อินไซต์เศรษฐกิจ

วิกฤตการลงทุนมาถึงแล้ว ...วิกฤตเศรษฐกิจกำลังตามมา?

13 พ.ค. 65
วิกฤตการลงทุนมาถึงแล้ว ...วิกฤตเศรษฐกิจกำลังตามมา?
ไฮไลท์ Highlight
"การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ มีลักษณะคล้ายกับเรากำลังทำอาหาร  การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดนั้นคือการเร่งไฟขึ้นเรื่อยๆ แต่วิกฤติจะเกิดขึ้น คืออาหารจะเดือดตอนไหนกันแน่...ไม่มีใครทราบ แต่เรารู้เพียงว่า ไฟที่แรงขึ้นนั้นมันจะส่งผลกระทบกับอะไรซักอย่างแน่ๆ ถ้าเราไม่มีการทำอะไรเลย"

ผลกระทบจากโควิด 19 ยังไม่ทันจางหาย....”วิกฤตเศรษฐกิจ”กำลังจะมาในอีกไม่ช้านี้ เงินในกรเป๋าที่มีมูลค่าลดลงไปเรื่อยๆจากราคาสินค้าและอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง  ส่วนพอร์ตการลงทุนที่สะสมมาเริ่มสั่นคลอนจากสถานการณ์โลกที่ผันผวน นี่เราต้องอยู่กับโควิด 19 ไปพร้อมกับสงคราม และ เศรษฐกิจที่ย่ำแย่หรือนี่?

 

ฟังดูมีเรื่องร้าย เรื่องลบ ที่บั่นทอนกำลังใจ แต่วันนี้กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT ได้นำบทสัมภาณ์ของ ดร.จิตติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุน จากบลจ.ยูโอบี หรือ ดร.โจ๊ก มาฝากผู้อ่านเพื่อหวังว่า จะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้เราได้เข้าใจในสถานกาณ์ว่า “วิกฤตเศรษฐกิจโลก” ที่เรากำลังจะเจอในครั้งนี้หน้าตาเป็นอย่างไร  และสำหรับพอร์ตการลงทุนของเราที่กำลังสั่นคลอนอยู่ตอนนี้จะเอายังไงกันต่อดี....

 

ตอนนี้โลกเข้าสู่ “วิกฤตเศรษฐกิจหรือยัง?

ถ้าเราประเมินสถานการณ์ในฝั่งตลาดการเงินถือว่า  วิกฤตไปแล้วครับ!เพราะสินทรัพย์ต่างๆปรับฐานลงมาแรงมากตามปกติเวลาใช้คำว่าปรับฐานเฉยๆ คือการลดลงประมาณ 10% การเข้าสู่ภาวะตลาดหมี หรือวิกฤตคือลงประมาณ 20% ซึ่งผมว่าไม่ต้องรอให้ทุกสินทรัพย์ลดลงถึง 20% ก็ได้ครับก็สามารถเรียกว่า วิกฤตได้แล้ว    

 

ในฝั่งของเศรษฐกิจมีมุมมองและทฤษฎีที่แตกต่างกันไปแต่ถ้าให้ประเมินปัจจุบันนี้ ยังไม่ถือว่าเป็นวิกฤตเศรษฐกิจแต่หากมองไปในอนาคต เรื่องที่เรากำลังติดตามอยุ่ตอนนี้  ทั้งราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น  การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ และภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว เหล่านี้ครับคือส่วนผสมของวิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นทั้งฝั่งตลาดเกิดใหม่ รวมไปถึงตลาดที่พัฒนาแล้วครับ

 

แปลว่าตอนนี้ เปรียบเหมือนเราใช้ขาข้างนึง เข้ามายืนอยู่ในวิกฤติแล้วหรือเปล่า?  

ผมคิดว่า โอกาสวิกฤตเศรษฐกิจภายในปีนี้ยังไม่สูงมากนักแต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ สูตรหรือองค์ประกอบในการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจมาครบหมดแล้วครับ เหลือแค่รอเวลาเท่านั้นเอง สุดท้ายต้องดูว่ามี trigger point (ปัจจัยที่เป็นตัวกำหนด) ตรงไหน ที่จะทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจได้จริง ๆ  อย่างตอนนี้ฝั่งธนาคารกลางสหรัฐขึ้นดอกเบี้ย  และเค้ามีการประชุมทุก 6 สัปดาห์  เป็นจุดหนึ่งที่ตลาดใช้เป็นมาตรวัดว่า เฟดจะทนไปได้นานแค่ไหน เมื่อขึ้นดอกเบี้ยไปเรื่อย ๆจะขึ้นดอกเบี้ยไปอีกขนาดไหน แล้วต้นทุนทางการเงินจะปรับขึ้นเรื่อย ๆ  ซึ่งเราจะเข้าสู่วิกฤติเศรษฐกิจ เมื่อต้นทุนทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐจริงๆ คือ 2.5% ขึ้นไป  ถึงตอนนั้นจะเรียกว่าวิกฤติแล้ว  ซึ่งอยากเปรียบเทียบว่า

 

"การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ มีลักษณะคล้ายกับเรากำลังทำอาหาร  การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดนั้นคือการเร่งไฟขึ้นเรื่อยๆ แต่วิกฤติจะเกิดขึ้น คืออาหารจะเดือดตอนไหนกันแน่...ไม่มีใครทราบ แต่เรารู้เพียงว่า ไฟที่แรงขึ้นนั้นมันจะส่งผลกระทบกับอะไรซักอย่างแน่ๆ ถ้าเราไม่มีการทำอะไรเลย"

 

ตัวอย่างเช่น  พอธนาคารกลางสหรัฐขึ้นดอกเบี้ยบางประเทศ ค่าเงินประเทศนั้นอ่อนลง เพราะมีการย้ายเงินออกไปฝากที่สหรัฐฯ  เนื่องจากดอกเบี้ยสูงกว่าอยู่ที่ 1% และลองคิดดูว่า อีกภายใน 2 เดือน  ดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐจะขึ้นไปถึง 2% ถามว่า เราอยากฝากมั้ยครับ? ถ้าเงินไหลออกไปที่สหรัฐ ประเทศนั้นก็จะเจอกับค่าเงินทีอ่อนลง   และค่าเงินอ่อน จะเป็นปัญหากับประเทศที่นำเข้า อย่างประเทศไทย  เรานำเข้าน้ำมัน พลังงาน พอค่าเงินอ่อนก็ต้องซื้อน้ำมันในราคาที่แพงขึ้น เราก็จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจอีกรูปแบบนึง

 

ธนาคารกลางสหรัฐขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อ ในอดีตเคยขึ้นสูงสุดเกินกว่า 15% ในครั้งนี้เชื่อว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 2.50%
ธนาคารกลางสหรัฐขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อ ในอดีตเคยขึ้นสูงสุดเกินกว่า 15% ในครั้งนี้เชื่อว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 2.50%

 

ถ้าอย่างนั้นวิกฤติเศรษฐกิจของแต่ลประเทศ จะไม่เหมือนกันเหรอ?

มีความต่างกันทุกรอบเลยครับ ในภาษาเศรษฐกิจบอกว่า ครอบครัวที่มีความสุขจะเหมือนกันหมด  แต่พอครอบครัวไหนไม่มีความสุข ก็จะมีปัญหาแตกต่างกัน  อย่างปัญหาของไทย ไม่ใช่ปัญหาเงินเฟ้อ แต่มักจะมาจากปัญหาการกู้ยืมเงินเกินตัว พอดอกเบี้ยขึ้นก็จะมีต้นทุนทางการเงินที่สูงตาม ไม่มีเงินจะจ่าย เหมือนในอดีตเคยมีวิกฤติมาแล้ว

 

ในมุมมองของประเทศไทย คนส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องสินค้าอุปโภคบริโภคราคาแพง ซี่งที่จริงเราผลิตได้เอง ส่วนการกู้ยืมเงินของไทยหลังวิกฤติปี2540 ตอนนี้เรามีหนี้ต่างประเทศน้อยลง  ดอกเบี้ยเราสามารถควบคุมเองได้  ดังนั้นประเทศไทยมีปัญหาเดียวก็คือ สินค้านำเข้าที่ตลาดโลกมีราคาแพง  มาพร้อมกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่า  นั่นเป็นปัญหาที่เราต้องระวัง  

 

ในฝั่งของเอมริกาจะเจอทฤษฎีเงินเฟ้อ จริงๆ ตัวอย่างประเทศในแถบลาติน  มีการกู้ยืมเป็นดอลลาร์มาก เมื่อค่าเงินในประเทศอ่อนค่า ก็มีผลต่อเศรษฐกิจหนักเลย เงินเฟ้อก็สูงอย่างบราซิล อาเจนติน่า เงินเฟ้อสูงเป็นสิบเปอร์เซนต์ รายได้ไม่รู้จะขึ้นได้ยังไงให้ทันรายจ่าย  

 

 

เงินเฟ้อสูงในสหรัฐเป็นความเสี่ยงของการลงทุน แต่จะเริ่มปรับตัวลงเรื่อยๆ จากนี้เป็นต้นไป
เงินเฟ้อสูงในสหรัฐเป็นความเสี่ยงของการลงทุน แต่จะเริ่มปรับตัวลงเรื่อยๆ จากนี้เป็นต้นไป

 



ขณะที่วิกฤตทางฝั่งยุโรป จะเกิดจากแรงงานที่แตกต่างกัน เพราะใช้แรงงานจากผู้อพยพจากยุโรปตะวันออก พอมีปัญหากับรัสเซีย นอกจากพลังงานราคาสูงขึ้นแล้ว ยังเจอความปั่นป่วนของแรงงาน   

 

ส่วนถ้าเป็นวิกฤตในญี่ปุ่น จะเจอกับภาวะถดถภอย และ อนาคตจะคล้ายยุโรปนั่นคือ ประชากรจะลดจำนวนลงครับ      

 

ในภาพการลงทุนที่บอกว่า เข้าสู่วิกฤติไปแล้วตอนนี้ลงมาเกิน 10% ภาพรวมสินทรัพย์ต่างๆ มันจะตกลงไปกว่านี้อีกมั้ย?

ในภาพระยะสั้นนะครับ จุดที่ต้องติดตามมีทั้งหมด 3 เรื่อง

เรื่องแรก ภาวะเงินเฟ้อจะยังเกิดขึ้นต่อรึเปล่า  ถ้าเงินเฟ้อสูงต่อเนื่อง จะส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยคนลดน้อยลง  รายได้ของ บรรดาบริษัทต่างๆ ก็จะชะลอตัวตามไปด้วย จนกว่าเรื่องนี้จะหายไป เราถึงจะเห็นตลาดเงินตลาดทุนกลับมาอู้ฟู่ หุ้นทีเราลงทุนจึงต้องรอจังหวะเงินเฟ้อเป็นอย่างแรก

 

เรื่องที่2 ต้นทุนทางการเงิน  ตอนนี้แบงค์ชาติไทยยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย แต่ธนาคากลางสหรัฐปรับขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว และบอกด้วยว่าอยากเห็นดอกเบี้ยในปีนี่ที่  2.5%  ซึ่งจะมีนักลงทุนที่ถือตราสารหนี้จึงเตรียมย้ายเงินไปในฝั่งของสหรัฐฯ โดยรอเวลาให้ดอกเบี้ยขึ้นไปสูงกว่าปัจจุบันที่ระดับ 1%  ไปถึง 2.5%  ดังนั้นเท่ากับตลาดตราสารหนี้ ก็เลยเกิดภาวะชะลอตัวตามไปด้วยนั่นเอง  

 

นอกจากนี้ ดอกเบี้ยขาขึ้น ยังไปกระทบกับต้นทุนทางการเงินของบริษัทขนาดใหญ่ในสหรัฐที่มีการกู้เงิน พอเห็นแล้วว่าดอกเบี้ยกำลังจะขึ้น แถมบริษัทยังขายของได้ไม่ดี จึงมีการเก็บกำไรออกมาก่อนเพื่อเตรียมตัว ผลที่ตามมาจึงทำให้ทุกสินทรัพย์โดนขายออกมาในภาวะดอกเบี้ยขาชึ้น  

 

เรื่องสุดท้าย คือ ความผันผวนสูงในตลาดการเงิน  หลายคนอาจะพูดว่า การลงทุนในระยะยาวมันคือรายได้ ประเด็นคือ รายได้จะกลับมาในประเทศไหนกันแน่ ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่ อนาคตประเทศไหนเศรษฐกิจจะกลับมาเติบโตดี เช่น เดิมเราเคยตั้งความหวังไว้กับจีนว่าเศรษฐกิจจะโตดี มั่นคง แต่พอจีนมาเจอนโยบายโควิดเป็นศูนย์ ก็ยังไม่เห็นว่า เศรษฐกิจจีนจะกลับขึ้นไปเหนือ 5.5% ได้อย่างไร  ดังนั้นเราอาจจะรอ เพื่อให้เห็นก่อนว่า ประเทศไหนที่จะมาแทนจีนได้

 

เพราะฉะนั้นสำหรับนักลงทุน อาจจะต้องรอจังหวะให้ 3  ปัจจัยนี้มีความชัดเจนก่อน  คือ เงินเฟ้อเริ่มลดลงแล้ว  อัตราดอกเบี้ยอยู่ในจุดที่ธนาคารกลางสหรัฐพอใจ  เศรษฐกิจบางประเทศเริ่มกลับมาฟื้นตัว 3 อย่างนี้จะเป็นตัวกำหนดว่า สินทรัพย์ต่างๆจะเป็นอย่างไรบ้าง

 

"แต่หาก 3ปัจจัยนี้ไม่ดีขึ้น สิ่งที่จะเห็นคือนักลงทุนจะลดสินทรัพย์เสี่ยงสูงที่สุดก่อน นั่นคือ คริปโทเคอเรนซี่ จะถูกขายก่อนเป็นอันดับแรก และยิ่งตลาดมีความผันผวนสามารถขึ้นลงได้เป็น 10% ในวันเดียวก็จะยิ่งให้เกิดแรงขายเร็วขึ้นไปอีก  ส่วน หุ้น เป็นสินทรัพย์เสี่ยงสูงอันดับ 2 ที่จะถูกขาย  รองๆลงไปคือ ตราสารหนี้ พันธบัตรรัฐบาล ที่มีการรอเวลาให้ผลตอบแทนสูงขึ้นกว่านี้จึงจะมีเงินไหลกลับเข้าไป" 

 

ขาลงของสินทรัพย์ต่างๆจะลากยาวแค่ไหน?

มองโลกในแง่ดีก่อน อะไรที่เราควบคุมไม่ได้ อย่าไปคิดควบคุม อะไรที่ควบคุมได้ให้จับตาเป็นอย่างแรก เรื่องที่เราคุยกันใน 3 ข้อก่อนหน้านี้มีเพียงเรื่องดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐเท่านั้น  ที่มีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้  เพราะเค้า ขึ้นหรือไม่ขึ้นดอกเบี้ยต่อก็ได้หรืออาจจะลดก็ได้  ธนาคารกลางสหรัฐเปลี่ยนใจได้เสมอ  เพราะหากผ่านไป 2 เดือน จากเดิมอยากขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อ แต่ต่อไปเค้าอาจจะเปลี่ยนใจ เพราะเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย  ดังนั้น สำหรับนักลงทุนครึ่งหลังของปีนี้จะได้เห็นว่าธนาคารกลางสหรัฐจะหยุดขั้นดอกเบี้ยเมื่อไหร่ จุดนั้นจะเป็นจุดเริ่มต้น ที่จะบอกว่า เราจะกลับไปลงทุนในหุ้นได้เร็วแค่ไหน

 

นอกจากนี้ความหวังสำหรับนักลงทุนอีก 2 เรื่อง คือเงินเฟ้อ ซึ่งมาจากปัจจัย คือ สินค้าเกิดภาวะขาดแคลน Supply ไม่เพียงพอ ซึ่งผมมองว่า ปัจจุบันมันผ่านจุดพีคไปแล้ว ประเทศที่ผลิตสินค้าต่างๆได้จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

 

“เงินเฟ้อมีจุดอ่อนอยู่ว่า ถ้าราคาสินค้าแพง แก้ด้วย ราคาสินค้าที่แพงกว่า หมายความว่า แพงไปจนสุดท้ายไม่สามารถซื้อได้เงินเฟ้อจะตกลงมาเอง  ตั้งแต่เดือน 6 เป็นต้นไปเงินเฟ้อในสหรัฐฯ จะเริ่มลดลง ยังสูงอยู่แต่ลดลงอาจจะอยู่ๆราวๆ 4-5 %"

 

วิธีแก้ไขของเรา sector ที่เราไปลงทุนถ้าเงินเฟ้อสหรัฐราว 4-5 % ของไทยประมาณ 3%  สิ่งที่ตามมาคือ sector เกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์จะเริ่มมีรายได้เข้ามาเยอะ  เพราะราคาขายเริ่มแพงขึ้น เค้าจะสามารถจ่ายปันผลให้เราได้เป็นต้น

 

อีกหนึ่งความหวังคือ จับตาการเลือกตั้งกลางเทอมของ โจ ไบเดน  ว่าจะมีนโยบายมากระตุ้นเศรษฐกิจอะไรออกมาหลังจากนี้หรือไม่ รวมไปถึงเศรษฐกิจจีน ที่รอว่าเมื่อไหร่จะไม่ใช้มาตรการโควิดเป็นศูนย์ เพราะสิ่งเหล่านี้ คือความหวังและเป้นตัวบอกถึงจุดที่จะให้เรากลับเข้าไปลงทุน  

 

ปรับพอร์ตการลงทุนอย่างไรดี ? ตกแรงๆแบบนี้ เป็นโอกาสการก็บของถูกหรือเปล่า?

ในภาวะแบบนี้มีนักลงทุนอยู่ 2 แบบ ก็คือ นักลงทุนที่ซื้อไว้ก่อนหน้านี้ ตอนนี้กุมขมับอยู่ แต่คำแนะนำ ที่เหมือนไม่ได้มีประโยชน์คือ อย่าไปเปิดดูบ่อยๆ ทำใจให้สงบ  แต่นั่นคือสิ่งที่พูกต้องครับ 

 

“เพราะในภาวะที่ตลาดผันผวนหนักแบบนี้ การที่เราไปเทรด เข้าๆออกๆ มีโอกาสขาดทุนสูงกว่า ดังนั้นเงินใหม่ที่เรากำลังจะเข้าไปควรชะลอไว้ก่อน  รอจังหวะการลงทุนที่น่าจะดีจริงๆ เชื่อว่า ครึ่งหลังของปี ประมาณเดือน 7- 8 เป็นจุดแรกที่อาจจะเริ่มลงทุนเพื่ออนาคตระยะยาวได้”

 

ส่วนกลุ่มนักลงทุนที่ยังไม่มีของเลย หากเราจะลงทุนในอีก 10 –20 ปีข้างหน้า ผมมองว่า เป็นโอกาสของการลงทุน แต่เราจะทำแบบเดิมไม่ได้ ที่จะวิ่งไล่ซื้อหุ้นรายวัน หรือ ซื้อคริปโท ก็บไว้ในพอร์ต รอวันเป็นเศรษฐีในอีก 10 ปีข้างหน้าผมว่ามันจะไม่เกิดขึ้นอีก เพราะบทเรียนรอบนี้พิสูจน์แล้วว่า สิ่งที่เราคิดว่าจะไม่เกิดขึ้น เช่นดอกเบี้ยสูงมันก็เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้นการลงทุนของเราจึงควรคิดถึงพื้นฐานมากขึ้น

 

"สิ่งที่เราคิดว่า เราจะต้องออกไปอยู่ในโลกของเมตารเวิร์สกันแล้ว มันพิสูจน์แล้วว่า ไม่ได้เร็วอย่างที่พูดกัน และเราก็เพ้อฝันกันไปเอง  หรือ ตัวอย่างการรวยเร็วๆ ไปซื้อ NFT เก็บไว้ หวังรวยก็เห็นแล้วว่า ที่จริงมันคือฟองสบู่  ถ้าอยากลงทุนระยะยาว  ข้อแรก คือ ลงทุนได้เชื่อว่าอีก 10-20 ปีข้างหน้า ราคาสินทรัพย์ในปัจจุบันมีโอกาสตัวปรับขึ้น แต่ต้องดูว่าสินทรัพย์นั้นมีพื้นฐานรองรับหรือไม่ ระดับราคาไม่แพงเกินไป และเหมาะสมที่เราจะถือหรือไม่"  

 

ถ้าอย่างนั้นมีคำแนะนำในการเลือกลงทุนสินทรัพย์สำหรับการลงทุนระยะยาวอย่างไรบ้าง?

ผมมีสูตรสำเร็จของการลงทุนระยะยาวมาฝากนะครับ

1.อย่าซื้อเพราะมันปรับตัวขึ้น 

เพราะเราคิดต่ออีก 1 เสต็ปว่า จะมีใครซื้อต่อในราคาที่สูงกว่าจุดที่เราซื้อนี้หรือไม่

2.อย่าซื้อเพราะคนอื่นบอกว่า ดี

ตัวเราเองต้องรู้ด้วยว่ามันดี เราถึงซื้อ

3.อย่าประเมินการลงทุนที่สูงเกินไป

มองหาปัจจัยพื้นฐานทีดีมีอนาคตในระยะยาว

4.การลงทุนระยะยาว สามารถทยอยลงทุนได้  

ไม่จำเป็นต้องทุ่มเทเงินไปในทีเดียว 

 

บทสรุป

“สถิติในอดีต 60 ปีผ่านมา บอกเราว่า ช่วงเวลาของการตกต่ำของเศษฐกิจจะอยู่กับเราประมาณ 1 ปีครึ่ง ในกรณีไม่ปกติ มันอาจจะยาวนานไปถึง 4 ปีได้ แต่สำหรับรอบนี้ ผมคิดว่าไม่ยาวนานขนาดนั้นเพราะ เรามีเทคโนโลยีในการดูเศรษฐกิจมากขึ้นกว่าเดิม และรอบนี้เราผ่านมาครึ่งทางแล้วครับ เราอดทนอีกไม่ถึงปี ก็น่าจะดีขึ้น ดังนั้นผมเชื่อว่า คนที่ลงทุนในระยะ 5 ปีขึ้นไปมีโอกาสฟื้นตัวสูง แต่ต้องคิดเสมอว่า ของที่อยู่ในพอร์ตเรา มันใช่ของที่จะมีอนาคตหรือไม่ หากไม่มีอนาคต ต้องยอมตัดใจได้ กล้าที่จะ Cut Loss  ซึ่งนักลงทุนจะประสบความสำเร็จได้ เพราะเรามีประสบการณ์ไม่กลัวการลงทุน  อนาคตเราจะใม่ผิดพลาดซ้ำแบบเดิมอีก นั่นคือคีย์พอยท์ที่จะทำให้เราเติบโตไปกับการลงทุนได้ในอนาคต"   

 

อดีตตลาดหุ้นโลกเคยปรับฐาน 10ครั้งตั้งแต่ปี 1970 ยาวนานที่สุดกินเวลา 30เดือน แต่เฉลี่ยเพียงราว 12เดือน
อดีตตลาดหุ้นโลกเคยปรับฐาน 10ครั้งตั้งแต่ปี 1970 ยาวนานที่สุดกินเวลา 30เดือน แต่เฉลี่ยเพียงราว 12เดือน

 

ดัชนี Nasdaq ตัวแทนหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐเคยปรับตัวลงทั้งตลาดถึงกว่า 76% แต่ก็กลับมาได้เพราะเป็นอนาคตของเศรษฐกิจปัจจุบั
ดัชนี Nasdaq ตัวแทนหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐเคยปรับตัวลงทั้งตลาดถึงกว่า76% แต่ก็กลับมาได้เพราะเป็นอนาคตของเศรษฐกิจ

 

 

ฟังเต็มๆได้ที่นี่ 

 

 

 

 

 

     

   

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT