อินไซต์เศรษฐกิจ

เปิดกลยุทธ์ทำไมบริษัทแม่ Shopee พลิกมีกำไรได้ครั้งแรกตั้งแต่ตั้งบริษัท

8 มี.ค. 66
เปิดกลยุทธ์ทำไมบริษัทแม่ Shopee พลิกมีกำไรได้ครั้งแรกตั้งแต่ตั้งบริษัท

Sea Group บริษัทแม่ของ Shopee พลิกมีกำไรครั้งแรกในไตรมาสที่ 4 ของปี 2022 หลังขาดทุนมายาวนานตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทในปี 2009 หลังผลประกอบการจาก Shopee ธุรกิจแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซพลิกเป็นบวกครั้งแรกจากการตัดค่าใช้จ่ายด้านการตลาดและการเลย์ออฟพนักงาน

จากการรายงานของ CNBC Sea Group ได้กำไรไปทั้งหมด 455.8 ล้านดอลลลาร์สหรัฐในไตรมาสที่ 4 ของปี 2022 พลิกกลับมาทำกำไรได้หลังขาดทุนถึง 616.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเมื่อทาง Sea Group ได้ประกาศผลประกอบการออกมา หุ้นของ Sea Group บนตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กก็ดีดตัวขึ้นไปปิดที่ 80.06 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น หรือเพิ่มขึ้นถึง 21.84% จากราคาปิดวันก่อนหน้า

 

Sea Group บริษัทใหญ่ที่ยังไม่เคยทำกำไรได้แม้แต่ปีเดียว

Sea Group บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากประเทศสิงคโปร์เป็นหนึ่งในบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียน ปัจจุบันในวันที่ 8 มี.ค. เวลา 17.00 น. มีมูลค่าตลาด 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.6 ล้านล้านบาท ใหญ่กว่าปตท.ถึงเกือบ 2 เท่า โดยในปัจจุบันมีธุรกิจ 3 ส่วนหลักด้วยกันคือ

  1. ‘Garena’ ธุรกิจสื่อบันเทิงดิจิทัล (Digital Entertainment) บริษัทเจ้าของเกมออนไลน์ชื่อดังทั้งบนมือถือและคอมพิวเตอร์มากมาย เช่น PUBG, League of Legends และ ROV 
  2. ‘Shopee’ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E-commerce)
  3. ‘SeaMoney’ ธุรกิจให้บริการการเงินแบบดิจิทัล (Digital Financial Services) ที่ให้บริการการเงินต่างๆ เช่น AirPay, ShopeePay, SPayLater

ในอดีต ธุรกิจของ Sea Group เจริญเติบโตและได้รับความนิยมมากในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ผู้คนทั่วทั้งโลกต้องพึ่งพาเทคโนโลยีและธุรกิจอีคอมเมิร์ซสูงในชีวิตประจำวัน โดยมูลค่าตลาดของ Sea Group เคยขึ้นไปสูงถึง 1.99 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนปี 2564 ก่อนจะค่อยๆ ลดลงมาหลังหลายๆ ประเทศเริ่มคลายล็อคดาวน์ ทำให้รายได้จากเกมออนไลน์และธุรกิจอีคอมเมิร์ชลดลง

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะเป็นบริษัทเทคโนโลยีดาวรุ่งพุ่งแรงในช่วงที่มีการระบาดของโควิด และมีสินค้าและบริการที่มีชื่อเสียงมากมาย Sea Group เป็นบริษัทที่ยัง ‘ไม่เคยทำกำไรได้เลยแม้แต่ปีเดียว’ และขาดทุนมหาศาลมาตลอดเพราะ มีโมเดลการทำธุรกิจแบบสตาร์ทอัพคืออัดฉีดเงินจำนวนมหาศาลทำการตลาด ทำโปรโมชั่นแบบเข้าเนื้อ เพื่อดึงส่วนแบ่งตลาดก่อน เพื่อที่ในอนาคตพวกเขาจะกลายเป็นบริษัทหนึ่งเดียวที่ลูกค้ามองหา ทำนองเดียวกับที่ลูกค้าฝั่งตะวันตกที่นึกถึง Amazon เป็นอันดับแรกเมื่อคิดจะซื้อของออนไลน์ 

โดยในปี 2017-2021 Sea Group มีผลประกอบการดังนี้

2017: รายได้รวม 414.19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดทุน 560.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

2018: รายได้รวม 826.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดทุน 961.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

2019: รายได้รวม 2,175.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดทุน 1,462.80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

2020: รายได้รวม 4,375.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดทุน 1,618.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

2021: รายได้รวม 9,955.19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดทุน 2,046.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ซึ่งจากสถิติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า Sea Group ขาดทุนมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ถึงแม้รายได้จะเพิ่ม ทั้งนี้เป็นเพราะ Sea Group ทุ่มค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการขายและการทำการตลาด (Sales and marketing expenses) ค่าใช้จ่ายทั่วไปในการดำเนินงาน (General and administrative expenses) และค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนา (Research and development expenses) ที่เพิ่มขึ้นทุกปี โดยระหว่างปี 2019-2021 ค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ ของ Sea Group สามารถแจกแจงได้ดังนี้

2019: 

ค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการขายและการทำการตลาด - 969.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ค่าใช้จ่ายทั่วไปในการดำเนินงาน - 385.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนา - 156,634 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

2020:

ค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการขายและการทำการตลาด - 1,830.87 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ค่าใช้จ่ายทั่วไปในการดำเนินงาน - 657.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนา - 353.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

2021:

ค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการขายและการทำการตลาด - 3,829.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ค่าใช้จ่ายทั่วไปในการดำเนินงาน - 1,105.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนา - 831.70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ซึ่งจะเห็นได้ว่า ถึงแม้รายได้จะเพิ่มขึ้น ทาง Sea Group ก็เพิ่มค่าใช้จ่ายให้ตัวเองทุกปีในอัตราที่รวดเร็วกว่าการเติบโตของรายได้ และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดก็คือ ‘ค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการขายและการทำการตลาด’

 

จุดเปลี่ยน ปี 2022 ตัดค่าใช้จ่ายการตลาด เลย์ออฟพนักงาน 7,000+ คน

อย่างไรก็ตาม Sea Group ก็ปรับวิธีการทำธุรกิจในปี 2022 ด้วยการหันมาทำธุรกิจแบบเน้นกำไรมากขึ้นและ มาตรการลดค่าใช้จ่ายขนานใหญ่ โดยเฉพาะการลดค่าใช้จ่ายผ่านการเลย์ออฟจำนวนพนักงานลงจำนวนมาก

จากการรายงานของ Nikkei Asia บริษัทเริ่มเลิกจ้างพนักงานในธุรกิจส่งอาหารและการชำระเงินออนไลน์ในภูมิภาคอาเซียนในเดือนมิถุนายน 2022 แบบไม่ระบุจำนวน รวมไปถึงทยอยเลย์ออฟพนักงานในตลาดละตินอเมริกา และในพื้นที่อื่นๆ

จากการรายงานของ CNBC ในปี 2022 Sea Group เลย์ออฟพนักงานไปรวมแล้วมากกว่า 7000 ตำแหน่ง

นอกจากนี้ จากรายงานทางการเงินรายไตรมาสของ Sea Group ทางบริษัทยังได้ลดค่าใช้จ่ายในส่วนสำคัญคือ ‘ค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการขายและการทำการตลาด’ ที่ลดลงตลอดทั้งปี จาก 1,005.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปเป็น 973.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ, 816.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 473.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาสที่ 1,2,3 และ 4 ตามลำดับ ซึ่งเท่ากับว่าค่าใช่จ่ายด้านนี้ในปี 2022 ของ Sea Group จะอยู่ที่ 3269.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 560.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากปี 2021

จากข้อมูลในรายงานการเงิน ธุรกิจที่ทำรายได้ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2022 คือ Shopee และ SeaMoney ที่สร้างกำไรเป็นครั้งแรกตั้งแต่ก่อตั้งมา โดยมีค่า Ebitda หรือ กำไรจากการดำเนินงานของธุรกิจก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและอื่นๆ ที่ 196.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 75.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐตามลำดับ

ในขณะเดียวกัน ธุรกิจที่มีผลการดำเนินงานลดลงคือ Garena ที่รายได้ลดลงถึง 32.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า ไปอยู่ที่ 948.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 1.41 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ยังทำกำไรให้สูงสุดอยู่ที่ 258.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับภาพรวมทั้งปี 2022 ธุรกิจเดียวของ Sea Group ที่ทำกำไรคือ Garena ที่กำไรได้ 1,313.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วน Shopee ยังขาดทุน 1,690.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ SeaMoney ขาดทุน 228.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมแล้วขาดทุนประมาณ 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจาก 2 พันล้านดอลลาร์ในปีก่อนหน้า

 

ที่มา: CNBC, CNA, Sea Group, Nikkei Asia

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT