"เงินธุรกิจกับเงินส่วนตัว เหมือนแฟนกับภรรยา... ห้ามไปปนกัน!" เดี๋ยวก่อนนน มันจะเป็นแบบนั้นได้ยังไงกันเล่า! เอาใหม่ครับ …
เวลาผมไปบรรยายเรื่องภาษีธุรกิจ จุดแรกที่ผมมักจะแนะนำนั้น ไม่ใช่การประหยัดภาษีให้มากที่สุด แต่เป็นการเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องของ เงินส่วนตัว กับ เงินธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กที่เริ่มต้นไปจนถึงกลางที่รู้สึกว่ายังวางระบบไม่ดี
เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่พูดง่าย แต่ทำยากครับ เนื่องจากเจ้าของธุรกิจมักจะเข้าใจว่า ทุกอย่างใช้ร่วมกันได้ เพราะนี่ก็ตัวเรา และ นี่ก็ธุรกิจที่เราเป็นเจ้าของ
แต่โลกของการเงิน บัญชี และภาษีไม่ใช่แบบนั้นครับ เมื่อเราเอาเงินธุรกิจกับเงินส่วนตัวไปปนกันแล้วมันจะเกิดคำถามตามมามากมาย
เมื่อหลายคนอ่านมาถึงตรงนี้ อาจจะตอบกลับมาว่า แล้วมันจะเป็นไรไปเล่า ถ้าไม่ได้คิดจะมีหุ้นส่วน ไม่ได้อยากจะขอสินเชื่อ ยื่น ๆ เสียภาษีไปบ้างให้สรรพากรไม่มายุ่ง ส่วนเงินในบัญชีทั้งหมดถ้าเพิ่มขึ้นก็พอแล้ว แบบนี้ก็ไม่ต้องแยกเงินก็ได้นี่นา
ใช่ครับ แต่ชีวิตจะเป็นแบบนี้ไปตลอดจริงๆ หรือเปล่า อันนี้ผมก็ไม่แน่ใจ สิ่งที่ผมอยากจะถามกลับคือ แล้วทำไมถึงไม่อยากทำให้ทุกอย่างถูกต้องล่ะครับ
เพื่อความเข้าใจเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น ลองมาดูตัวอย่างกันครับ
สมมติว่าคุณเปิดธุรกิจยอดฮิตอย่างร้านขายกาแฟ คุณตรวจสอบยอดขายประจำวันได้ 5,000 บาท แต่เอาไปซื้อของกินส่วนตัวจำนวน 2,000 บาทเพื่อเป็นรางวัลชีวิต แบบนี้เราจะบอกได้ไหมครับว่า ธุรกิจมีกำไร 3,000 บาท
คำตอบคือไม่ได้ถูกไหมครับ เพราะยังไม่หักต้นทุนกาแฟ ค่าเช่า ค่าไฟฟ้า น้ำประปา ค่าจ้างพนักงาน อุปกรณ์ต่าง ๆ จริง ๆ อาจจะขาดทุนอยู่ก็ได้
ลองมองต่อไปอีกสักหน่อย ถ้าจากตัวอย่างนี้คุณขายกาแฟได้ 100 แก้ว (คิดเป็นราคาขายแก้วละ 50 บาท) คุณจะรู้ได้ยังไงว่า ราคาขายที่ตั้งไว้นั้นถูกต้อง ? ในเมื่อคุณไม่ได้แยกต้นทุนที่ถูกต้องไว้ตั้งแต่แรก
ลองคิดต่ออีกสักหน่อยครับ สมมติว่า ค่าใช้จ่ายรายวันของร้านประกอบด้วยรายการต่อไปนี้
รวมต้นทุนทั้งหมด คือ 3,000 บาท ถ้าวันนี้ขายได้ 100 แก้วคิดเป็นเงิน 5,000 บาท ก็แปลว่า กำไร 2,000 บาท คิดเป็นกำไรต่อแก้ว คือ 20 บาท!! แบบนี้ก็ถือว่าดี เยี่ยมไปเลย
แต่ถ้าคุณคิดให้ดีกว่านี้ กำไรที่แท้จริงควรต่ำกว่า 20 บาทครับ เพราะคุณยังไม่ได้คิด “ต้นทุน” ของตัวเองในการทำร้านไว้ตั้งแต่แรก ซึ่งถ้าคุณอยากได้ส่วนแบ่งจากกิจการมาใช้ส่วนตัว คุณอาจจะต้องประเมินต้นทุนรายวันของตัวเองเพิ่มเข้าไป เพื่อให้ “กันเงิน” ส่วนนี้แยกออกมาจากธุรกิจ และทำให้คุณมี “ค่าจ้าง” ส่วนตัวที่ไม่ปะปนกัน
มาถึงตรงนี้น่าจะพอเห็นแล้วใช่ไหมครับว่า ถ้าเราคำนึงถึงการแยกเงินระหว่างส่วนตัวกับธุรกิจ เราจะวัดผลกำไรที่ถูกต้องได้ และแยก “เงิน” ส่วนตัวที่เราได้ออกมาอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ทีนี้ถ้าพอมองเห็นแล้ว ผมคิดว่าเรามาดูวิธีการจัดการดีกว่าว่าเราจะแยกเงินได้อย่างไร วิธีการง่าย ๆ ที่สุด คือ การแยกบัญชีให้ชัดครับ เหมือนเป็นการแยกออกเป็น 2 ร่าง ระหว่างธุรกิจกับตัวเรา โดย
กฎข้อสำคัญ คือ อย่าไปใช้ปนกัน อย่าไปจ่ายให้กันโดยที่ไม่จำเป็น อย่างเช่นธุรกิจร้านกาแฟเมื่อกี้ ถ้าวันนี้มีกำไรจากธุรกิจ เราอาจจะตัดส่วนนึงโอนเข้าบัญชีส่วนตัวเพื่อแยกเงินมาใช้ หรือ ใช้วิธีการจ่ายเป็นรายเดือนก็ได้ เช่น กำไรวันละ 2,000 บาท ทั้งเดือน คือ 60,000 บาท เราจะกันเป็นเงินเดือนตัวเอง 30,000 บาทไว้ใช้ตามใจชอบอย่างมีความสุข ส่วนที่เหลือก็ใช้สำหรับการทำธุรกิจ
และถ้าหากธุรกิจนี้มีการขยับขยาย เติบโตขึ้นกลายเป็นบริษัท (นิติบุคคล) การทำแบบนี้ก็เหมือนการกำหนดผลตอบแทนที่ถูกต้องให้กับเจ้าของ (ที่ทำงานให้กับธุรกิจ) เหมือนกันครับ
สรุปแล้ว การแยกเงินส่วนตัวกับเงินธุรกิจ ไม่ใช่แค่เรื่องของระเบียบวินัย หรือทำไปเท่ ๆ แต่เป็นเรื่องของความอยู่รอด และการเติบโตของธุรกิจครับ
เริ่มต้นง่าย ๆ ได้เลยวันนี้ แค่เปิดบัญชีธนาคารแยกกัน ตั้งกฎง่าย ๆ ว่า "เงินธุรกิจใช้เพื่อธุรกิจ เงินส่วนตัวใช้เพื่อตัวเอง" แล้วลองทำดูสัก 3 เดือน ผมเชื่อว่าคุณจะเริ่มเห็นภาพธุรกิจที่ชัดเจนขึ้นเยอะเลย
สุดท้ายอย่าลืมว่า ธุรกิจที่ดีที่สุด คือธุรกิจที่เราเข้าใจตัวเลขของมันจริง ๆ เพราะตัวเลขที่ถูกต้องนั้นแหละครับ ที่จะช่วยให้เราตัดสินใจได้อย่างชาญฉลาด ไม่ว่าจะเป็นการขยายธุรกิจ การปรับราคา หรือแม้แต่การวางแผนจัดการภาษี…