การเงิน

ตลท.แจงข้อมูล Program Trading ชี้การทำ Naked Short Selling ผิดกฎหมาย 

17 พ.ย. 66
ตลท.แจงข้อมูล Program Trading  ชี้การทำ Naked Short Selling ผิดกฎหมาย 
ไฮไลท์ Highlight

“ Naked Short Sellin เป็นการจับเสือมือเปล่า ตลท.และก.ล.ต. ตรวจสอบตลอดเวลา เชื่อว่าที่ผ่านมาก็พยายามเข้าไปตรวจ ก็เจอและปัจจุบันก็ยังตรวจสอบอยู่  และที่ผ่านมาเราเคยลงโทษสมาชิก เพราะ Naked Short Selling ถือว่าผิดกฎหมาย กระบวนการตรวจสอบบริษัทสมาชิก ซึ่งต้องมีการเข้าไปตรวจสอบการส่งคำสั่งขายเวลาเท่าไหร่ ซื้อกลบช็อตวันเดียวกันได้ ส่งคำสั่งชาย มีหุ้นที่ขายจริงหรือไม่” 

ส่งท้ายสัปดาห์ด้วยการแถลงข่าวของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หลังจากเกิดกระแสนักลงทุนรายย่อยส่วนหนึ่ง จะประท้วงหยุดเทรดในวันจันทร์ ที่ 20 พ.ย. นี้เนื่องจากขาดความเชื่อมั่นในการลงทุนในตลาดหุ้นที่มีความผันผวนสูง และมีปริมาณการทำ  Short Sell จำนวนมาก รวมถึง Program Trading หรือ  การซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์ ที่นักลงทุนมองว่าส่งผลต่อการลงทุนในหุ้นไทย

ดีเดย์วันนี้ 17 พ.ย.66 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้เปิดเผยข้อมูลรายวัน Program Trading ในเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ เพิ่มเติมจากเดิมที่มีการการให้ข้อมูล Short Selling และ NVDR 

โดยการเปิดเผยข้อมูลรายวันเพิ่มเติมนี้ เพื่อประกอบการตัดสินใจของลงทุน  และตลาดหลักทรัพย์ฯจะมีการพัฒนาช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และตรงกับความต้องการ มีข้อมูลเพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุน สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบัน 

โดยเสนอข้อมูลสำคัญที่ผู้ลงทุนให้ความสนใจ ได้แก่ 

  1. ข้อมูลเดิมที่เผยแพร่อยู่แล้ว ได้แก่ ธุรกรรมขายชอร์ต (Short Selling) และใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย (NVDR: Non-Voting Depository Receipt)

  2. ข้อมูลที่จะเผยแพร่เพิ่มเติม คือ การส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นโดยใช้โปรแกรม (Program Trading) โดยผู้ลงทุนสามารถติดตามข้อมูลดังกล่าวได้ทางเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ฯ เริ่มตั้งแต่ 17 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป

นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานกฎหมาย และหัวหน้ากลุ่มเลขานุการองค์กรและกำกับองค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า “ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อเป็นข้อมูลที่นักลงทุนทุกคนสามารถนำไปใช้ในการประกอบการตัดสินใจลงทุนได้ และเผยแพร่เป็นการทั่วไป ทั้งนี้ความเคลื่อนไหวของหุ้นดังกล่าวจะต้องเข้า 3 เกณฑ์คือ มีการเปลี่ยนแปลงราคาบวกลบ 10%  , มีมูลค่าการซื้อขายมากกว่า 50 ล้านบาท  , และต้องเป็นหุ้นที่อยู่ใน SET และ mai

ข้อมูล ณ วันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จากมูลค่าการซื้อ-ขายทั้งหมด 4.43 หมื่นล้านบาท มาจากการซื้อ-ขายผ่าน Program Trading ราว 39% หรือราว 1.74 หมื่นล้านบาท และเป็นการซื้อสุทธิ 352 ล้านบาท

capture_1

วิธีเข้าถึงข้อมูลในเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ฯ

ผู้ลงทุนสามารถติดตามข้อมูลตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ที่ www.set.or.th หรือสอบถามข้อมูลและให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูล ได้ที่ SET Contact Center 0-2009-9999

นายรองรักษ์ กล่าวว่า “ขณะนี้เรากำลังศึกษาทุกอย่าง เพื่อทำให้ตลาดหลักทรัพย์ไทยน่าสนใจ ต้องดูว่าปัญหาเกิดขึ้นจากอะไรมาประกอบการตัดสินใจ เราคิดว่า นักลงทุนควรมีข้อมูลอะไร และเชื่อว่าจะทำให้มีข้อมูลในการตัดสินใจมากขึ้น” 

นอกจากนี้  ตลท.จะนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ข้อมูลการซื้อขาย พฤติกรรมการซื้อขายของผู้ลงทุน มาใช้ปรับกฎเกณฑ์ให้เหมาะสมและอัพเดทขึ้น ซึ่งถ้าตลท.มองว่า มีสิ่งที่ต้องทำและปรับปรุงก็จะทำ เพื่อนำมาใช้ประกอบการพิจารณา ตลาดหุ้นเปลี่ยนแปลงทุกวัน ตลาดเปลี่ยน พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นต้องปรับเกณฑ์ให้เหมาะสม 

‘Naked Short Selling’ ผิดกม.”จับเสือมือเปล่า”

นายรองรักษ์ กล่าวว่า  สำหรับ ‘Naked Short Selling’ ถือเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ในตลาดหุ้นไทย หากมีการตรวจพบและมีการการตรวจสอบแล้วพบกระทำความผิด ตลท.จะส่งเรื่องให้ ก.ล.ต.พิจารณาลงโทษด้วย ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยมีมาแล้ว

“ Naked Short Selling เป็นการจับเสือมือเปล่า ตลท.และก.ล.ต. ตรวจสอบตลอดเวลา เชื่อว่าที่ผ่านมาก็พยายามเข้าไปตรวจ ก็เจอและปัจจุบันก็ยังตรวจสอบอยู่  และที่ผ่านมาเราเคยลงโทษสมาชิก เพราะ Naked Short Selling ถือว่าผิดกฎหมาย กระบวนการตรวจสอบบริษัทสมาชิก ซึ่งต้องมีการเข้าไปตรวจสอบการส่งคำสั่งขายเวลาเท่าไหร่ ซื้อกลบช็อตวันเดียวกันได้ ส่งคำสั่งขาย มีหุ้นที่ขายจริงหรือไม่”  นายรองรักษ์กล่าว

นักลงทุนนัดหยุดเทรดถือเป็นเสน่ห์ของการลงทุนธรรมชาติของตลาด

เมื่อมีกระแสข่าวถึงการรวมตัวนัดหยุดเทรดของนักลงทุนนั้น  นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย มองว่า เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของการลงทุน เพราะนักลงทุนในว้นนี้มีการเปลี่ยนไป มีหลายกลุ่ม แตกต่างจากเดิมที่เป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จแล้วมาลงทุน ซึ่งแน่นอนว่า นักลงทุนบางกลุ่มอาจมีความไม่พอใจ กับนักลงทุนบางกลุ่มที่เปลี่ยนไปด้วยเทคนิค นักลงทุนมีหลายกลุ่ม ยิ่งมีความไม่พอใจเป็นสิทธิของเขา

“ขณะนี้เราพยายามทำหน้าที่ พยายามให้ข้อมูลกับนักลงทุนมากที่สุดเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน สามารถเข้ามาดูได้ไม่ได้ปกปิดเป็นความลับ”

“ หากนักลงทุนมีการนัดหยุดเทรดกัน ก็ถือว่า เป็นธรรมชาติของตลาด เป็นความสวยงาม เป็นสิทธินักลงทุน วันนี้มาชี้แจงรับรู้และรับฟังข้อมูลน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน จะหยุดเทรดเป็นสัญล้กษณ์คงทำไรไม่ได้  มีหน้าที่ให้ข้อมูล คงทำงานเหมือนเดิม” 

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังได้ออกบทความเรื่อง  Naked short selling และการตรวจสอบของตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยมีเนื้อหาดังนี้ 

ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ที่กระทบต่อสภาวะการลงทุน คล้ายกับหลายๆ ตลาดในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ความกังวลเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจโลกถดถอย การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ FED และสภาพคล่องที่ลดลง รวมถึงปัจจัยด้านเศรษฐกิจภายในประเทศ ทำให้ตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนและปรับตัวในทิศทางลดลงเช่นเดียวกับหลายๆ ตลาดในต่างประเทศ อย่างไรก็ดี สภาวะดังกล่าวยังอาจนำมาซึ่งความกังวลในกลุ่มนักลงทุนว่าอาจมีปัจจัยอื่น ๆ เช่น Naked short selling ที่กดดันตลาดหุ้นไทยเพิ่มเติมหรือไม่

ในปัจจุบันมีกลยุทธ์การลงทุนเพื่อช่วยในการลงทุน ไม่ว่าจะคาดการณ์ว่าตลาดหุ้นจะปรับตัวในทิศทางใดก็ตาม กล่าวคือหากคาดการณ์ว่าราคาหลักทรัพย์จะปรับตัวสูงขึ้น ผู้ลงทุนก็อาจจะมีการกู้ยืมเงิน (leverage) มาเพื่อซื้อหลักทรัพย์ที่คาดว่าราคาจะปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต โดยต้องจ่ายต้นทุนการกู้ยืมด้วย แต่หากราคาหลักทรัพย์ไม่ปรับขึ้นอย่างที่คาดการณ์ ก็อาจทำให้เกิดผลขาดทุนได้มากขึ้นเช่นกัน ในทางกลับกันถ้าคาดการณ์ว่าหลักทรัพย์จะปรับตัวลดลง ชอร์ตเซลก็เป็นกลยุทธ์การลงทุนรูปแบบหนึ่งที่สามารถทำได้ในตลาดหุ้นของหลายๆ ประเทศ โดยเป็นการยืมหลักทรัพย์ที่คาดว่าจะมีราคาปรับลดลง มาทำการขายที่ราคาปัจจุบัน และหากราคาหลักทรัพย์ดังกล่าวลดลงตามที่คาดการณ์ เมื่อถึงกำหนดส่งคืนหลักทรัพย์ที่ยืมมา ผู้ลงทุนก็จะสามารถซื้อหลักทรัพย์ในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่ขายไป และนำมาคืนแก่ผู้ให้ยืมหลักทรัพย์นั้น ทำให้ผู้ลงทุนสามารถทำกำไรได้จากส่วนต่างของราคาหลักทรัพย์ที่ลดลงตามที่คาดการณ์ อย่างไรก็ดี หากราคาหลักทรัพย์นั้นปรับตัวสูงขึ้นไม่ตรงกับที่คาดการณ์ไว้ ก็จะทำให้ผู้ลงทุนขาดทุนได้เช่นกัน เพราะต้องซื้อหลักทรัพย์ที่ราคาสูงกว่าราคาที่ขายไปก่อนหน้าเพื่อนำมาคืนแก่ผู้ให้ยืมหลักทรัพย์ ซึ่งหากไม่มีการส่งมอบหลักทรัพย์ตามกำหนด ก็อาจจะส่งผลกระทบในเชิงระบบตามมา ดังนั้น ไม่ว่าผู้ลงทุนจะใช้กลยุทธ์การลงทุนในตลาดขาขึ้นหรือขาลง ก็จะต้องมีการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม

ภาพที่ 1: การ Short selling

 capture1

ในทางทฤษฎี ชอร์ตเซลมีประโยชน์ในกระบวนการค้นหาราคาของหลักทรัพย์เพื่อให้สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง (price discovery process) ซึ่งช่วยให้ราคาหลักทรัพย์ปรับสู่ราคาที่ควรจะเป็นเมื่อคำนึงถึงปัจจัยข้อมูลข่าวสารสาธารณะทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์นั้นและส่งผลให้ตลาดมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ดี การขายในลักษณะชอร์ตเซลก็มีความเสี่ยง หากการชอร์ตเซลนั้น ไม่ได้ทำการยืมหลักทรัพย์ก่อนการทำชอร์ตเซล เพื่อใช้ในการส่งมอบเมื่อถึงเวลาที่กำหนด หรือที่เรียกว่า Naked short selling ซึ่งการผิดนัดส่งมอบนี้อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบได้ ดังนั้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว หลายๆ ตลาดหลักทรัพย์จึงมีกฎหมายหรือหลักเกณฑ์การห้ามทำการขายชอร์ตในลักษณะ Naked short selling

สำหรับประเทศไทยนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีการพัฒนาหลักเกณฑ์กำกับดูแลชอร์ตเซลเช่นกัน  โดยมีการห้ามทำธุรกรรม Naked short selling ดังกล่าว อีกทั้งยังมีหลักเกณฑ์อนุญาตให้ทำชอร์ตเซลได้ที่ราคาไม่ต่ำกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (zero plus tick rule) เพื่อไม่ให้ธุรกรรมชอร์ตเซลกระทบสภาพการซื้อขาย หรือชี้นำให้ราคาหลักทรัพย์ผิดไปจากสภาพการซื้อขายปกติอีกด้วย

สำหรับการตรวจสอบการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และข้อบังคับเกี่ยวกับธุรกรรมชอร์ตเซลนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอทุกวันลงในระดับ transaction และลำดับเวลาที่ส่งคำสั่งซื้อและขายภายในวันนั้นๆ โดยตรวจสอบกับธุรกรรมของผู้ลงทุนทุกประเภทและทุกช่องทางที่ส่งคำสั่งเข้ามาในระบบ ไม่ว่าจะเป็นผู้ลงทุนต่างชาติหรือผู้ลงทุนในประเทศ และไม่ว่าจะใช้ program หรือไม่ใช้ก็ตาม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณี Naked short selling หรือการทำชอร์ตเซลโดยไม่ได้รายงานอย่างถูกต้อง

กระบวนการตรวจสอบชอร์ตเซล

   กรณีธุรกรรมที่มีการรายงานว่าเป็นชอร์ตเซล: เมื่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้รับข้อมูลการทำธุรกรรมชอร์ตเซลจากบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิก ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะรวบรวมรายการชอร์ตเซลทั้งหมดมาสุ่มตรวจสอบว่ามีการยืมหลักทรัพย์มาเพื่อการทำชอร์ตเซลถูกต้องตามหลักเกณฑ์หรือไม่ โดยจะสุ่มตรวจสอบจากรายการที่มีมูลค่าสูงจนกว่าจะครอบคลุมมูลค่าชอร์ตเซลส่วนใหญ่ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ จะตรวจสอบโดยให้บริษัทหลักทรัพย์สมาชิกที่เป็นนายหน้าของลูกค้ารายที่ทำธุรกรรมดังกล่าว นำส่งหลักฐาน อาทิ confirmation email จาก Custodian ซึ่งแสดงได้ว่าลูกค้ารายนั้นมีการยืมหลักทรัพย์จาก Custodian หรือหลักฐานอื่นที่แสดงได้ว่าลูกค้ามีการกู้ยืมหลักทรัพย์มาเพื่อการทำธุรกรรมชอร์ตเซลก่อนหน้าการส่งคำสั่งขายจริง

   กรณีธุรกรรมอื่น ๆ ที่ไม่มีการแจ้งว่าเป็นชอร์ตเซล: ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะตรวจสอบธุรกรรมที่มีความน่าสงสัย เช่น (1) เป็นลักษณะ Day trade (มีการซื้อขายเกือบหมดภายในวัน) ที่พบว่ามีการขายก่อนซื้อคืน หรือ (2) เป็นลูกค้ารายที่มีปริมาณการขายสูงๆ และกระทบต่อตลาดสูง เป็นต้น โดยจะดำเนินการตรวจสอบว่าลูกค้ามียอดหลักทรัพย์ที่ขายนั้นอยู่ก่อนการส่งคำสั่งขายหรือไม่ โดยตรวจสอบกับยอดคงค้างอยู่ในบัญชีจากวันก่อนหน้า (outstanding balance) ธุรกรรมต้องสงสัยลักษณะนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะดำเนินการตรวจสอบทุก transaction หากไม่พบว่ามี outstanding balance จะดำเนินการสอบถามไปยังบริษัทหลักทรัพย์สมาชิกที่เป็นนายหน้าของลูกค้ารายดังกล่าว เพื่อให้นำส่งหลักฐานที่แสดงได้ว่าลูกค้ารายนั้นๆ มีหลักทรัพย์สำหรับขายจริง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสอบทานว่าบริษัทหลักทรัพย์มีการปฏิบัติเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 

ภาพที่ 2: กระบวนการตรวจสอบ Short selling

capture2

การตรวจสอบธุรกรรมข้างต้น หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีการดำเนินการไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง จะมีการพิจารณาตามกระบวนการทางกฎหมายของตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งมีผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วยฝ่ายงานกำกับบริษัทสมาชิก ฝ่ายงานกฎหมาย คณะอนุกรรมการวินัย เพื่อพิจารณาความผิดและออกคำสั่งลงโทษ รวมทั้งคณะอนุกรรมการอุทธรณ์ และคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ จะพิจารณาในกรณีที่มีการอุทธรณ์ และมีการรายงาน ก.ล.ต. เพื่อพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ ในกลไกการกำกับดูแลและติดตามสภาพการซื้อขายต่าง ๆ มีการทำงานประสานความร่วมมือกันระหว่างตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. อย่างใกล้ชิด ซึ่งทั้งสองหน่วยงานมีการตรวจสอบการดำเนินการของบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตอย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตามและกำกับดูแลการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ต่างๆ โดยการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานการกำกับดูแลสากล นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการติดตามพัฒนาการการซื้อขายภายในตลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากพบว่ามีพัฒนาการใหม่ๆ ก็จะนำมาปรับปรุงรูปแบบการกำกับดูแลเพิ่มเติมเพื่อให้มีความรัดกุมและสอดคล้องกับพัฒนาการของตลาดต่อไป

“SET…Make it Work for Everyone”

advertisement

SPOTLIGHT