การเงิน

Capital Gain TAX คืออะไร? ทำไมถึงส่งผลกระทบต่อนักลงทุน

4 มิ.ย. 66
Capital Gain TAX คืออะไร? ทำไมถึงส่งผลกระทบต่อนักลงทุน

หลายคนคงได้ยินคำว่า Capital Gain TAX กันมาบ่อยๆ และมักจะได้ยินต่อว่ามันส่งผลกระทบต่อคนที่ลงทุนในตลาดหุ้น แต่มันมีที่มาอย่างไร และส่งผลกระทบแบบไหน มาทำความรู้จักในบทความนี้ครับ 

ก่อนอื่นเราต้องเริ่มต้นกับคำว่า Capital Gain กันก่อน นั่นคือ กำไรจากส่วนต่างราคา จากการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่ง โดยเราสามารถขายสินทรัพย์นั้นได้ในราคาที่สูงกว่าราคาที่เราซื้อมา

เช่น เราซื้อหุ้น A มาจำนวน 10,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 10 บาท และขายหุ้นทั้งหมดไปในราคา 15 บาทต่อหุ้น นั่นแปลว่าเกิดกำไรจากส่วนต่างราคาหรือ Capital Gain ในจำนวน 50,000 บาทครับ (150,000 - 100,000) 

ต้องบอกว่าหลักการของ Capital Gain นั้นนำไปปรับใช้กับสินทรัพย์ได้ทุกประเภทได้ครับ หรือถ้าเรียกง่ายๆ มันก็คือ กำไรจากการขายที่เกิดขึ้นนั่นแหละครับ ซึ่งตัวที่ตรงข้ามกับเจ้า Capital Gain ก็คือ Capital Loss หรือ ขาดทุนจากส่วนต่างราคา นั่นเองครับ 

ทีนี้พอเราเติมคำว่า TAX หรือภาษีเข้าไปหลังคำว่า Capital Gain มันย่อมหมายถึงการเก็บภาษีจากกำไรของส่วนต่างที่เกิดขึ้นครับ หรือจากตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นของหุ้น A คือ กำไรจากการขายจำนวน 50,000 บาท 

ซึ่งภาษีที่เกี่ยวข้องนั้น มันคือ ภาษีเงินได้ครับ โดยหลักการเก็บภาษีในปัจจุบันก็จะมีการยกเว้นให้กับสินทรัพย์บางประเภทที่เราคุ้นเคยกัน อย่างเช่น หุ้น หรือ กองทุนรวม ที่เข้าเงื่อนไขดังนี้ครับ 

กรณีของ หุ้น สำหรับบุคคลธรรมดาที่เป็นนักลงทุนในประเทศไทย มีการยกเว้น กำไรจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ และ กำไรจากตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเงินได้จากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (อ้างอิง : (ข้อ 2 (23) และ (75) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 126)

กรณีของ กองทุนรวม สำหรับบุคคลธรรมดาที่เป็นนักลงทุนในประเทศไทย มีการยกเว้น เงินได้จากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (อ้างอิง : (ข้อ 2 (32) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 126) และมีการยกเว้นให้กับกองทุนรวมลดหย่อนภาษีประเภทต่างๆ เช่น LTF RMF SSF ที่ได้นำมาลดหย่อนภาษีและถือครองครบตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด  (อ้างอิง : (ข้อ 2 (67), (92) และ (103) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 126)

นอกจากนั้นยังมีการยกเว้นภาษีให้สำหรับธุรกิจบางประเภท เช่น ยกเว้น Capital Gains Tax ให้กับนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในสตาร์ทอัพไทย (พระราชกฤษฏีกาฉบับที่ 750) ที่มีการปฎิบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด 

Capital Gain TAX คืออะไร?

ดังนั้นเราจะเห็นว่า โดยหลักการของกฎหมายนั้น หากไม่มีข้อยกเว้นต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ Capital Gain นั้นจะไม่ได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีเงินได้ที่เกิดขึ้น เช่น กำไรจากการขายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ หรือ กองทุนรวมลดหย่อนภาษีที่ไม่ได้ถือครองครบตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ก็จะต้องนำกำไรจากส่วนต่างราคาดังกล่าวมาคำนวณภาษีเงินได้ตามปกติ 

ทีนี้มาถึงประเด็นที่หลายคนถกถามกัน นั่นคือ รัฐควรเก็บภาษีเงินได้จากส่วนต่างของกำไรที่เกิดขึ้นไหม เพราะอะไร การจะตอบคำถามนี้ให้ได้ถูกต้องและถูกใจนั้น คงต้องแบ่งแยกคำถามนี้เป็น 2 ส่วน นั่นคือ 

  • การจัดเก็บภาษีจะส่งผลกระทบต่อมูลค่ารวมหรือสภาพคล่องของตลาดมากแต่เพราะการเก็บภาษีย่อมส่งผลกระทบให้นักลงทุนมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น (เมื่อมีกำไร) ซึ่งหากมีผลกระทบเช่นนั้นจริง ย่อมส่งผลต่อการลงทุนในประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นเดียวกัน

  • หลักการทางภาษีที่ชัดเจนว่าจะจัดเก็บอย่างไร เช่น ขาดทุนที่เกิดขึ้นนั้นจะสามารถนำมาหักออกจากผลกำไรที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ การเสียภาษีนี้จะแยกหรือรวมคำนวณกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามปกติ รวมถึงปัจจัยทางด้านภาษีอื่นๆ และ การให้สิทธิ์ประโยชน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการยกเว้นเงินได้เมื่อทำตามเงื่อนไข หรือประโยชน์อื่นใดเพิ่มเติมเพื่อประโยชน์ของการลงทุนระยะยาวของนักลงทุนที่ต้องพิจารณาต่อไป 

หากสามารถตอบคำถามทั้งสองส่วนนี้ได้อย่างชัดเจน รวมถึงวัดมูลค่าของภาษีเงินได้ที่คาดว่าได้รับ ร่วมกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวต่อการลงทุนในประเทศไทย ก็จะทำให้เราทุกคนได้รับคำตอบที่ถูกต้องและถูกใจนั่นเองครับ 

อย่างไรก็ดี นอกจากภาษีส่วนต่างกำไร (Capital Gain TAX) ยังมีประเด็นภาษีธุรกิจเฉพาะที่เกิดขึ้นจากขายหุ้น (Transaction TAX) ที่เคยถูกนำเสนอไว้ในก่อนหน้านี้ ว่าจะมีการนำมาบังคับใช้หรือไม่ในอนาคต และทั้งหมดนี้คือเรื่องที่เราต้องติดตามกันต่อไปครับ :)



ถนอม เกตุเอม

ถนอม เกตุเอม

ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี เจ้าของเพจ TAXBugnoms

advertisement

SPOTLIGHT