การเงิน

รู้จัก BNPL ระบบผ่อนชำระ’ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง’ โมเดลที่คน GEN Y ชอบ ชนวนก่อหนี้โดยไม่รู้ตัว

23 ม.ค. 67
รู้จัก BNPL ระบบผ่อนชำระ’ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง’ โมเดลที่คน GEN Y ชอบ ชนวนก่อหนี้โดยไม่รู้ตัว

ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง หลายประเทศทั่วโลกต่างประสบพบเจอต้นทุนสินค้าราคาอาหารแพงขึ้นทั่วโลกจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก และสงครามที่ไม่ได้คาดคิด ในฝั่งของธุรกิจก็ต้องมีการรัดเข็มขัด ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเพื่อสร้างสภาพคล่องของบริษัท ทำให้ลูกจ้างต่างก็ถูกดันให้ลดราคาค่าจ้าง หรือต้องตกงานกันไปตามๆกันไม่ว่าจะองค์กรเล็กหรือใหญ่  

แต่แม้ว่าเศรษฐกิจที่ซบเซา หรือมีแรงกดดันด้านลบแค่ไหน ผู้คนก็ยังคงจับจ่ายใช้สอยกับสิ่งของที่จำเป็น ส่งผลให้โมเดลผ่อนชำระ”ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” หรือ Buy Now Pay Later (BNPL)” ได้รับความนิยมในสังคมยุคใหม่

istock-849525824

บทความนี้ SPOTLIGHT ชวนทุกคนมารู้จักกับ ”ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” หรือ Buy Now Pay Later (BNPL)” โมเดลการผ่อนชำระแบบใหม่ ที่เป็นฉนวนก่อให้เกิดหนี้โดยไม่รู้ตัว

ซื้อก่อนจ่ายที่หลัง Buy Now Pay Later คืออะไร?

การชำระเงินแบบ Buy Now Pay Later (BNPL) หรือ ซื้อก่อนจ่ายที่หลัง คือ รูปแบบการชำระเงิน ที่เราสามารถได้รับสินค้าหรือบริการก่อน แล้วค่อยจ่ายเงินสินค้าหรือบริการนั้นๆในภายหลัง หรือเราสามารถเลือกแบ่งชำระเป็นงวดๆ ได้ โดยเราสามารถได้นำสินค้าไปใช้ก่อน หรือได้ใช้บริการนั้นก่อนโดยที่ไม่ต้องรอการชำระเต็มงวด

โดยส่วนใหญ่แล้วการผ่อนชำระแบบ Buy Now Pay Later จะไม่มีการเก็บดอกเบี้ย แต่ในบางครั้ง อาจะมีดอกเบี้ยในการผ่อนชำระ แต่จะเป็นดอกเบี้ยที่ต่ำมาก ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่บริษัทกำหนดไว้

 istock-1480041971

หลักการทำงานของ Buy Now Pay Later

-ลูกค้าได้ทำการซื้อของหรือบริการจากร้านค้าที่ร่วมบริการ

-เลือกตัวเลือกการจ่ายเงินแบบ BNPL

-ภายหลังจากระบบตรวจสอบข้อมูล ระบบจะอนุมัติให้ทำธุรกรรม

-ในครั้งแรก อาจต้องชำระเงินเบื้องต้น 25% จากยอดซื้อทั้งหมด แล้วค่อยแบ่งชำระเป็นงวดๆได้

-โดยลูกค้าสามารถชำระเงินสดผ่านธนาคาร / หักจากบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตได้

istock-502558349

GEN Y ลูกค้าหลักของ Buy Now Pay Later

การเข้าถึงสินเชื่อที่ง่ายดังกล่าว ทำให้การใช้บริการ BNPL แพร่หลายอย่างมาก โดยในปี 2564 BNPL มีมูลค่าตลาดได้ถึง 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาในปี 65 มีจำนวนผู้ใช้ทั่วโลกกว่า 360 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 900 ล้านคน ในปี 2570 

โดยรายงาน “Thailand Buy Now Pay Later Market Report 2022” ในประเทศไทย พบว่า ในปี 2565 มีมูลค่าตลาด BNPL อยู่ที่ประมาณ 5.5 – 6.5 หมื่นล้านบาท 

นอกจากนี้ จากการสำรวจพฤติกรรมและทัศนคติของผู้ใช้ BNPLในกลุ่มประชาชนที่มีอายุระหว่าง 15–55 ปี ของสภาพัฒน์ฯ และ ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ พบว่า 23.1% ของผู้ตอบแบบสอบถามเป็นผู้ที่เคยใช้บริการ BNPL ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Gen Y และใช้จ่ายผ่าน ช่องทางออนไลน์เป็นหลัก 

โดยผู้ใช้มากกว่า 1 ใน 3 มีรายได้น้อยกว่า 15,000 บาท/เดือน แต่ข้อดี ผู้ใช้เกือบทั้งหมด ไม่เคยผิดนัดชำระในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา 

 istock-1134562274

Buy Now Pay Later แตกต่างยังไงกับ บัตรเครดิต

หากมองดูผิวเผิน จะเห็นว่า โมเดล BNPL นั้น แทบไม่ต่างกับการผ่อนชำระสินค้าและบริการจากบัตรเดรดิตเลย แต่สิ่งที่แตกต่างและดึงดูดฐานลูกค้าได้มากกว่า คือ การไม่เก็บดอกเบี้ย หรือค่าธรรมเนียมประจำรายปี

  • สมัครง่าย

การสมัคร Buy Now Pay Later มีขั้นตอนที่ง่ายกว่าสินเชื่อประเภทอื่น ๆ เพราะในขั้นตอนการสมัครจะใช้เอกสารเพียงบัตรประชาชนเพียงใบเดียว ไม่ต้องขอเอกสารรับรองเงินเดือนหรือหลักฐานทางการเงินอื่น ๆ ให้ยุ่งยากเหมือนการขอสินเชื่อทั่วไป และยังอนุมัติให้ในเวลาอันสั้น

  • ตอบโจทย์กลุ่มนักเรียนนักศึกษา

การขอสินเชื่อหากคุณยังเป็นนักเรียนหรือนักศึกษาที่ยังไม่สามารถหารายได้ด้วยตัวเอง หรือมีรายได้ที่ไม่มีแหล่งที่มาชัดเจน จะยังไม่สามารถขอสินเชื่อได้ การสมัคร Buy Now Pay Later สมัครง่ายเพียงคุณมีอายุมากกว่า 20 ปี จึงได้รับความสนใจจากกลุ่มลูกค้าที่เป็นกลุ่มนักศึกษาที่ยังไม่มีรายได้ประจำเป็นอย่างมาก 

จะเห็นได้ จากร้านขายโทรศัพท์มือถือหรือขายแท็บเล็ต ก็หันมาจับธุรกิจแบบผ่อนก่อนใช้ทีหลัง ท โดยจะให้ลูกค้าผ่อนโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ตที่ต้องการโดยสามารถเลือกส่งเงินผ่อนทุกเดือนหรือทุกวัน ตามแต่การตกลงกันระหว่างลูกค้ากับร้านค้า แต่จะเป็นการผ่อนให้หมดก่อนแล้วจึงจะได้ของไปใช้ในภายหลัง หากลูกค้าผิดนัดชำระ สัญญาก็จะเป็นอันยกเลิก ซึ่งร้านค้าเองก็ได้กำไรจากตรงนี้ แต่หากลูกค้ามีวินัยในการผ่อนจนครบก็จะได้สินค้ามาใช้ตามที่ตกลงกันไว้ แต่ Buy Now Pay Later จะได้เปรียบตรงที่ได้ของมาก่อน แล้วค่อยผ่อนใช้ทีหลัง

  • ตอบโจทย์กลุ่มคนที่ยื่นกู้ยาก

ผู้ที่ไม่มีงานประจำหรือผู้ที่ทำงานฟรีแลนซ์ โอกาสในการยื่นขอสินเชื่อ หรือแม้แต่การทำบัตรเครดิตมีโอกาสที่จะได้รับการอนุมัติก็จะยากขึ้น เนื่องจากสถาบันทางการเงินที่เป็นเจ้าของสินเชื่อ จะพิจารณาหลักฐานทางการเงินของกลุ่มบุคคลเหล่านี้ว่ามีความมั่นคงไม่เพียงพอ จึงไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อให้ได้ ทำให้กลุ่มนี้สมัครสินเชื่อได้ยาก 

ขณะที่คนกลุ่มนี้สามารถสมัคร Buy Now Pay Later ได้สบาย ซึ่งข้อดีของ Buy Now Pay Later ที่เอื้อต่อผู้มีปัญหาในการสมัครบัตรเครดิตไม่ผ่าน จึงเป็นจุดแข็งของ BNPL ทำให้กลายเป็นคู่แข่งสำคัญของบัตรเครดิต

istock-1448220894

Buy Now Pay Later โมเดลเชิงจิตวิทยา ทำให้การเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว

โมเดล Buy Now Pay Later เข้ามาตีตลาดกลุ่มลูกค้าที่เข้าถึงสินเชื่อต่างๆ ได้ยาก เปลี่ยนมาให้เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ซื้อของและชำระเงินออนไลน์ ประกอบกับดอกเบี้ยที่ดูเหมือนจะเป็นมิตรหากคุณชำระตรงเวลา หรือเลือกการผ่อนชำระแบบดอกเบี้ย 0% คุณก็จะไม่เสียดอกเบี้ย นอกจากนี้ ยังไม่มีการกำหนดขั้นต่ำในการซื้อสินค้าเพื่อผ่อนอีกด้วย

แต่หากคุณต้องการผ่อนสินค้าแบบ 0% ด้วยบัตรเครดิต จะต้องมียอดใช้จ่ายมากกว่า 3,000 บาท จึงจะได้ผ่อนแบบปลอดดอกเบี้ย และหลายคนยังมองว่าเงินที่ต้องชำระให้กับ BNPL ไม่ใช่หนี้ที่ธนาคารออกให้ก่อน แต่เป็นเงินของตัวเองที่สามารถนำมาบริหารจัดการได้ทีหลัง ไม่จำเป็นต้องซื้อด้วยเงินก้อนใหญ่

ด้วยเหตุผลนี้ ถือได้ว่า เป็นข้อได้เปรียบของ Buy Now Pay Later เป็นโมเดลการเงินเชิงจิตวิทยา ที่ทำให้การเป็นหนี้ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด

istock-467972399

คนไทย กับ หนี้สิน

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยว่า ผลสำรวจสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยปี 66 และพฤติกรรมผู้ใช้งาน BNPL พบว่า

  • 1 ใน 3 ของคนไทยมีหนี้

  • กว่า 57% ของคนไทยมีหนี้เกิน 100,000 บาท

  • คนไทยมีหนี้ โดยเฉลี่ย 3 บัญชีต่อคน และกว่า 32% มี 4 บัญชีขึ้นไป

  • คนไทยมีหนี้ครัวเรือนเฉลี่ย 559,400 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11.5% 

  • เป็นหนี้ในระบบ 80% และอีก 20% เป็นหนี้นอกระบบ

  • มากกว่าครึ่งของเด็ก Gen Z ที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท ใช้บริการ BNPL และส่วนใหญ่ใช้จ่ายไปกับเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมเสี่ยงของเด็กรุ่นใหม่ที่อาจก่อหนี้เกินตัวในอนาคต

  • BNPL กระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการได้ง่ายขึ้น

  • บริการ BNPL ทำให้ผู้ใช้งานขาดวินัยการออมและการลงทุน 

โดยกลุ่มตัวอย่าง ยอมรับว่า สาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือนมาจากการขาดวินัยทางการเงิน รองลงมา รายรับไม่พอกับรายจ่าย วางแผนการลงทุนผิดพลาด และมีความรู้ทางการเงินไม่เพียงพอ

อ้างอิง : ธนาคารเเห่งประเทศไทย, Krungsri Prime, Thai Publica

istock-1421598277

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT