อินไซต์เศรษฐกิจ

รู้จัก Bank Run วันที่คนแห่ถอนเงินจนแบงก์ล้ม

2 มี.ค. 65
รู้จัก Bank Run วันที่คนแห่ถอนเงินจนแบงก์ล้ม

ภาพชาวรัสเซียแห่กันต่อคิวหน้าแบงก์และตู้ ATM เป็นแถวยาวเหยียดเพื่อรอ "ถอนเงิน" กำลังกลายเป็นไวรัลไปทั่วโลก และเป็นสิ่งที่สื่อตะวันตกกำลังพุ่งเป้าให้ความสนใจว่า เหตุการณ์นี้กำลังจะกลายเป็น Bank Run และลุกลามกลายเป็นการล่มสลายทางการเงินของรัสเซียตามมา

 

"Bank Run" หมายถึงการที่คนจำนวนมากแห่กันไปถอนเงินสดออกจากธนาคารเพราะขาดความเชื่อมั่น ทั้งกลัวว่าแบงก์จะล้มละลายจากปัญหานี้สิน กลัวว่าค่าเงินจะอ่อนค่าจะเงินกลายเป็นแค่เศษกระดาษ แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดขึ้นในช่วงที่มีวิกฤตการณ์ทางการเงิน ซึ่งธนาคารหลายแห่งเจอปัญหาหนี้ท่วม ทำให้ประชาชนกลัวว่าแบงก์จะล้มจนต้องแห่ไปถอนเงินสดและปิดบัญชีกัน

 

ในอดีตที่ผ่านมา เคยเกิดเหตุการณ์ประชาชนแห่ถอนเงินจนแบงก์ถึงขั้นล้มละลายมาแล้ว เพราะขาดสภาพคล่องอย่างหนัก เงินสดไม่มี กู้ยืมไม่ได้ เหลือแต่หนี้ที่ต้องชำระ ครั้งที่เลวร้ายที่สุดก็คือ ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในสหรัฐ ปี 1929-1931 (The Great Depression) และตลาดหุ้นสหรัฐฟองสบู่แตก โดยมีตัวอย่างคือ Bank of the United States สาขานิวยอร์ก ที่ถูกแห่ถอนเงินออกถึงกว่า 200 ล้านดอลลาร์ (มูลค่าเงินสมัยปี 2474)

 

แต่การแห่ถอนเงินออกจากแบงก์ที่ใกล้กับช่วงปัจจุบันที่สุด คือช่วงวิกฤตซับไพรม์ หรือแฮมเบอร์เกอร์ไครซิส ปี 2007 - 2009 ในสหรัฐ และลามไปทั่วโลก ธนาคารหลายแห่งในสหรัฐต้องล้มละลาย แม้แต่แบงก์ในหลายประเทศโดยเฉพาะฝั่งยุโรปก็ถูกลูกหลงหนี้ซับไพรม์ไปด้วย เช่น แบงก์ Nothern Rock ในอังกฤษ ซึ่งเพียงแค่ 1 วันหลังจากที่บีบีซีรายงานว่า แบงก์เริ่มทรงไม่ดีและอาจต้องขอให้รัฐบาลช่วยอุ้ม ประชาชนทั้งประเทศต่างแห่ไปต่อคิวถอนเงินปิดบัญชีที่แบงก์ โดยมีการคาดการณ์ว่า วันนั้นเพียงแค่วันเดียว (14 ก.ย. 2007) มีการแห่ถอนเงินมากถึง 1,000 ล้านปอนด์ จนที่สุดแล้ว รัฐบาลต้องเข้าอุ้มและโอนกิจการมาเป็นของรัฐ (Nationalization)

 

"รัสเซีย" ย่ำแย่แค่ไหน?

ถ้าย้อนไปช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 หลังการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท วันถัดมาค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลงทันที 15 - 20% หรือจาก 25 บาท เป็น 35-40 บาท (ต่อ 1 ดอลลาร์) ซึ่งเป็นเรื่องช็อกคนทั้งประเทศจนถึงวันนี้

 

แต่สำหรับรัสเซียนั้นเจอไปถึง 30% เพียงแค่ 3 วันหลังรัสเซียประกาศสงคราม ค่าเงินรูเบิลอ่อนค่าลงทันทีถึง 30% จาก 84 รูเบิล/ดอลลาร์ในวันศุกร์ ลงไปแตะ 119.50 รูเบิล/ดอลลาร์ในวันจันทร์

 

นั่นเป็นเพราะว่ามาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของสหรัฐ สหภาพยุโรป (อียู) และชาติพันธมิตร งวดนี้มีความรุนแรงมากกว่าทุกครั้งที่เคยทำมา โดยนอกจากมุ่งเป้าทางการเงิน การค้า การส่งออก และแบล็กลิสต์ตามปกติแล้ว งวดนี้ยังตัดแบงก์รัสเซียบางแห่งออกจากระบบ Swift หรือสมาคมโทรคมนาคมทางการเงินระหว่างธนาคาร ซึ่งเป็นการตัดตัวกลางออกไปเพื่อไม่ให้รัสเซียทำธุรกรรมการเงินกับโลกได้ง่ายๆ และยังอายัดเงินของธนาคารกลางรัสเซียในต่างประเทศ ซึ่งคาดว่ามีจำนวนถึง 630,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้รัสเซียขาดสภาพคล่องอย่างหนักในการมาหมุนเศรษฐกิจในประเทศ

 

เพื่อพยุงค่าเงินไม่ให้ล่มสลาย แบงก์ชาติรัสเซียจึงต้องใช้ยาแรงหลายขนานพร้อมกัน ดังนี้

  • ขึ้นดอกเบี้ยรวดเดียว จาก 9.5% เป็น 20%
  • แบงก์ชาติปล่อยสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินครั้งใหญ่ 7.33 แสนล้านรูเบิล (เกือบ 2.9 แสนล้านบาท)
  • ห้ามโบรกเกอร์ในตลาดหุ้นและตลาดอนุพันธุ์ขายสินทรัพย์ที่ถือครองโดยต่างประเทศ (Capital Controls)
  • บังคับให้บริษัทผู้ส่งออกต้องนำเงินสกุลต่างประเทศที่ได้จากการค้ามาซื้อเงินรูเบิล ในสัดส่วน 80% (mandatory sales)

 

แต่นักวิเคราะห์หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า รัสเซียดูจะเพลี่ยงพล้ำมากกว่าในศึกกดดันทางเศรษฐกิจ และยังไม่มีแนวโน้มว่าจะสามารถจบสงครามและความขัดแย้งได้โดยง่าย จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นชาวรัสเซียทั้งในมอสโคว์ เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และในต่างประเทศ แห่กันไปต่อคิวถอนเงินสดที่ตู้ ATM กันตั้งแต่วันจันทร์

 

และนอกจากภาพการต่อคิวยาวเหยียดเพื่อแห่ถอนเงินแล้ว เรายังเห็นภาพความโกลาหลที่สถานีรถไฟบางแห่งด้วย เมื่อบัตรที่ออกโดยธนาคารรัสเซียหลายแห่ง ไม่สามารถใช้งานผ่านระบบ Apple Pay หรือ Google Pay ได้แล้ว เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก แม้ว่าปัจจุบันจะมีชาวรัสเซียที่ใช้บริการระบบดังกล่าวน้อยอยู่ ประมาณ 20% และ 29% ตามลำดับก็ตาม

 

หลายฝ่ายจึงจับตาว่า นี่อาจจะเป็น Bank Run ครั้งใหม่ของโลก ที่บั่นทอนระบบเศรษฐกิจรัสเซียลงอีกทาง

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT