บริษัทขอชี้แจง ดังนี้
เมื่อผู้สอบบัญชีตรวจพบความผิดปกติของรายการจ่ายเงินล่วงหน้าค่าสินค้า และรายการรับชำระหนี้ลูกหนี้การค้าของ PDITL และได้แจ้งให้บริษัททราบ คณะกรรมการและผู้บริหารชุดใหม่จึงได้สั่งการให้มีทำการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) ควบคู่ไปกับการขยายผลการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินที่ผิดปกติ (forensic accounting) โดยผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง จากการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดของทั้ง 3 ฝ่าย จึงทำให้ทราบถึงลักษณะการทำรายการที่ผิดปกติ จำนวนเงินและบุคคลที่เกี่ยวข้อง
โดยคณะกรรมการและผู้บริหารชุดใหม่ต่างก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหา โดยได้ทำการปรับปรุงรายการบัญชีที่เกี่ยวข้องเพื่อให้งบการเงินฉบับตรวจสอบประจำปี 65 สะท้อนสถานะทางการเงินที่แท้จริงของบริษัท
รวมถึงยังได้สอบสวนกรรมการ ผู้มีอำนาจทำธุรกรรมทางการเงินของบริษัทและ PDITL ณ ขณะนั้นเพื่อสอบข้อเท็จจริง และหาหลักฐานที่เกี่ยวข้องประกอบการดำเนินคดีจนถึงที่สุดกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมที่ผิดปกติและทำให้บริษัทเสียหายทั้งหมด
โดยเมื่อตรวจสอบรายการทางบัญชีที่ผิดปกติของ PDITL พบว่า มีรายการที่ได้บันทึกบัญชีเป็นค่าซื้อวัตถุดิบ แต่ PDITL ไม่ได้จ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้การค้า (supplier) ที่แท้จริง และ PDITL ยังได้โอนเงินกลับมาค่าซื้อวัตถุดิบให้แก่ บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (APDE) โดย APDE ได้โอนเงินบางส่วนกลับมายัง PDITL เพื่อชำระเงินในนามลูกหนี้การค้าที่ไม่มีอยู่จริง
ดังที่ได้ปรากฏในงบการเงินว่า APDE เป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทนั้น
บริษัทขอเรียนชี้แจงว่า การทำรายการที่ผิดปกติทั้งหมดเกิดขึ้นในเดือน ธ.ค.2565 เป็นการดำเนินการภายใต้อำนาจของคณะกรรมการผู้มีอำนาจและผู้บริหารที่ดำรงตำแหน่งและมีอำนาจสั่งการอยู่ในขณะนั้นของ APDE ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินงานประจำ (day-to-day operation) ของ APDE ไม่ได้ทำภายใต้คำสั่งของผู้ถือหุ้น
การดำเนินการดังกล่าวไม่ได้ทำภายใต้คำสั่งของผู้ถือหุ้นและไม่ได้อยู่ในอำนาจของผู้ถือหุ้น ซึ่งไม่ได้มีมีหน้าที่รับผิดชอบการดำเนินงานประจำ (day-to-day operation) ของบริษัท APDE แต่อย่างใด
ทั้งนี้ เมื่อคณะกรรมการและผู้บริหารชุดใหม่ได้รับทราบเกี่ยวกับธุรกรรมอันผิดปกติดังกล่าวก็ได้ดำเนินการเปลี่ยนตัวกรรมการและกรรมการผู้มีอำนาจลงนามในวันที่ 8 พ.ค.66
บริษัทอยู่ระหว่างการดำเนินกระบวนทางกฎหมายเพื่อเอาผิดบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมที่ผิดปกติและทำให้บริษัทเสียหาย โดยบริษัทจะให้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นกรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในการตรวจสอบและดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าว
รวมถึง เมื่อได้รับผลสรุปการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) และการขยายผลการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินที่ผิดปกติ (forensic accounting) จากผู้สอบบัญชี และผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องก็จะนำส่งข้อมูลดังกล่าวให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว เพื่อสนับสนุนการดำเนินการของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินดดีกับกระบวนทางกฎหมายเพื่อเอาผิดบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมที่ผิดปกติและทำให้บริษัทเสียหาย