การเงิน

ราคาทองคำดีดตัวแข็งแกร่งช่วงสงคราม ลุ้นAll Time Highที่ 2,100 ดอลลาร์

28 ต.ค. 66
ราคาทองคำดีดตัวแข็งแกร่งช่วงสงคราม ลุ้นAll Time Highที่ 2,100 ดอลลาร์
ไฮไลท์ Highlight
ทีมนักเศรษฐศาสตร์บลูมเบิร์กคาดการณ์ว่า หากอิหร่านมีการเปิดหน้าเข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งอย่างเป็นทางการในการสู้รบครั้งนี้ สถานการณ์เช่นนี้อาจทำให้ราคาน้ำมันมีโอกาสปรับตัวขึ้นไปทำระดับสูงสุดที่ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกปรับตัวลง 1.7% หรือคิดเป็นมูลค่าการปรับตัวลงราว 1 ล้านล้านดอลลาร์ 

นับตั้งแต่การปะทุขึ้นของการสู้รบระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธในปาเลสไตน์ ราคาทองคำมีการปรับตัวขึ้นมาแล้วราว 150 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นในสัดส่วน 8.18% การปรับตัวขึ้นเช่นนี้ เกิดขึ้นจากแรงซื้อทองคำในฐานะ สินทรัพย์ปลอดภัยที่เพิ่มสูงขึ้น คล้ายกับการปะทุขึ้นของสมรภูมิรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ราคาทองคำทำระดับสูงสุดในปี 2022 ที่ระดับ 2,069 ดอลลาร์ต่อออนซ์

เป็นที่ทราบกันดีว่า ทองคำถูกยกให้เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ที่สามารถช่วยรักษาความมั่งคั่ง ทั้งในช่วงเวลาที่เผชิญกับภาวะเงินเฟ้อสูงและภาวะเศรษฐกิจหดตัว ซึ่งในภาวะสงครามนับเป็นภัยคุกคามต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยนางคริสติน่า จอร์เจียวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ชี้ว่า การสู้รบระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส นำเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะที่มืดมนมากยิ่งขึ้น ซึ่งมีการระบุเพิ่มเติมว่า ทาง IMF กำลังจับตากับความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ และผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะกับราคาน้ำมัน

ทั้งนี้ มีความกังวลว่า การสู้รบดังกล่าวจะขยายตัวด้วยการดึงประเทศกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันในตะวันออกกลางเข้ามาสู่ความขัดแย้งครั้งนี้ด้วย โดยเฉพาะอิหร่านที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นผู้สนับสนุนหลักของกลุ่มฮามาส ซึ่งประเทศกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดังกล่าว ครอบครองปริมาณน้ำมันขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ดังนั้น หากมีกาขยายตัวตามที่กังวล มีแนวโน้มที่จะส่งผลให้ปริมาณน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ราคาน้ำมันจึงพุ่งตัวขึ้นตอบรับกับความกังวลดังกล่าว

ทีมนักเศรษฐศาสตร์บลูมเบิร์กคาดการณ์ว่า หากอิหร่านมีการเปิดหน้าเข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งอย่างเป็นทางการในการสู้รบครั้งนี้ สถานการณ์เช่นนี้อาจทำให้ราคาน้ำมันมีโอกาสปรับตัวขึ้นไปทำระดับสูงสุดที่ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกปรับตัวลง 1.7% หรือคิดเป็นมูลค่าการปรับตัวลงราว 1 ล้านล้านดอลลาร์ 

สงครามอิสราเอล ฮามาส

ในอีกด้านหนึ่ง การปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมัน มีแนวโน้มทำให้ระดับเงินเฟ้อในหลายฟื้นที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่จะนำไปสู่การตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงอย่างยาวนานของธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)  

ข้อมูลจาก FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า แม้ในระยะอันใกล้ หรือการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) ระหว่างวันที่ 31 ต.ค. – 1 พ.ย. นักลงทุนยังเลือกเทน้ำหนักให้กับคาดการณ์ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.25-5.50% แต่หากพิจารณาในการประชุมเดือนธ.ค. ปีนี้ และม.ค. ปี 2024 จะพบว่า นักลงทุนมีการลงน้ำหนักถึงราว 40% ต่อคาดการณ์ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง สอดคล้องกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 2 ปี ที่อ่อนไหวต่อระดับอัตราดอกเบี้ยของเฟด มีการปรับตัวขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 ทศวรรษ หรือนับตั้งแต่ปี 2000 ข้อมูลทั้งหมดนี้บ่งชี้ว่า นักลงทุนยังคงไม่ได้ละทิ้งความเป็นไปได้ต่อแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งของเฟด

อนึ่ง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี ก็ทำการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ซึ่งทิศทางการปรับตัวขึ้นของอัตราตอบแทนดังกล่าวนั้น โดยปกติแล้ว จะเป็นปัจจัยกดดันของราคาทองคำ แต่เนื่องด้วยในสถานการณ์ปัจจุบัน ทองคำยังคงได้รับแรงซื้อในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง ทำให้แรงกดดันที่เกิดขึ้นนั้นจึงถูกบดบัง แต่กระนั้น สินทรัพย์ทางการเงินประเภทอื่น โดยเฉพาะหุ้นสามัญ นั้นยังคงมีการตอบสนองในเชิงลบต่อการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ

ด้วยเหตุนี้ ทองคำจึงได้รับแรงซื้อในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากประเด็นความขัดแย้งในปัจจุบัน ประกอบการที่นักลงทุนจำนวนมากเลือกปิดรับความเสี่ยงในการถือครองสินทรัพย์ทางการเงินประเภทอื่น แล้วเข้าซื้อทองคำ เพื่อกระจายความเสี่ยงและรักษามูลค่าความมั่งคั่งของตนไว้ 
ราคาทองคำ

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิภาคตะวันออกกลางให้ความเห็นว่า ผลลัพธ์จากความรุนแรงครั้งนี้ยังคงมีความไม่แน่นอน โดยทางฝั่งอิสราเอลมีการแสดงท่าทีว่าจะไม่ยอมอ่อนข้อให้กับกลุ่มฮามาส จนกว่าจะมีการปล่อยตัวประกันที่ถูกกักกันทั้งหมดออกมาอย่างไม่มีเงื่อนไข และแสดงถึงความพร้อมต่อการยกระดับปฎิบัติการทางทหารอีกด้วย แต่ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ประเทศพันธมิตรของอิสราเอล โดยเฉพาะสหรัฐ ที่อาจจะคัดค้านการดำเนินการรุบคืบหรือยกระดับความรุนแรงของกองทัพอิสราเอล เพื่อไม่ให้เกิดวิกฤติด้านสิทธิมนุษยชน สอดคล้องกับการแสดงจุดยืนของสหรัฐต่อการสนับสนุนกับอิสราเอลสำหรับเพียงเพื่อป้องกันตนเอง

ด้วยเหตุนี้ หลายฝ่ายจึงจับตาความพยายามทางการทูตของสหรัฐ รวมถึงประเทศตะวันตก ซึ่งหากสามารถทำให้สถานการณ์ไม่ถูกยกระดับความรุนแรงขึ้นไป ก็มีแนวโน้มทำให้นักลงทุนผ่อนคลายความวิตกกังวลจากสถานการณ์ดังกล่าวลงมาได้ ทองคำจึงอาจได้รับแรงซื้อในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยที่ชะลอตัวลง แต่หากสถานการณ์เป็นไปในทิศทางตรงข้าม คือมีการยกระดับความรุนแรงและขยายคู่ขัดแย้งออกไป ทองคำก็ยังจะได้รับแรงซื้ออย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ แม้ยังมีความเป็นไปได้ที่เฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 5.50-5.75% แต่ตราบใดที่ยังมีมติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่สถานการณ์การสู้รบนั้นเลวร้ายลง จนดันให้ราคาน้ำมันขึ้นไปแตะที่ระดับ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตามคาดการณ์ของทีมนักเศรษฐศาสตร์บลูมเบิร์ก ราคาทองคำถูกคาดการณ์ว่า อาจมีการปรับตัวขึ้นไปสร้างระดับสูงสุดใหม่ที่ 2,100 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยก่อนหน้าที่ระดับสูงสุดตลอดกาลของราคาทองคำอยู่ที่ 2,079 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ฐิภา นววัฒนทรัพย์

ฐิภา นววัฒนทรัพย์

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท YLG Bullion And Future จำกัด

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT