การเงิน

เงินเก็บ 3 ล้าน หลังเกษียณเริ่มอยู่ยาก งานวิจัยชี้ คนไทยไม่พร้อมเกษียณ

14 ต.ค. 65
เงินเก็บ 3 ล้าน หลังเกษียณเริ่มอยู่ยาก งานวิจัยชี้ คนไทยไม่พร้อมเกษียณ
ไฮไลท์ Highlight
“การสำรวจการใช้จ่ายของคนสูงวัย พบว่า จำนวนเงินที่จะเพียงพอที่จะอยู่รอดได้หลังเกษียณคือ 3 ล้านบาทต่อคน และต้องทยอยนำเงินมาใช้จ่ายต่อเดือนในระดับ 6,000-7,000 บาท แต่ในสภาพปัจจุบันมีการใช้จ่ายกันที่ระดับ 10,000 บาทต่อเดือน หมายความว่ามีการใช้เงินมากกว่าที่มีอยู่”

พูดถึง “การเกษียณ” ตามความเข้าใจของคนทั่วไป คือการที่เราอยู่ในสถานะจากที่เคยทำงาน ก็หมดสถานภาพการจ้างงานเพราะเกษียณอายุ ในวัย 60 ปี หรือบางหน่วยงานอาจจะ 55ปี 

แต่ระยะหลังเราจะได้ยินแนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่อยากเกษียณได้เร็วกว่า  60 ปี แนวคิดนี้น่าจะหมายถึงความต้องการมีอิสระภาพทางการเงินให้เร็ว สามาถเลือกใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการได้ คนที่มีแนวคิดแบบนี้ก็อาจจะทำงานหนักในช่วงวัยรุ่น วัยหนุ่มสาว มีการวางแผนการเงินที่ดี ทั้งการออม และการลงทุนเพื่อให้สถานะทางการเงินมีความมั่นคง สามารถกำหนดรูปแบบชีวิตเองได้ เพราะมีสิ่งที่เรียกว่า อิสระภาพทางการเงิน แต่ก็ต้อมยอมรับว่า  คนไทยที่มีอิสระภาพทางการเงินยังมีเป็นส่วนน้อยมากๆในประเทศไทย

สภาพความเป็นจริงที่มีคือ “คนไทยส่วนใหญ่ไม่พร้อมเกษียณ” ไม่ต้องคิดถึงการเกษียณเร็ว แค่เกษียณตอนอายุ 60 ก็ยังไม่พร้อม! เพราะสถานะทางการเงินไม่พร้อม ถ้าไม่มีงานทำจะใช้ชีวิตอย่างไร? ทั้งค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ค่ารักษาพยาบาล ยังไม่นับรวมหลายคนที่เกษียณแล้วยังมีหนี้ติดตัวมาด้วย

บทความนี้อยากให้คนไทยตื่นตัวว่าอย่าละลเยกับการวางแผนชีวิตหลังเกษียณแม้ว่าวันนี้คุณจะยังอายุไม่ถึง 30 ปีก็ตามเตรียมตัวไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ปลอดภัยกว่า 


คนไทยไม่พร้อมเกษียณ ? มีเงินเท่าไหร่ จะพอเกษียณ ? 

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดทำ “ดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณ” (NRRI) National Retirement Readiness Index  พบว่า ตัวเลขความพร้อมด้านการเงินค่าเฉลี่ยของประเทศมีความพร้อมในการเกษียณต่ำกว่า 40% ความหมายตรงตัวคือ ไม่มีเงินออมพอในการใช้ชีวิตหลังเกษียณนั่นเอง

นางพรอนงค์ บุษราตระกูล หัวหน้าภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ตัวเลขความพร้อมด้านการเงินค่าเฉลี่ยของประเทศมีความพร้อมต่ำกว่า 40% ขณะที่ความพร้อมด้านสุขภาพมีความพร้อมในระดับที่สูงกว่ามิติด้านการเงิน ซึ่งการมีความพร้อมจากการมีความสุขด้านสุขภาพสูงกว่าความพร้อมจากความสุขด้านการเงิน ทำให้ต้องมีเงินเท่าใดถึงจะพอจึงเป็นอีกโจทย์หนึ่ง

“การสำรวจการใช้จ่ายของคนสูงวัย พบว่า จำนวนเงินที่จะเพียงพอที่จะอยู่รอดได้หลังเกษียณคือ 3 ล้านบาทต่อคน และต้องทยอยนำเงินมาใช้จ่ายต่อเดือนในระดับ 6,000-7,000 บาท แต่ในสภาพปัจจุบันมีการใช้จ่ายกันที่ระดับ 10,000 บาทต่อเดือน หมายความว่ามีการใช้เงินมากกว่าที่มีอยู่”

เงิน 3 ล้านไม่พอเกษียณ

ทีมงาน SPOTLIGHT  อยากชวนคิด หากเรามีเงิน 3 ล้านบาท ใช้เดือนละ  7,000 บาท เท่ากับเราใช้ปีละ 84,000 บาท เท่ากับ 3 นี้อยู่ได้ถึง 35 ปีถึงเงินหมด ฟังดูว่า 3 ล้านบาทก็เกษียณได้ แต่อย่าลืมว่า ชีวิตจริงเงิน  3 ล้านยังไม่ได้หักเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นทุกปี เงิน 7,000 บาทต่อเดือนของเราอาจจะพอในวันนี้ แต่อย่าลืมว่า มันอาจจะซื้อของเท่าเดิมในอีก 30 ปีข้างหน้าไม่ได้แล้ว นี่ยังไม่รับรวมค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่นๆที่จะเกิดขึ้นหลังเกษียณ โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาล ที่เป็นค่าใช้จ่ายมหาศาล ใครว่าแก่แล้วใช้เงินน้อยลงคงจะไม่จริงเสมอไป 

ดังนั้น ทีมงาน SPOTLIGHT อาจจะบอกได้ว่า 3 ล้านแทบจะไม่พอในการเกษียณแล้วคุณจึงควรมีมากกว่านี้เพื่อความคุณภาพชีวิตหลังเกษียณที่ไม่แย่ลงจากเดิม การวางแผนการเงินจึงสำคัญมาก ยิ่งหากวันนี้อายุยังน้อยการเก็บออมเพื่อการเกษียณจึงจำเป็น ส่วนคนที่อายุใกล้เกษียณอย่าหมดกำลังใจ เริ่มวางแผนการเงิน รายรับ รายจ่าย การอม และการลงทุนตั้งแต่วันนี้ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย


คนไทยต้องตระหนักเห็นความสำคัญของการออม  

อาจารย์พรอนงค์ ย้ำว่า ผู้ที่มีส่วนด้านการออมที่สำคัญที่สุด อันดับแรกคือ ประชาชนทุกคนต้องมีความตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของการออม รองลงมาคือภาครัฐต้องมีบทบาทในการสนับสนุนทักษะทางการเงินของประชาชน ต้องมีนโยบายส่งเสริมให้คนมีทักษะและความรู้ทางการเงิน เพื่อให้ประชาชนตระหนักรู้ว่าต้องออม และจะนำไปสู่ความรู้ว่าจะออมอย่างไร ทำอย่างไรไม่ให้ถูกหลอกทางการเงิน รวมทั้งส่งเสริมให้มีเครื่องมือการลงทุน ระบบการออมภาคบังคับ รวมถึงฝั่งนายจ้าง ที่ควรมองว่าการดูแลพนักงานไม่ใช่ดูแลเฉพาะเวลาที่ทำงานกับองค์กร แต่มองไปถึงว่าหลังเลิกทำงานกับนายจ้างแล้วควรมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย

 “แรงงานในระบบสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีให้สูงสุด 15% ไม่เกิน 500,000 บาท จึงอยากให้ทุกคนออมผ่านรูปแบบใดก็ได้ ในสัดส่วน 15% ของรายได้ ซึ่งหากออมต่ำกว่า 10% ต่อไปชีวิตลำบากแน่ ทำให้ขั้นต่ำต้อง 15% หากใครทำได้ระดับ 30% เรียกว่าดี อยู่ได้ แต่หากสูงกว่า 30% ถือว่าดี” 

“การออมต่ำกว่า 10% อนาคตต้องพึ่งพาการถูกลอตเตอรี่ ได้มรดก หรือมีลูกหลานเลี้ยงดู ถือเป็นปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ สิ่งที่เราควบคุมได้คือการออมจากประโยชน์ที่ได้จากทางภาษี และหากใครมีการออมเกิน 15% อยู่แล้วให้ใส่ความรู้ด้านการลงทุนเข้าไปด้วย” นางพรอนงค์ กล่าว

ส่วนแรงงานนอกระบบ อาจารย์พรอนงค์ ย้ำว่าต้องมีวินัยด้านการออม หากระบบที่มีอยู่ยังไม่เอื้อจะต้องขวนขวายด้วยตัวเอง อาทิ การเข้าสู่ระบบประกันสังคมมาตรา 40 รวมถึงเข้าสู่การออมในกองทุน โดยขอให้ปรับพฤติกรรมใหม่ คือ สร้างวินัยการออม โดยเฉพาะอาชีพอิสระไม่ควรลงทุนในสิ่งที่เสี่ยง ควรปรับสัดส่วนการออมและความสม่ำเสมอ จากที่เคยพบพฤติกรรมการออมคือ ออมจำนวนมากในครั้งเดียวแล้วหายไป 3 ปี หลังจากนั้นเมื่อเก็บเงินได้ใหม่จึงจะออมอีกครั้งหนึ่ง

ความหวังว่าตัวเลขค่าเฉลี่ยการออมของประเทศไทยจะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งจากการเริ่มทำวิจัยเมื่อ 10 ปีก่อน ได้พบว่าระบบบำนาญครอบคลุมในสัดส่วน 40:60 แต่ปัจจุบันกลับหัวเป็นสัดส่วน 60:40 หมายความว่าตัวเลขดีขึ้น แต่ยังไม่เร็วพอกับการที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสุดยอด ดังนั้น ต้องตระหนักรู้ให้เร็วและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

อุปสรรคการออม คืออะไร ? 

อุปสรรคการออมหลังเกษียณที่ทำให้การเกษียณไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ประชาชนส่วนใหญ่มักจะบอกว่าอุปสรรคคือ ความเสี่ยง อาทิการเข้ามาของโควิด แต่อยากบอกว่าแม้โควิดไปเชื้อโรคตัวใหม่ก็จะเข้ามา ต่อไปอุปสรรคคือ ความเสี่ยงจะมาเร็วและมาแรงขึ้น อาทิ โควิด หรือสงคราม ทุกอย่างจะเข้ามาเรื่อย ๆ อย่าให้เรื่องเหล่านี้มากระทบวินัยการออม

สำหรับข้อมูลการเกษียณของคนไทยพบว่า ปัจจุบัน สัดส่วนประชากรเกษียณอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปีของประชากรทั้งหมดในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 5% ของประชากรทั้งหมดในปี 2493 เพิ่มขึ้นเป็น 30% ในปี 2578  ซึ่งสถานะปัจจุบันเราก็อยู่ในช่วงสังคมผู้สูงอายุอยู่แล้ว 

สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

  • ภาระทางการคลังของภาครัฐที่มารองรับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับระบบบำเหน็จบำนาญถูกคาดการณ์ว่าจะสูงขึ้นเป็นประมาณ 478,000 ล้านบาท ในปี 2578 เช่นกัน ซึ่งสูงมากกว่า 2 เท่าของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในปี 2560 ที่ประมาณ 246,000 ล้านบาท 

สำหรับระบบแรงงานของประเทศไทย พบว่า มีแรงงานนอกระบบมากกว่าในระบบ ซึ่งกลุ่มแรงงานนอกระบบเป็นแรงงานที่มีรายได้ไม่มั่นคง ไม่ได้มีการจ้างงานระยะยาว ไม่มีเงินเดือนประจำ ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระและเกษตรกร โดยประเทศไทยมีจำนวนแรงงานนอกระบบสูงถึง 20.7 ล้านคน เมื่อเทียบกับแรงงานในระบบที่มีอยู่ประมาณ 16.8 ล้านคน (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ) ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงมีความพยายามที่จะพัฒนาและปรับเปลี่ยนโครงสร้างระบบบำเหน็จบำนาญในประเทศไทยเพื่อลดภาระด้านการคลัง และเพิ่มความครอบคลุมของระบบบำเหน็จบำนาญแก่ประชาชนทุกกลุ่มไม่ใช่เพียงข้าราชการและแรงงานในระบบเท่านั้น

  • มีวัยแรงงานลดลง และวัยแรงงานมีภาระมากขึ้น

เมื่อผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้อัตราส่วนการพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อประชากรในวัยทำงานเพิ่มสูงขึ้น จากเดิมที่เพียงร้อยละ 12

ในปี 2551 (ค.ศ. 2008) มาเป็นร้อยละ 17 ในปี 2562 (ค.ศ. 2019) โดยมีอัตราเร่งของการสูงขึ้นมากกว่ากลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ถึงแม้ว่าระดับอัตราส่วนการพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อประชากรในวัยทำงานของประเทศไทยจะยังต่ำกว่ากลุ่มประเทศยุโรปและอเมริกาเหนือ แต่จากการคาดการณ์สัดส่วนประชากรในอีก 50 ปีข้างหน้า จะพบว่าอัตราส่วนการพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อประชากรในวัยทำงานของประเทศไทยจะพุ่งสูงขึ้นมากจนเป็นมากกว่าร้อยละ 60ในปี 2608

 

advertisement

SPOTLIGHT