ ซึ่งปกติอยู่ที่ประมาณ 31 วันนับจากวันที่ครบกำหนดกรมธรรม์ หากพอจะหมุนเวียนจัดสรรทัน และยังต้องการทุนประกันเท่าเดิม ก็ใช้วิธีการนี้ได้ครับ
หรือถ้าคิดว่าอยากยืดเวลาการจ่ายออกไปสักระยะ รวมถึงแบ่งเงินจ่ายเป็นงวดๆพอไหว อาจจะใช้วิธีการเปลี่ยนจากการจ่ายรายปีมาเป็นจ่ายแบบอื่น เช่น รายเดือน ราย 3 เดือน หรือราย 6 เดือน (แล้วแต่กรณี) ซึ่งวิธีนี้ต้องบอกว่าค่าเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายจะสูงกว่าการชำระเป็นรายปี แต่ก็ช่วยให้การจัดการเงินของเราง่ายขึ้น โดยที่ยังได้รับทุนประกันเท่าเดิมอยู่ พร้อมเมื่อไรค่อยเปลี่ยนกลับมาจ่ายเป็นรายปีเหมือนกัน แบบนี้ก็ได้เหมือนกัน
อีกทางเลือกหนึ่ง คือ กู้กรมธรรม์ประกันชีวิต เพื่อใช้มูลค่าเวนคืนในกรมธรรม์นั้น ๆ มาช่วยในการจ่ายเบี้ยประกันได้ เพียงแต่อาจจะต้องมีดอกเบี้ยทบต้นตามอัตราดอกเบี้ยที่ระบุในกรมธรรม์ ซึ่งต้องระวังว่าถ้าหลังจากนั้นเรายังไม่สามารถชำระค่าเบี้ยประกันได้สักที ก็จะหมดสิทธิ์ในประกันส่วนนี้ไปเลย
ขอย้ำอีกทีว่า 3 วิธีแรกที่ว่านี้เหมาะกับการจัดการปัญหาการเงินในระยะสั้น ๆ ที่คิดว่าบริหารจัดการไหว แต่ถ้าหากมองว่าสถานการณ์การเงินหนักกว่านั้น แนะนำพิจารณาตามนี้เพิ่มเติมครับ
ถ้าต้องการลดจำนวนเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายลง อาจจะเลือกติดต่อแก้ไขกรมธรรม์ ขอลดทุนประกันชีวิต เพราะเมื่อความต้องการทุนประกันลดลง ย่อมทำให้การจ่ายเบี้ยประกันลดลงตามไปด้วย หรือพิจารณาทางเลือกอื่น เช่น การเปลี่ยนแบบประกัน ไปจนถึงยกเลิกสัญญาแนบท้าย ซึ่งวิธีทั้งหมดนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการคงความคุ้มครองไว้ (ในระดับหนึ่ง) ยังมีการจ่ายเบี้ยประกันได้อยู่ แต่ต้องการลดภาระค่าเบี้ยที่จ่ายลง
แต่ถ้าหากสถานการณ์การเงินหนักกว่านั้น จนมองว่าจ่ายเบี้ยประกันในแต่ละปีไม่ไหวจริง ๆ การขอเปลี่ยนแปลงกรมธรรม์ในอีกรูปแบบน่าจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมกว่า ซึ่งมีทางเลือก 2 ทางนั่นคือ
- ใช้เงินสำเร็จ แปลว่า เราจะยังได้รับความคุ้มครองตามระยะเวลาเดิม แต่จำนวนทุนประกันจะได้รับลดลง หรือพูดง่าย ๆว่าระยะเวลายังเท่าเดิม แต่ความคุ้มครองที่ได้รับลดลงนั่นเอง
- ขยายระยะเวลา แปลว่า เราจะได้รับความคุ้มครองชีวิตในทุนประกันเดิม แต่ระยะเวลาคุ้มครองจะสั้นลง
ซึ่งทั้งสองทางเลือกนี้ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการชำระเบี้ยประกัน เงื่อนไขในแต่ละกรมธรรม์และประเภทแบบประกันด้วยนะครับ อย่างไรอย่าลืมติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากตัวแทนและบริษัทประกันก่อนตัดสินใจ
มาถึงตรงนี้แล้ว ผมยังเหลือคำเตือนอีกเรื่องหนึ่ง คือ สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษี โดยเฉพาะในกรณีของการทำประกันชีวิต สิ่งที่ต้องพิจารณาหลังจากมีการเปลี่ยนแปลง คือ ประกันชีวิตที่ยังเป็นไปตามเงื่อนไขการลดหย่อนภาษี ถึงจะไม่มีปัญหาย้อนหลัง โดยประกันชีวิตที่สามารถลดหย่อนภาษีได้นั้นจำเป็นต้องมีความคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป ดังนั้นไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงแบบใด ต้องระวังในจุดนี้ด้วยครับ เพราะอาจจะมีผลทำให้ผิดเงื่อนไขในการลดหย่อนภาษีที่ใช้สิทธิ์ก่อนหน้านี้ไปได้ครับ
สำหรับคนที่ไม่ได้สนใจเรื่องของสิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีต่อจากนี้ การขอเวนคืนกรมธรรม์ อาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ควรพิจารณา โดยเราสามารถขอเวนคืนเงินมูลค่าเงินสดตามที่กรมธรรม์ระบุไว้ได้ แต่เราจะไม่ได้รับความคุ้มครองใดๆ อีกหลังจากยกเลิกกรมธรรม์ รวมถึงอาจจะต้องยื่นแบบเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขข้อมูลที่ใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีไปก่อนหน้านี้ หากทำผิดเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดอย่างที่ว่ามา
สุดท้ายนี้ ผมอยากแนะนำว่าในการทำประกันประเภทต่าง ๆ ควรพิจารณาความสามารถในการจ่ายเบี้ยประกัน แบบประกัน และทุนประกันที่ไม่เกินกำลังจนกระทบต่อการเงินของเรา เพื่อให้บริหารจัดการการเงินได้อย่างเหมาะสมครับ