อินไซต์เศรษฐกิจ

สัญญาณร้าย? จีนเสี่ยง "แบงก์ล้ม" แบงก์เล็กหลายแห่งถอนเงินไม่ได้

26 มิ.ย. 65
สัญญาณร้าย? จีนเสี่ยง "แบงก์ล้ม" แบงก์เล็กหลายแห่งถอนเงินไม่ได้

"Bank Run" "หรือแบงก์ล้ม" เป็นภาวะที่แบงก์เกิดปัญหาจนคนขาดความเชื่อมั่น พากันไปแห่ถอนเงินออกมา จนแบงก์ล้มละลายในที่สุด เคยเกิดขึ้นมาแล้วในหลายประเทศโดยเฉพาะในช่วงที่มีวิกฤตเศรษฐกิจ


ล่าสุดมีข่าวว่า "จีน" กำลังเผชิญภาวะแบงก์ล้มกับเขาด้วย แม้ว่าระดับจะยังไม่ได้รุนแรงถึงขั้น "ล้ม" จริงๆ และสเกลจะไม่ได้ใหญ่มากเมื่อเทียบกับความมั่งคั่ง (ความรวย) ของจีน แต่ก็ถือเป็นข่าวที่หลายคนให้ความสนใจ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยในจีน


สื่อหลายสำนัก เช่น CNN และ Epoch Times รายงานว่า Bank Run รอบใหม่ในจีน อาจกล่าวได้ว่ามาจากเมืองเหอหนาน (Henan) ตั้งแต่เมื่อเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา และขยายวงลุกลามไปถึงคนจีนในหลายพื้นที่วันนี้ โดยเฉพาะเมืองทางฝั่งตะวันออก


4 แบงก์ขนาดเล็กในเมืองเหอหนาน เริ่มเกิดปัญหาเมื่อชาวบ้านถอนเงินออกไม่ได้ พอข่าวเริ่มแพร่กระจายออกไปก็ทำให้คนนอกพื้นที่แห่หันมาถอนเงินด้วย ถ้าเป็นภาวะปกติในหลายประเทศ แบงก์พวกนี้คงถูกถอนเงินออกจนหมด จนเกิดภาวะ Bank Run ไปแล้ว


แต่ที่จีนนั้น มีกฎหมายที่ห้ามรับฝากเงินนอกพื้นที่ ใครอาศัยอยู่เมืองไหนก็ให้ฝากเงินในแบงก์นั้นๆ จะไปฝากข้ามเมืองข้ามมณฑลไม่ได้ แต่ทุกกฎหมายย่อมมี "ช่องโหว่" เสมอ เพราะห้ามแบงก์ แต่ไม่ได้ห้ามแพลตฟอร์มลงทุนที่ทำหน้าที่เป็นบุคคลที่ 3 ดังนั้น คนจีนในอีกหลายเมือง เช่น เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น ตานตง และจิ่วเจียง จึงมีธุรกรรมการเงินในแบงก์ที่เหอหนานไปด้วย


ผลที่ตามมาก็คือ ธนาคารใช้วิธี "อายัดบัญชี" ของบรรดาลูกค้าที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่จริงๆ ซึ่งกระบวนการยืนยันตัวตนเพื่อทวงเงินคืนนั้นอาจต้องใช้เวลานาน หรือติดปัญหาทางกฎหมายเรื่องฝากเงินนอกพื้นที่ด้วยซ้ำ


รายงานระบุว่า แบงก์ต่างๆ ใช้กลวิธีเพื่อเตะถ่วงลูกค้า โดยหลายแบงก์จำกัดปริมาณคนที่มาทำธุรกรรมต่อวัน บางแบงก์จำกัดไม่ให้ถอนเงินเกิน 1,000 หยวน (ราว 5,200 บาท) บางแบงก์ปิดสาขา และแม้แต่ตู้ ATM ก็ไม่มีเงินสดให้ถอนออกมา


รายงานได้อ้างเคสของ เฉิน ชาวจีนรายหนึ่งที่อยู่ในเซินเจิ้น ว่า เขามีบัญชีเงินฝากกับธนาคารเพื่อการเกษตรจีน (Agricultural Bank of China) ซึ่งเป็น 1 ใน 4 แบงก์ใหญ่ที่สุดในจีน (แบงก์รัฐ) แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เขาเห็นคนต่อแถวที่สาขาหนึ่งยาวมากเพื่อรอถอนเงิน


จากที่มีรายงานผู้เสียหายประมาณ 4 แสนคน เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ซีเอ็นเอ็นระบุว่า ยอดผู้เสียหายทั้งหมดในหลายเมืองเพิ่มขึ้นเกือบแตะ 1 ล้านคนแล้ว


เจิ้ง หย่งเหนียน หนึ่งในทีปรึกษาเศรษฐกิจของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เคยเขียนบทความเมื่อต้นเดือน มิ.ย. เอาไว้ว่า เศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญความท้าทายที่รุนแรงหลายอย่าง ซึ่งรวมถึงการที่ต่างชาติถอนการลงทุนมากกว่าครึ่งออกไป และทำให้ภาคเอกชนในจีนต้องดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดในภาวะที่ขาดแคลนทั้งเงินสดและซัพพลายเชน เช่นนี้ แต่บทความของเจิ้งก็ปรากฎบนโลกออนไลน์ได้ไม่นาน ก่อนจะปลิวไปในที่สุด

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT