ในปี 2024 ถือเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ในแวดวงของธุรกิจประกันภัยเองก็เช่นกัน ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ช่วง ‘ประกันโควิด’ จนให้หลังมา 3-4 ปี ก็ดูเหมือนว่าวงการประกันภัยก็ยังต้องเจอกับพายุแห่งการเปลี่ยนแปลงลูกใหม่ที่ชื่อว่า ‘ประกันรถยนต์ไฟฟ้า’ และอื่นๆอีกมากมายที่จะต้องเตรียมรับมือในอนาคต
และเมื่อเกิด ‘การเปลี่ยนแปลง’ การรับมือที่ดีที่สุดก็คือการ อัพเดทเทรนด์ ไอเดีย และ แนวโน้มใหม่ๆอยู่เสมอ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง
บทความนี้ ทีม SPOTLIGHT ได้สรุปสาระสำคัญมากจากงานแถลงข่าว InsureX forum 2024 ของ Priceza Money และได้มีโอกาสพูดคุยสุด exclusive กับ คุณสิรวิชญ์ ฉายะวาณิชย์ Head of Priceza Money ที่จะมาเปิดสาเหตุทำไม ประกันรถยนต์ไฟฟ้าถึงมีราคาแพงขึ้น ?
คนไทย กว่า 40% ซื้อรถ แต่ไม่ยอมซื้อประกันรถ
Priceza Money ได้มีการเปิดเผยข้อมูล รถยนต์จดทะเบียนสะสมในประเทศไทย 2023 (ไม่รวมจักรยานยนต์) พบว่า
-
ในปี 2023 มีรถยนต์จดทะเบียนสะสมกว่า 20 ล้านคัน
-
แต่มีผู้ทำประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ (ประกันชั้น 1 / 2 / 3) เพียงแค่ 12 ล้านฉบับ ซึ่งคิดเป็น 60%
โดยสาเหตุที่คนไทยไม่ยอมทำประกันรถยนต์ เนื่องจาก ประกันรถยนต์มีราคาแพงเกินเอื้อม ราคาไม่สอดคล้องกับรายได้ อีกทั้งยังพบว่า คนไทยกว่า 60% ซื้อประกันแบบผ่อนเงินสด
ราคาประกันรถยนต์ไฟฟ้า 67 มีราคาแพง กว่าปี 66
จากตัวอย่างการเปรียบเทียบราคาประกันรถยนต์ไฟฟ้าของปี 2566 และ ปี 2567 พบว่า
BYD ATTO 3
ปี 2566 : ราคาประกันชั้น 1 อยู่ที่ 22,500 บาท (ด้วยทุนประกัน 960,000 บาท)
ปี 2567 : ราคาประกันชั้น 1 อยู่ที่ 28,000 บาท (ด้วยทุนประกัน 860,000 บาท)
BYD Dolphin
ปี 2566 : ราคาประกันชั้น 1 อยู่ที่ 19,000 บาท (ด้วยทุนประกัน 850,000 บาท)
ปี 2567 : ราคาประกันชั้น 1 อยู่ที่ 28,000 บาท (ด้วยทุนประกัน 690,000 บาท)
หากเรายังจำกันได้ เมื่อปี 2566 นักวิเคราะห์ในวงการรถยนต์ไฟฟ้าและประกันภัยได้ออกมาให้ข้อมูลคาดการณ์ว่า ‘ประกันรถยนต์ไฟฟ้าจะมีราคาถูกลง’ แต่กลับกลายเป็นว่าเมื่อเปิดปี 2567 ราคาประกันรถยนต์ไฟฟ้ากลับมีราคาสูงขึ้น แม้ผู้บริโภคจ่ายทุนประกันที่ถูกลง
โดยคุณสิรวิชญ์ ได้เปิดเผยกับ ทีม SPOTLIGHT ว่า ”ในปีที่แล้ว เราได้คาดการณ์ว่าจะมีเรื่องของการเปิดโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ส่งผลให้ต้นทุนอะไหล่ในการนำเข้า มีราคาที่ถูกลง แต่ปัจจุบันการสร้างโรงงานฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หรือแบตเตอรี่ก็ยังดูไม่ค่อยคืบหน้าเท่าไร ซึ่งไม่แน่ใจว่าโรงงานจะเร่งเปิด หรือชะลอเปิดกันแน่ เพราะดูเหมือนว่าความต้องการของผู้ขับขี่ก็ลดน้อยลง ดูได้จากอัตราการออกรถยนต์ไฟฟ้าก็มีการชะลอตัวลงในปี 67”
เปิดสาเหตุทำไม ประกันรถยนต์ไฟฟ้าถึงมีราคาแพงขึ้น ?
1.รถยนต์ไฟฟ้า เรื่องใหม่ของตลาดประกัน
ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า รถยนต์ไฟฟ้า เป็นตลาดที่เริ่มเข้ามาและเพิ่งได้รับกระแสนิยม แต่ยังคงเป็นความต้องการเฉพาะกลุ่ม หากเทียบกับตลาดรถสันดาปที่กิน market cap มาอย่างยาวนาน
ทำให้ผู้ทำประกันภัยน้อย จึงมีการเฉลี่ยภัยน้อย และตอนนั้นบริษัทประกันวินาศภัยก็ไม่มีประสบการณ์ ประกอบกับหลาย ๆ เหตุการณ์ที่รถอีวีประสบมีต้นทุนมากกว่าปกติ
2.บริษัทประกันได้ไม่คุ้มเสีย
Priceza Money ได้พบว่า ลูกค้าที่ซื้อประกันรถยนต์ไฟฟ้ามักจะมีการเคลมประกันบ่อยครั้ง และมีการเคลมในจำนวนเงินหลักแสน-หลักล้านบาท ทำให้บริษัทประกันต้องปรับราคาประกันรถยนต์ไฟฟ้าให้มีราคาแพงขึ้นเพราะต้นทุนในการเคลมมีการเพิ่มขึ้นสูง
เช่น เวลาเกิดเหตุกระทบแบตเตอรี่ ไม่ว่าเหตุเบาหรือหนัก ต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่ทั้งหมด ทำให้อัตราค่าสินไหมทดแทน (Loss Ratio) สูงมาก เพราะมูลค่าแบตเตอรี่คิดเป็น 50-60% ของราคารถ
3.ยิงโปรโมชั่น แข่งหั่นราคาเพื่อดึงลูกค้า
ในช่วงปี 2566 ที่ผ่านมาได้เกิดการแข่งขันการหั่นราคาที่ดุเดือดทั้งรถยนต์ไฟฟ้าจากค่ายจีน รวมถึงบริษัทประกันภัย ‘ลด แลก แจก แถม’ กลยุทธ์การทางตลาดสุดชาญฉลาดในการดึงปริมาณของลูกค้า เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่หากซื้อประกันกับบริษัทไหน ในปีต่อไปก็มีแนวโน้มว่าจะต่อประกันกับบริษัทเดิม
หลายๆบริษัทประกันวินาศภัยไม่ได้มีข้อมูลที่มากพอเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้ไม่สามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น แต่เมื่อลูกค้าซื้อโปรโมชั่นไปแล้ว ก็จำเป็นต้องแบกรับความเสี่ยงเพิ่มพูนขึ้นจนไปถึงต้องแบกภาระหนี้สินและการขาดทุน
1 มิ.ย.67 ปรับเกณฑ์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า
สำหรับผู้ใช้รถ EV ตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2567 นี้ เป็นต้นไป บริษัทประกันวินาศภัย จะปรับหลักเกณฑ์กรมธรรม์ ให้มีความเฉพาะเจาะจงกับรถยนต์ไฟฟ้า เช่น กำหนดขอบเขตการรับประกันแบตเตอรี่ด้วย
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ.เตรียมปรับเกณฑ์บังคับการประกันวินาศภัย สำหรับรถยนต์แบตเตอรี่ไฟฟ้า 100% หรือ รถ EV เริ่มพร้อมกันตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2567 นี้ ซึ่งส่งผลให้กรมธรรม์รถยนต์ไฟฟ้าตามเกณฑ์ใหม่ จะมีความคุ้มครองแตกต่างจากแบบเดิม
1.ขับขี่ดีมีส่วนลด
จุดมุ่งหมายหลักของ เกณฑ์ใหม่ประกัน EV ในครั้งนี้ 'ไม่ได้มุ่งที่จะทำให้ประกันรถยนต์ไฟฟ้าถูกลงตั้งแต่ปีแรก' แต่มีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ประกันรถยนต์ไฟฟ้า 'ถูกลงสำหรับคนที่มีประวัติการขับรถดีแบบต่อเนื่อง'
เนื่องจากเงื่อนไขข้อนึงที่ถูกกำหนดมากับ เกณฑ์ใหม่ประกัน EV คือ ‘ส่วนลดพฤติกรรมการขับขี่’
โดยส่วนลดตัวนี้จะถูกกำหนดว่า ถ้าในปีแรก คนขับคนไหนที่ไม่ได้มีการ 'เคลมประกันแบบเป็นฝ่ายผิดหรือฝ่ายประมาทเลย' จะทำให้ได้รับ ‘ส่วนลดพฤติกรรมการขับขี่’ ในปีต่อๆไป
ส่วนลดพฤติกรรมการขับขี่
-
ไม่มีชนเป็นฝ่ายผิดหรือประมาท 1 ปี ปีต่อไปลด 10%
-
ไม่มีชนเป็นฝ่ายผิดหรือประมาท 2 ปีติดต่อกัน ปีต่อไปลด 20%
-
ไม่มีชนเป็นฝ่ายผิดหรือประมาท 3 ปีติดต่อกัน ปีต่อไปลด 30%
-
ไม่มีชนเป็นฝ่ายผิดหรือประมาท 4 ปีติดต่อกัน ปีต่อไปลด 40%
นอกจากนี้รถแต่ละคันก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับ ‘ส่วนลดประวัติดี’ เพิ่มอีก 40% เท่ากับว่าถ้าหากไม่มีชนเลยเป็นระยะเวลา 4 ปี ติดต่อกัน เรามีสิทธิ์จะได้รับส่วนลด 40% + 40% ได้เลย
ตัวอย่างเช่น
เบี้ยประกันภัยปกติราคา 20,000 บาท และ ไม่มีประวัติการชนเลยตลอด 4 ปีติดต่อกัน
- จะได้รับส่วนลดราคาจาก ‘ส่วนลดพฤติกรรมการขับขี่’ ลดไป 40% 20,000 บาท - 40% = 12,000 บาท
- และนำไปลดจาก ‘ส่วนลดประวัติดี’ เพิ่มอีก 40% 12,000 บาท - 40% = 7,200 บาท
เท่ากับเราจะจ่ายเบี้ยเพียงแค่ 7,200 บาท จากราคาเต็ม 20,000 บาท
2.ลดความคุ้มครองแบตเตอรี่
หลายๆคนน่าจะทราบอยู่แล้วว่าใน #เกณฑ์ใหม่ประกันEV หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา มีความเสี่ยงว่าประกันรถยนต์จะรับผิดชอบความเสียหายของแบตเตอรี่รถของเราแค่ ‘บางส่วน’แต่นั่นอาจจะเป็นความเข้าใจเพียงส่วนเดียว เพราะว่าการ ‘ลดความคุ้มครองแบตเตอรี่’ จะถูกแบ่งการเกิดอุบัติเหตุออกเป็น 2 กรณีคือ
-
ชนจนแบตเตอรี่เสียหายจนต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ทั้งลูก
แบบนี้จะถูกนำการ ‘ลดความคุ้มครองแบตเตอรี่’ มาใช้ โดยคำนวณค่าเสื่อมลดลงไปปีละ 10% (ลดสูงสุดเหลือ 50%)
- โดยเราสามารถ ‘ซื้อความคุ้มครองแบตเตอรี่เพิ่ม’ เพื่อไม่ให้ลดความคุ้มครองได้ในราคาหลักร้อยเท่านั้น (ในปีแรกๆ)
- และหากบริษัทประกันนำแบตเตอรี่ก้อนที่เปลี่ยนออกไปขายทอดตลาดได้ เราจะได้รับส่วนแบ่งตามสัดส่วนที่เราต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อเปลี่ยนแบตเตอรี่ (10-50%)
-
ชนแบตเตอรี่แต่สามารถซ่อมได้
หากเกิดอุบัติเหตุแบบนี้บริษัทประกันจะรับผิดชอบค่าซ่อมเต็ม 100% ไม่มีการลดความคุ้มครองใดๆ
3.ต้องระบุชื่อผู้ขับขี่ทุกคน
การทำประกันภัยรถยนต์แบบระบุผู้ขับขี่ก่อนหน้านี้จะเป็น ‘ตัวเลือก’ ที่ทุกคนสามารถเลือกหรือไม่เลือกระบุผู้ขับขี่ก็ได้ แต่สำหรับประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าในวันนี้ จะเป็นการ ‘บังคับ’ ระบุผู้ขับขี่เท่านั้น
โดยเหตุผลที่ต้องบังคับระบุผู้ขับขี่ นั่นก็เป็นเพราะว่าทางผู้ออกเกณฑ์ใหม่นี้ ต้องการที่จะเก็บรวบรวม ข้อมูลและประวัติการขับขี่ ของผู้ขับรถยนต์ไฟฟ้า ‘ทุกคน’ เพื่อที่จะนำไปใช้เป็น ‘ส่วนลดพฤติกรรมการขับขี่’ ในอนาคตได้นั่นเอง
ละถ้าหากใครเลือกที่จะ 'ไม่ระบุผู้ขับขี่ หรือ ให้ผู้ที่ไม่ได้ระบุชื่อไว้เป็นคนขับรถ' แล้วเกิดอุบัติเหตุเป็นฝ่ายผิด จนต้องเคลมกับประกันขึ้นมา จะสามารถเคลมได้ แต่ จะต้องจ่ายเงิน ค่าเสียหายส่วนแรกก่อนจำนวน 6,000 บาทก่อนที่บริษัทประกันจะเคลมให้
4.ห้ามดัดแปลง software ของรถ
หลักๆของเกณฑ์ใหม่ประกันEV ข้อนี้ก็คือ ‘ยกเว้นความรับผิดชอบต่อความผิดพลาดของ software’ นั่นเอง เพราะการประกันทำประกันภัยรถยนต์ มีจุดประสงค์เพื่อ ป้องกันความผิดพลาดและคุ้มครองอุบัติเหตุที่เกิดจากมนุษย์ เท่านั้น แต่ถ้าหากเกิดข้อผิดพลาดจนเกิดอุบัติเหตุจากระบบ software ของตัวรถเองอย่างเช่น ระบบ auto-pilot บริษัทประกันภัยจะไม่ได้รับผิดชอบในส่วนนี้
ตัวอย่างเช่น
- เราเปิดระบบ auto-pilot ของรถให้ขับแทนเราแล้วระบบเกิดผิดพลาดจนเลี้ยวไปชนข้างทางจนเกิดอุบัติเหตุ แบบนี้บริษัทประกันจะ ‘ไม่คุ้มครอง’
ซึ่งบริษัทที่รับทำประกันภัย ระบุกรณีลูกค้าผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัยก่อนวันที่ 1 มิถุนายน 2567 ทั้งการต่ออายุตามวันคุ้มครองหรือการต่ออายุล่วงหน้า จะได้รับผลประโยชน์ความคุ้มครองตามเงื่อนไขกรมธรรม์เดิมตลอดอายุสัญญา
สุดท้ายหากใครที่อยู่ในวงการประกันภัย ก็ไม่ควรพลาดงาน forum เพื่อคนในวงการประกันภัย อย่าง InsureX forum 2024 Insurance Technology & Marketing ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 26 มิถุนายน 2567 ที่ True Digital Park ชั้น 6 ห้อง Auditorium โดยมีหัวข้อน่าสนใจอย่าง EV insurance : อนาคตของประกันรถยนต์ไฟฟ้า ที่จะบรรยายโดย
- คุณอาภากร ปานเลิศ รองเลขาธิการสายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย (คปภ.)
- คุณวาสิต ล่ำซำ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส (บมจ.เมืองไทยประกันภัย)
- คุณกิตตินันท์ อนุพันธ์ CEO (Claim Di)
ลงทะเบียนได้แล้ววันนี้ที่ https://www.zipeventapp.com/e/InsureX-Forum-2024 หรือสอบถามข้อมูลได้ที่ Facebook page : InsureX - Insrance Technology
อ้างอิง : Priceza Money