วันนี้ ( 4 พ.ค.68) ศาตราจารย์อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย พร้อมนายชูเลิศ จิตเจือจุน อุปนายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย เดินทางเข้าติดตามการเก็บชิ้นส่วนคอนกรีตและเหล็กภายในสถานที่เกิดเหตุอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. พังถล่ม
ศาตราจารย์อมร เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ในวันนี้เพื่อเข้าไปสังเกตการณ์การเก็บตัวอย่างลูกปูนบริเวณปล่องลิฟต์ และเสาด้านหน้าอาคาร สตง. หลังปรากฏภาพข่าวพบการเก็บตัวอย่างไม่ครอบคลุมมีลักษณะกระจุกตัว ซึ่งในตามหลักวิศวกรรมการเก็บตัวอย่างลูกปูนจะต้องครอบคลุมและกระจายตัว เก็บตามตำแหน่งต่างๆอีกทั้งยังต้องมีการใช้หลักตามฟิสิกส์ เช่น ค่าต่ำสุด ค่าสูงสุด ค่าเฉลี่ย
เบื้องต้นยอมรับว่าการเก็บลูกปูน จะต้องใช้ชิ้นส่วนโครงสร้างที่มีความสมบูรณ์ แต่สภาพของโครงสร้างที่เหลืออยู่อาจแตกสลายไปบ้าง ซึ่งในทางหลักวิศวกรรมแม้จะไม่สามารถตรวจพิสูจน์ด้วยวิธีการเก็บชิ้นส่วนโครงสร้างที่สมบูรณ์ได้ ก็ยังมีวิธีการอื่น เช่นการเก็บผงปูนไปวิเคราะห์ส่วนผสมทางเคมี โดยไปดูปฏิกิริยาทางเคมี ระหว่างน้ำและปูนซีเมนต์ ซึ่งจะสามารถบ่งบอกรายละเอียด ว่าหากไปเปรียบเทียบกับชิ้นปูนที่มีความสมบูรณ์ จะพบรายละเอียดคุณสมบัติทางเคมี ว่ามีความแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน
ยืนยันขณะนี้ยังไม่ได้รับข้อมูลผลการตรวจสอบคุณภาพปูน ว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งสาเหตุที่เดินทางมาก็เพื่อให้คำแนะนำแนวทางการเก็บตัวอย่างรวมถึงวิธีการทดสอบ โดยยอมรับว่าเข้าใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ว่าจะต้องควบคู่ไปกับการค้นหาร่างผู้ที่ติดค้างอยู่ภายใต้ซากอาคาร แต่ส่วนนี้ก็อยากจะให้มีการชั่งน้ำหนัก เพราะส่วนตัวอยากให้ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับมาตรฐานของปูนที่ชัดเจนเพื่อไม่ให้มีข้อโต้แย้งทางวิศวกรรม ซึ่งการเก็บชิ้นส่วนตัวอย่างที่ครอบคลุมหมายถึง การเก็บตามตำแหน่งที่มีความสำคัญ ตามแผง ด้านหน้า ด้านหลัง หรือ ตามระดับความสูง เพราะการเทคอนกรีตอาจจะมีรอยต่อ และในรอยต่ออาจจะมีน้ำเข้าไปอยู่ในปริมาณมาก ซึ่งก็อาจจะมีผลต่อการรับน้ำหนัก จึงต้องเก็บชิ้นส่วนในตำแหน่งที่ไม่ใช่รอยต่อและมีรอยต่อ ตลอดความยาวของแผงและความสูง และส่วนตัวเชื่อว่าหากเจ้าหน้าที่ได้รับข้อเสนอนี้ ก็อาจจะมีการไปปรับปรุงแนวทางการเก็บชิ้นส่วนให้ดีขึ้น
ด้านนายชูเลิศ ระบุว่า หลังเห็นภาพข่าวการเก็บตัวอย่างชิ้นส่วนคอนกรีต ก็ทำให้รู้สึกเป็นห่วงแนวทางการทำงาน เพราะส่วนตัวมองว่าการจัดเก็บชิ้นส่วนตัวอย่างควรกระจายให้ครบทุกจุด เพื่อให้ได้หลักฐานที่ครบถ้วน ไม่ใช่เพียงการเก็บชิ้นส่วนที่คงสภาพสมบูรณ์หรือมีสภาพดีเท่านั้น โดยการเก็บชิ้นส่วนที่มีสภาพไม่ดีมีความจำเป็น เนื่องจากอาจจะเป็นตัวตั้งต้นหรือเป็นสาเหตุสำคัญ ในการค้นหาที่มาของการพังถล่มครั้งนี้ ซึ่งการเก็บชิ้นส่วนที่ไม่สมบูรณ์ไปตรวจสอบว่ามีสภาพเป็นอย่างไร มีคุณสมบัติทางเคมีครบถ้วนตรงตามมาตรฐานที่ควรจะเป็นหรือไม่ เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับสภาพตัวอย่างที่ดี ซึ่งส่วนนี้ก็ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการนำไปพิจารณาหาสาเหตุ เบื้องต้นมองว่าควรจะมีตัวอย่างที่นำไปตรวจสอบที่มากเพียงพอ เพราะหากไม่เร่งดำเนินการในเวลานี้ภายหลังก็อาจจะไม่สามารถเก็บได้อีกเลย
Advertisement