Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
รู้ทันทุกทางเลือก ลดหย่อนภาษีให้คุ้มค่า ก่อนสิ้นปี!
โดย : ราชันย์ ตันติจินดา

รู้ทันทุกทางเลือก ลดหย่อนภาษีให้คุ้มค่า ก่อนสิ้นปี!

16 พ.ย. 67
00:00 น.
|
253
แชร์

Highlight

ไฮไลต์

  • เพื่อให้การลดหย่อนภาษีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ควรพิจารณาเลือกใช้สิทธิที่เหมาะสมกับสถานการณ์และเป้าหมายทางการเงินของตนเอง

  • การวางแผนล่วงหน้าและการศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดจะช่วยให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการลดหย่อนภาษี และสามารถสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน

  • ปี 2567 นี้ สำหรับคนที่มีเงินพร้อมใช้สิทธิ อาจเลือกใช้เต็มสิทธิทุกอย่างรวมสูงสุด 900,000 บาท เพื่อให้ได้เงินคืนภาษีสูงสุด 315,000 บาท (ฐานภาษี 35%)

ใกล้สิ้นปี นอกจากเทศกาลงานเลี้ยงคริสต์มาสและปีใหม่แล้ว สำหรับคนวัยทำงานแทบทุกคนยังมีเทศกาลลดหย่อนภาษีที่ต้องให้ความสำคัญด้วย เพราะเป็นสิ่งที่จะส่งผลให้ มี.ค.ปีหน้าจะได้เงินภาษีคืนหรือต้องจ่ายเพิ่มเท่าไรกันแน่

ปี 2567 นี้ สำหรับคนที่มีเงินพร้อมใช้สิทธิ อาจเลือกใช้เต็มสิทธิทุกอย่างรวมสูงสุด 900,000 บาท เพื่อให้ได้เงินคืนภาษีสูงสุด 315,000 บาท (ฐานภาษี 35%) แต่สำหรับคนที่มีเงินจำกัดใช้สิทธิได้แค่บางทางเลือก หรืออยากให้เงินที่ใช้สิทธิไปได้ประโยชน์กลับมาตอบโจทย์ตนเองที่สุด

บทความนี้จะมาชวนให้ทุกคนเข้าใจลักษณะเด่นของแต่ละทางเลือก และช่วยให้สามารถเลือกใช้สิทธิได้เหมาะกับตนเองที่สุด

รู้จัก 6 ทางเลือก ลดหย่อนภาษี

1.กองทุน ThaiESG

  • เงื่อนไขการลงทุน

-ลงทุนได้ไม่เกิน 30%ของเงินได้พึงประเมินทั้งปีที่เสียภาษี สูงสุด 300,000 บาท เช่น คนที่มีรายได้ปีละ 1 ล้านบาทขึ้นไป สามารถลงทุนได้สูงสุด 300,000 บาท เป็นต้น

-เงินที่ลงทุนแต่ละครั้งต้องถืออย่างน้อย 5 ปีเต็ม เช่น เงินที่ลงทุน 30 พ.ย. 67 จะขายคืนได้ตั้งแต่ 1 ธ.ค. 72 เป็นต้นไป ส่วนเงินที่ลงทุน 30 ธ.ค. 67 จะขายคืนได้ตั้งแต่ 2 ม.ค. 73 เป็นต้นไป เป็นต้น

  • นโยบายการลงทุน

- มีทั้งแบบที่เน้นลงทุนหุ้นไทย เน้นลงทุนตราสารหนี้ไทย และกองทุนผสมที่ลงทุนทั้งหุ้นไทยและตราสารหนี้ไทย โดยอาจไม่มีการลงทุนต่างประเทศหรือมีแต่น้อยมาก

-สินทรัพย์ที่ลงทุน ส่วนใหญ่ต้องเป็นหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจและโครงการเกี่ยวกับ ESG หรือการลงทุนที่มีความยั่งยืนภายในประเทศไทย

2.กองทุน SSF

  • เงื่อนไขการลงทุน

-ลงทุนได้ไม่เกิน 30%ของเงินได้พึงประเมินทั้งปีที่เสียภาษี สูงสุด 200,000 บาท* เช่น คนที่มีรายได้ปีละ 666,6667 บาทขึ้นไป สามารถลงทุนได้สูงสุด 200,000 บาท เป็นต้น

- เงินที่ลงทุนแต่ละครั้งต้องถืออย่างน้อย 10 ปีเต็ม เช่น เงินที่ลงทุน 30 พ.ย. 67 จะขายคืนได้ตั้งแต่ 1 ธ.ค. 77 เป็นต้นไป ส่วนเงินที่ลงทุน 30 ธ.ค. 67 จะขายคืนได้ตั้งแต่ 2 ม.ค. 78 เป็นต้นไป เป็นต้น

  • นโยบายการลงทุน

-สามารถลงทุนได้ทั้งสินทรัพย์ในไทยหรือต่างประเทศ โดยจะเป็นหุ้น ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ หรือสินทรัพย์ทางเลือกอย่างทองคำก็ได้

-สินทรัพย์ที่ลงทุนมีความหลากหลายมากกว่ากองทุน ThaiESG แต่ยังหลากหลายน้อยกว่ากองทุน RMF เนื่องจากกองทุน SSF สามารถใช้สิทธิได้เฉพาะเงินที่ลงทุนในปี 2563-2567 เท่านั้น (กรณีไม่มีประกาศเปลี่ยนแปลง) บลจ. จึงมีการออกกองทุน SSF ไม่หลากหลายเท่ากองทุน RMF

3.กองทุน RMF

  • เงื่อนไขการลงทุน

-ลงทุนได้ไม่เกิน 30%ของเงินได้พึงประเมินทั้งปีที่เสียภาษี สูงสุด 500,000 บาท* เช่นคนที่มีรายได้ปีละ 1.67 ล้านบาทขึ้นไป สามารถลงทุนกองทุน RMF ได้สูงสุด 500,000 บาท คนที่มีรายได้ปีละ 1 ล้านบาทขึ้นไป สามารถลงทุนกองทุน RMF ได้สูงสุด 300,000 บาท และกองทุน SSF ได้สูงสุดอีก 200,000 บาท รวมเต็มสิทธิ 500,000 บาท*

-ต้องลงทุนต่อเนื่องถึงอายุ 55 ปีบริบูรณ์ และต้องลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปีเต็ม จึงจะสามารถขายคืนหรือหยุดการลงทุนได้ เช่น คนอายุ 41 ปี ลงทุน RMF เป็นครั้งแรก ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ไปจนถึงอายุ 55 ปีขึ้นไป หรือประมาณ 15 ปี คนอายุ 53 ปี ลงทุน RMF เป็นครั้งแรก ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ไปไม่น้อยกว่า 5 ปี (แม้อายุเกิน 55 ปีก็ตาม) และต้องถือเงินลงทุนไปจนถึงอายุ 58 ปีขึ้นไป

  • นโยบายการลงทุน

สามารถลงทุนได้ทั้งสินทรัพย์ในไทยหรือต่างประเทศ โดยจะเป็นหุ้น ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ หรือสินทรัพย์ทางเลือกอย่างทองคำก็ได้

4.ประกันชีวิตแบบบำนาญ

-นำเบี้ยที่จ่ายจริง มาใช้สิทธิได้ไม่เกิน 15%ของเงินได้พึงประเมินทั้งปีที่เสียภาษี สูงสุด 200,000 บาท* เช่น คนที่มีรายได้ปีละ 1.33 ล้านบาทขึ้นไป จ่ายเบี้ยไปจริง 300,000 บาท สามารถนำเบี้ยมาใช้สิทธิได้ 200,000 บาท

-จำนวนปีที่จ่ายเบี้ยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละแบบประกันและแต่ละบริษัทประกัน เช่น จ่ายเบี้ย 5 ปี 10 ปี หรือจ่ายจนถึงอายุ 55 ปี 60 ปี เป็นต้น

- ผลประโยชน์ จะได้รับเป็นเงินรายงวดหลังเกษียณ เช่น ได้รับเงินในจำนวนที่แน่นอนทุกปี ตอนอายุ 55 – 85 ปี เป็นต้น

5.ประกันชีวิตทั่วไป

-นำเบี้ยที่จ่ายจริง มาใช้สิทธิได้ สูงสุด 100,000 บาท** ไม่ว่าจะรายได้เท่าไรก็ตาม เช่น จ่ายเบี้ยไปจริง 300,000 บาท สามารถนำเบี้ยมาใช้สิทธิได้ 100,000 บาท

-จำนวนปีที่จ่ายเบี้ยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละแบบประกันและแต่ละบริษัทประกัน เช่น แบบที่จ่ายเบี้ย 5 ปี 10 ปี หรือจ่ายจนถึงอายุ 55 ปี 60 ปี เป็นต้น

ผลประโยชน์ จะได้รับเป็นเงินรายปีจำนวนที่แน่นอนระหว่างสัญญา และ/หรือ เงินก้อนตอนครบสัญญา ซึ่งต้องมีระยะเวลาครบสัญญาไม่น้อยกว่า 10 ปี นับตั้งแต่ซื้อประกันชีวิต หรืออาจไม่มีเงินคืนหรือเงินครบเลยก็ได้ขึ้นอยู่กับแบบประกัน

ลักษณะแบบประกันชีวิต

ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ >> เน้นตอบโจทย์ให้ผลตอบแทนเป็นเงินคืนระหว่างสัญญา และ/หรือ เงินครบสัญญา เหมาะไว้ใช้เพื่อสะสมเงินหรือเป็นการเลือกเก็บเงินความเสี่ยงต่ำ

ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา >> เน้นตอบโจทย์ความคุ้มครองชีวิตในช่วงเวลาหนึ่ง เช่น 10 ปี 15 ปี 20 ปี เป็นต้น ซึ่งหากเสียชีวิตระหว่างสัญญา ครอบครัวหรือผู้รับผลประโยชน์จะได้รับเงินก้อนโตเมื่อเทียบกับเบี้ยที่จ่ายไป แต่หากมีชีวิตอยู่จนครบสัญญาจะไม่มีเงินคืนหรือเงินครบสัญญาใดๆ เสมือนเป็นการจ่ายเบี้ยทิ้งเพื่อแลกกับความคุ้มครองชีวิต

ประกันชีวิตแบบคุ้มครองตลอดชีพ >> เน้นตอบโจทย์คุ้มครองชีวิตยาวๆ จนถึงอายุ 90-99 ปี เพื่อเป็นหลักประกันให้ครอบครัวและเป็นมรดกให้ลูกหลาน แต่หากมีชีวิตอยู่จนครบสัญญา (เช่น ตอนอายุ 90-99 ปี) จะได้รับเงินก้อนครบสัญญา โดยอาจมีเงินคืนระหว่างสัญญาหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับแบบประกัน

6.ประกันสุขภาพ

-นำเบี้ยที่จ่ายจริง มาใช้สิทธิได้ สูงสุด 25,000 บาท** ไม่ว่าจะรายได้เท่าไรก็ตาม

-แบบประกันมักกำหนดให้จ่ายเบี้ยต่อสัญญาทุกปี ไปจนถึงอายุสูงสุดที่คุ้มครอง เช่น ถึง อายุ 80 ปี หรือ 99 ปี

-เบี้ยประกันที่จ่ายแต่ละปี มักไม่เท่ากัน โดยยิ่งอายุมากขึ้น เบี้ยประกันมักยิ่งสูงขึ้น โดยอาจสูงขึ้นทุกปี หรือทุก 5 ปี ขึ้นอยู่กับแบบประกัน

-ผลประโยชน์ที่ได้รับ จะระบุไว้ในแบบประกัน เช่น คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลและค่าห้องพักเมื่อนอนโรงพยาบาล ตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่เกินวงเงินคุ้มครองที่กำหนด เป็นต้น

SSF + RMF + ประกันบำนาญ + กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ + กบข. + กองทุนสงเคราะห์โรงเรียนเอกชน + กอช. รวมกันใช้สิทธิได้สูงสุดปีละ 5 แสนบาท ส่วนเบี้ยประกันชีวิต + เบี้ยประกันสุขภาพตนเอง รวมกันใช้สิทธิได้สูงสุดปีละ 1 แสนบาท

เลือกลดหย่อนทางไหนดี

1) เป็นผู้หารายได้หลักให้ครอบครัว

แนะนำใช้สิทธิประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา หรือประกันชีวิตแบบคุ้มครองตลอดชีพ โดยแปลงเบี้ยประกันปีละ 100,000 บาท เป็นทุนประกันคุ้มครองชีวิตหลักล้านบาท เพื่อเป็นหลักประกันหรือเงินก้อนให้ครอบครัวได้ใช้จ่าย เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น

หลังจากมีหลักประกันให้ครอบครัวจนสบายใจแล้ว แนะนำเน้นใช้สิทธิในทางเลือกที่เป็นการลงทุน ผ่านกองทุน ThaiESG / SSF / RMF ที่เป็นกองทุนหุ้นหรือกองทุนผสม เพื่อผลตอบแทนระยะยาว สร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับตนเองในอนาคต

2) กังวลกับค่ารักษาพยาบาลยามเจ็บป่วย

แนะนำใช้สิทธิประกันสุขภาพ โดยแปลงเบี้ยประกันปีละหลักหมื่น เป็นวงเงินค่ารักษาพยาบาลหลักแสนหรือหลักล้าน

สำหรับคนทำอาชีพฟรีแลนซ์หรือไม่มีสวัสดิการ ควรเลือกประกันสุขภาพแบบที่คุ้มครองค่ารักษาตั้งแต่บาทแรก ส่วนมนุษย์เงินเดือนที่มีสวัสดิการที่ทำงานอยู่บ้างแต่กังวลว่าจะไม่เพียงพอ อาจเลือกประกันสุขภาพแบบที่มี deductible หรือความรับชอบส่วนแรกที่ประกันยังไม่คุ้มครอง เช่น 30,000-50,000 บาทแรก หากมีศักยภาพที่สามารถจ่าย 30,000-50,000 บาทแรกเองได้ หรือเบิกจากสวัสดิการที่มี เพื่อประหยัดค่าเบี้ยที่ต้องจ่ายลง

3) อยากเก็บเงิน แต่รับความเสี่ยงได้ต่ำหรือไม่เคยลงทุน

แนะนำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ หรือประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่จะได้รับผลตอบแทนในจำนวนที่แน่นอนตามสัญญา ไม่ผันผวนหรือขึ้นลงเหมือนการลงทุน

หลังจากใช้สิทธิในประกันทั้งสองแบบเต็มสิทธิแล้ว แนะนำใช้สิทธิเพิ่มในกองทุน ThaiESG / SSF / RMF โดยไม่จำเป็นต้องเป็นกองทุนตราสารหนี้เสมอไป อาจเลือกแบ่งเงินไปลงทุนกองทุนผสมบ้าง เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้น ซึ่งด้วยเงื่อนไขการลงทุนระยะยาวของกองทุนทั้งสามแบบ คาดว่าเมื่อครบเงื่อนไขมูลค่าเงินที่ลงทุนไปมีโอกาสที่จะเห็นเป็นกำไรมากกว่าขาดทุน

4) อยากลงทุน ต่อยอดเงินให้งอกเงย

-แนะนำลงทุนในกองทุน ThaiESG ที่มีเงื่อนไขต้องถือลงทุนเพียง 5 ปี ซึ่งสั้นกว่ากองทุน SSF/RMF และประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์/บำนาญ

-หลังจากใช้สิทธิในกองทุน ThaiESG เต็มสิทธิแล้ว แนะนำใช้สิทธิเพิ่มในกองทุน SSF/RMF โดยพิจารณาจาก

-อายุไม่ถึง 45 ปี แนะนำลงทุนกองทุน SSF ที่ต้องถือลงทุน 10 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่สั้นกว่ากองทุน RMF สำหรับคนช่วงอายุนี้

- อายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป แนะนำลงทุนกองทุน RMF ที่ต้องลงทุนต่อเนื่องถึงอายุ 55 ปี (และไม่น้อยกว่า 5 ปี) ซึ่งเป็นระยะเวลาที่สั้นกว่ากองทุน SSF สำหรับคนช่วงอายุนี้

-นโยบายการลงทุนของกองทุน ThaiESG / SSF / RMF

- แนะนำเน้นลงทุนในกองทุนผสมหรือกองทุนหุ้น ที่แม้มีความเสี่ยงสูง แต่ด้วยเงื่อนไขการลงทุนระยะยาวจะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่ากองทุนตราสารหนี้

-สำหรับกองทุน SSF / RMF แนะนำเป็นกองทุนผสม/หุ้น/สินทรัพย์ทางเลือก ที่เน้นลงทุนต่างประเทศ เพื่อกระจายการลงทุน เนื่องจากเงินลงทุนกองทุน ThaiESG เป็นเงินลงทุนที่กระจุกตัวในไทยเป็นหลัก

เพื่อให้การลดหย่อนภาษีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ควรพิจารณาเลือกใช้สิทธิที่เหมาะสมกับสถานการณ์และเป้าหมายทางการเงินของตนเอง การวางแผนล่วงหน้าและการศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดจะช่วยให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการลดหย่อนภาษี และสามารถสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน

ราชันย์ ตันติจินดา

ราชันย์ ตันติจินดา

นักวางแผนการเงิน CFP

แชร์
รู้ทันทุกทางเลือก ลดหย่อนภาษีให้คุ้มค่า ก่อนสิ้นปี!