การเงิน

ยื่นภาษีอย่างไร ให้ได้เงินคืน

8 มี.ค. 67
ยื่นภาษีอย่างไร ให้ได้เงินคืน

ทุกช่วงต้นปี ย่อมถึงฤดูกาลยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยปีนี้สามารถยื่นภาษีทางอินเทอร์เน็ตได้จนถึงวันอังคารที่ 9 เม.ย. 67 อย่างไรก็ตามคนที่มีรายได้เท่ากัน แต่หากยื่นภาษีด้วยวิธีหรือรูปแบบที่ต่างกัน จะส่งผลให้จำนวนภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มนั้นต่างกัน หรืออาจถึงขั้นขอคืนภาษีได้

1.ขอคืนภาษีจากดอกเบี้ยหรือเงินปันผล

  • สำหรับคนเงินเดือนไม่เกิน 96,000-180,000 บาท หรือฐานภาษีไม่เกิน 25% เมื่อได้รับเงินปันผลจากหุ้นสามัญที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์
    -หากเป็นเงินปันผลจากหุ้นสามัญของบริษัทที่เสียภาษีนิติบุคคลที่อัตรา 20% (ตรวจสอบข้อมูลได้จากเอกสารของ TSD) สามารถนำเงินปันผลที่ได้รับ ไปยื่นภาษีรวมกับเงินเดือนและรายได้อื่น เพื่อขอคืนภาษีที่ถูกหักไปบางส่วนหรือทั้งหมดได้
    ตัวอย่างเช่น ได้รับเงินปันผลจากหุ้น ปีละ 100,000 บาท ซึ่งนอกจากถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไป 10% หรือ 10,000 บาทแล้ว ยังเป็นเงินได้ที่ถูกหักภาษีนิติบุคคล 25,000 บาทด้วย (เครดิตภาษีเงินปันผล) รวมแล้วอาจขอคืนภาษีได้ 3,750 - 35,000 บาท

screenshot2567-03-08at23.

  • สำหรับคนเงินเดือนไม่เกิน 40,000-50,000 บาท หรือฐานภาษีไม่เกิน 10%
    -หากได้รับเงินปันผลจากหุ้นสามัญ ปีละ 100,000 บาท อาจขอคืนภาษีได้ 22,500 - 35,000 บาท
    -หากได้รับดอกเบี้ยจาก เงินฝาก / พันธบัตร / หุ้นกู้ รวมปีละ 100,000 บาท ซึ่งถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไป 15% หรือ 15,000 บาท อาจขอคืนภาษีได้ 5,000 - 15,000 บาท
  • สำหรับคนเงินเดือนไม่เกิน 26,000-38,000 บาท หรือฐานภาษีไม่เกิน 5%
    -หากได้รับเงินปันผลจากหุ้นสามัญ ปีละ 100,000 บาท อาจขอคืนภาษีได้ 28,750 - 35,000 บาท
    -หากได้รับดอกเบี้ยจาก เงินฝาก / พันธบัตร / หุ้นกู้ รวมปีละ 100,000 อาจขอคืนภาษีได้ 10,000 - 15,000 บาท
    -หากได้รับเงินปันผลจากกองทุนรวม เช่น กองทุนหุ้น กองทุนผสม กองทุน SSF/TESG ฯลฯ รวมปีละ 100,000 บาท ซึ่งถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไป 10% หรือ 10,000 บาท อาจขอคืนภาษีได้ 5,000 - 10,000 บาท

2.นำดอกเบี้ยหรือเงินปันผล ยื่นในนามคู่สมรส

สำหรับคู่สามีภรรยา ที่มีการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย หากมีรายได้กันทั้ง 2 ฝ่าย และมีรายได้อื่นนอกเหนือจากเงินเดือนที่เป็นเงินได้ 40(1) สามารถนำเงินได้อื่นที่เป็นเงินได้ 40(2) – 40(8) ไปยื่นภาษีในนามคู่สมรสได้  เช่น

40(2) รายได้จากค่านายหน้า ค่าวิทยากร ค่าเบี้ยประชุม ฯลฯ

  • 40(4) รายได้จากดอกเบี้ย เงินปันผล ฯลฯ
  • 40(5) รายได้จากการปล่อยเช่า บ้าน คอนโด ที่ดิน ฯลฯ
  • 40(6) รายได้จากวิชาชีพอิสระอย่าง แพทย์ พยาบาล ทนายความ นักบัญชี ฯลฯ
  • 40(8) รายได้จากการขายของออนไลน์ นักร้อง นักแสดง ฯลฯ

ดังนั้นหากสามีหรือภรรยาฝ่ายไหน ที่มีรายได้ 40(1) ซึ่งประกอบด้วย เงินเดือน โบนัส ค่าล่วงเวลา ฯลฯ สูงกว่ารายได้ของคู่สมรสอีกฝ่ายจำนวนมาก และยังมีรายได้อื่นอีก สามารถนำรายได้อื่นที่เป็นเงินได้ 40(2) – 40(8) ไปยื่นในนามคู่สมรสที่ฐานภาษีต่ำกว่า ก็สามารถช่วยให้ได้เงินภาษีคืนหรือจ่ายภาษีสิ้นปีน้อยลงได้

ตัวอย่างเช่น

  • สามี มีเงินเดือน 100,000 บาท หากยังไม่รวมรายได้อื่นจะเสียภาษีรวมทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 122,750 บาท* ฐานภาษีอยู่ที่ 25%
  • ภรรยาเงินเดือน 30,000 บาท (สมมติไม่มีรายได้อื่น หรือมีแต่น้อยมาก) ซึ่งเสียภาษีรวมทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 2,050 บาท* ฐานภาษีอยู่ที่ 5%
  • สมมติว่าสามีมีรายได้จากดอกเบี้ยเงินฝาก เงินฝาก / พันธบัตร / หุ้นกู้ รวมทั้งปี 100,000 บาท โดยถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว 15% หรือ 15,000 บาท หากนำรายได้จากดอกเบี้ยส่วนนี้ไปยื่นภาษีในนามภรรยาซึ่งฐานภาษีอยู่ที่ 5% จะสามารถขอคืนภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไป จากดอกเบี้ยได้ประมาณ 10,000 บาท เนื่องจากรายได้ส่วนนี้จะถูกคำนวณภาษีตามฐานภาษีของภรรยาที่ 5% หรือประมาณ 5,000 บาท
  • รูปแบบของการได้รับภาษีคืนขึ้นอยู่กับ “ภาษีรวมที่ถูกหักไประหว่างปี” ทั้งในส่วนของดอกเบี้ยและจากสลิปเงินเดือน เทียบกับ “ภาษีที่คำนวณได้ตอนยื่นภาษี” ช่วง 1 ม.ค. - 9 เม.ย. 67 ว่าส่วนไหนสูงกว่า หากส่วนที่ถูกหักไปสูงกว่าก็จะ (1) ได้คืนตามส่วนต่าง แต่หากส่วนที่คำนวณได้สูงกว่าก็จะ (2) จ่ายภาษีเพิ่มน้อยกว่ากรณีไม่นำเงินได้จากดอกเบี้ยมายื่นภาษี

สำหรับใครที่ปีนี้ยื่นภาษีไปก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะชำระภาษีเพิ่มไปแล้วหรือได้รับเงินคืนภาษีแล้วก็ตาม ก็สามารถยื่นแบบแก้ไขใหม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการยื่นทางอินเทอร์เน็ตหรือยื่นกับสรรพากรพื้นที่ก็ตาม เพื่อให้ได้รับภาษีคืนหรือจ่ายภาษีน้อยลง ส่วนการยื่นภาษีปีหน้าหากอยากได้ภาษีคืนมากขึ้นหรือจ่ายภาษีให้น้อยลงอีก การศึกษาและใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในทางเลือกการออมลงทุนอย่างกองทุน TESG/SSF/RMF และประกันชีวิต เพื่อลงทุนและใช้สิทธิระหว่างปีก็ช่วยให้ได้เงินคืนภาษีมากขึ้นได้

* คำนวณภาษีเบื้องต้น โดยคำนวณจากเงินได้ 40(1) ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท และเงินสมทบประกันสังคมปีละ 9,000 บาท เท่านั้น 

 

ราชันย์ ตันติจินดา

ราชันย์ ตันติจินดา

นักวางแผนการเงิน CFP

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT