ไลฟ์สไตล์

"บ้านปรสิต" อาจหายไป เมื่อเกาหลีใต้เตรียมแบนห้องพักกึ่งใต้ดิน

15 ส.ค. 65
"บ้านปรสิต" อาจหายไป เมื่อเกาหลีใต้เตรียมแบนห้องพักกึ่งใต้ดิน

ห้องพักกึ่งใต้ดิน (semi-basement) หรือ ‘พันจีฮา’ เป็นห้องพักต่ำกว่าระดับพื้นถนนที่ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความเหลื่อมล้ำในประเทศเกาหลีใต้ไปแล้ว หลังภาพยนตร์เรื่อง “ครอบครัวปรสิต” (Parasite) กำกับโดยบงจุนโฮ เข้าฉายในปี 2019 ฉายภาพความยากแค้นของคน “ชั้นล่าง” ที่ซุกซ่อนอยู่ในมุมมืดของหนึ่งในประเทศอุตสาหกรรมที่ร่ำรวยที่สุดประเทศหนึ่งของโลก

 

ด้วยความที่ค่าเช่าราคาถูกกว่าห้องพักทั่วไป ผู้อยู่อาศัยในห้องพักลักษณะนี้ส่วนมากจึงเป็นผู้มีรายได้ต่ำที่ไม่สามารถจ่ายค่าที่พักในกรุงโซล ที่กำลังขึ้นสูงจนไกลเกินเอื้อมในตอนนี้ได้

 

และจากข้อมูลของ รัฐบาลกรุงโซล (Seoul Metropolitan Government) ในปี 2020 มีห้องพักกึ่งใต้ดินถึง 200,000 ห้องในกรุงโซล คิดเป็นสัดส่วนถึง 5% ของที่พักอาศัยทั้งหมดในกรุงโซล

 

แต่ห้องพักแบบนี้อาจจะกำลัง “หายไป” เพราะทางการเกาหลีเตรียม “แบน” ไม่ให้สร้างห้องพักกึ่งใต้ดินอีกแล้ว หลังมีครอบครัวจมน้ำเสียชีวิตในห้องพักแบบดังกล่าว จากเหตุการณ์น่้ำท่วมใหญ่ในกรุงโซล เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุสลดแบบนี้อีกขึ้นในอนาคต เจ้าของที่หรือผู้รับเหมาที่มีแผนจะสร้างตึกที่อยู่อาศัยในอนาคต จะถูกห้ามไม่ให้สร้างหรือปล่อยห้องพักกึ่งใต้ดินให้ใครเช่าอย่างเด็ดขาด และเจ้าของตึกใดก็ตามที่มีห้องกึ่งใต้ดินอยู่ในครอบครอง จะต้องค่อยๆ ปรับแก้เปลี่ยนโครงสร้างห้องดังกล่าวให้กลายสภาพจากที่อยู่อาศัยเป็นอย่างอื่น ภายในเวลา 10-20 ปี

 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ได้บอกว่าจะให้คนรายได้น้อยย้ายออกจากพันจีฮาในทันที เพราะคงไม่มีคำตอบง่ายๆ ว่า "แล้วจะให้คนเหล่านี้ย้ายไปอยู่ที่ไหน"

 บ้านปรสิต, พันจีฮา, น้ำท่วมเกาหลี, Parasite

เพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำและค่าที่พักที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็ยังคงเป็นปัญหาที่รัฐบาลแก้ไม่ตก จากข้อมูลของธนาคาร Shinhan ในเดือนเมษายนที่ผ่านมาพบว่า ช่องว่างด้านรายได้ของผู้มีรายได้สูงสุด 20% ในเกาหลีใต้ และกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำสุดถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2019 โดยเฉพาะในหมู่คนอายุน้อยช่วง 20-30 ปี

 

จากรายงานของ The Korea Herald พบว่าในปี 2021 กลุ่มคนวัยดังกล่าวจากครอบครัวที่มีรายได้สูงสุด 20% ของประเทศ มีรายได้และทรัพย์สินมากกว่าคนอายุเท่ากันในครอบครัวรายได้ต่ำ “ถึง 35 เท่า” โดยมีมูลค่าทรัพย์สินต่างกันถึง 846 ล้านวอน (ราว 23 ล้านบาท) ในปี 2020

 

สาเหตุหลักมาจากการสืบทอดมรดกที่ทำให้คนสองกลุ่มนี้มี “ต้นทุน” ไม่เท่ากัน ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำมหาศาลที่จะแย่ลงไปอีกจากสภาพเศรษฐกิจและภาวะเงินเฟ้อ โดยเฉพาะในด้านที่อยู่อาศัยที่นับวันจะแพงขึ้นเรื่อยๆ จากการเก็งกำไรราคาอสังหาริมทรัพย์

 

จากข้อมูลของ Korea Real Estate Board ราคาเฉลี่ยของที่อยู่อาศัยในกรุงโซลเพิ่มขึ้นกว่า 83.6% จาก 341 ล้านวอน (ราว 9 ล้านบาท) ในปี 2017 พุ่งขึ้นไปเป็น  626 ล้านวอน (ราว 17 ล้านบาท) ในเดือนมีนาคมปี 2022

 

เหล่านี้ทำให้เกิดคำถามน่าคิดว่า ถึงแม้การห้ามไม่ให้สร้างหรือห้ามคนเข้าไปอยู่อาศัยในห้องกึ่งใต้ดินแบบนี้ จะเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกต้องแล้วเพื่อความปลอดภัยของประชาชน แต่รัฐบาลเกาหลีจะทำอย่างไรให้คนรายได้ต่ำเหล่านี้ เข้าถึงที่อยู่อาศัยที่ราคาสูงเกินระดับรายได้ของพวกเขาในระยะยาวได้

 


รู้จัก “พันจีฮา” ห้องใต้ดินในมุมมืดของเกาหลี

 

พันจีฮา หรือห้องพักกึ่งใต้ดิน ถูกสร้างขึ้นมาครั้งแรกในช่วงปี 1970s เพื่อเป็นหลุมหลบภัยในช่วงความขัดแย้งระหว่างเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือกำลังคุกรุ่น เพราะฉะนั้น แท้ที่จริงแล้วห้องพักเหล่านี้จึงเป็นเป็นเพียงแค่บังเกอร์ “ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย”

 

ทว่าในภายหลังช่วงปี 80 นั้น พันจีฮากลายเป็นที่อยู่อาศัยเพราะรัฐบาลอนุโลมให้คนใช้ห้องแบบนี้เป็นห้องพักได้ เพื่อรองรับแรงงานจากต่างจังหวัดที่หลั่งไหลเข้ามาทำงานในโซล ในช่วงที่กรุงโซลกำลังพัฒนา

 

และด้วยความที่ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเป็นห้องพักนี้เอง ผู้อยู่อาศัยในพันจีฮาจึงมักประสบกับปัญหามากมาย ทั้งปัญหาด้านการถ่ายเทอากาศและระบายน้ำ ปัญหาน้ำรั่ว ปัญหาสัตว์รบกวน และไม่มีทางออกเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน

 บ้านปรสิต, พันจีฮา, น้ำท่วมเกาหลี, Parasite


ครอบครัวที่เสียชีวิตจากเหตุน้ำท่วมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คือตัวอย่างชั้นดีที่น่าเศร้า คนทั่วไปอาจคิดว่าเมื่อมีปัญหาน้ำท่วมก็แค่อพยพออกมาให้ทัน ก็แค่นั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ครอบครัวที่อยู่ในพันจีฮาคือคนจนที่ไม่มีทางเลือก และอาจจะไม่ได้อยู่ในสภาพที่พร้อมอพยพเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน

 

ครอบครัวผู้เสียชีวิต 3 คน (ยกบ้าน) เป็นผู้หญิงวัยประมาณ 40 ปี ที่มีภาวะดาวน์ซินโดรม ส่วนอีกคนเป็นน้องสาว และอีกคนเป็นหลานสาววัยเพียง 13 ปีเท่านั้น พวกเธอออกมาไม่ทัน เพราะน้ำท่วมเร็วมากเพียงแค่ 10-15 นาทีเท่านั้น จนท่วมปิดทางเข้าออกจนมิดหมด

 

และนี่ก็อาจไม่ใช่ผู้รับเคราะห์รายสุดท้าย หากรัฐบาลยังไม่มีทางออกที่แท้จริงให้คนกลุ่มล่างสุดของสังคม เช่นคนใน "พันจีฮา"

 


ที่มา: Bloomberg, CNN, Al Jazeera, The Korea Herald

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT