ข่าวเศรษฐกิจ

ลูกหนี้ถูกฟ้องร้องเป็นคดีความพุ่งสูง ! ทางรอดลูกหนี้อยู่ที่ไหน ?

18 พ.ค. 67
ลูกหนี้ถูกฟ้องร้องเป็นคดีความพุ่งสูง ! ทางรอดลูกหนี้อยู่ที่ไหน ?
ไฮไลท์ Highlight
“เราเห็นอาการที่เรียกกันว่าแผ่นดินไหวเนี่ยในสินเชื่อเริ่มจากรถยนต์ นะครับไหวแรงและต่อที่สินเชื่อบ้าน แล้วตามมาด้วยสินเชื่อบัตรเครดิต ส่วนสินเชื่อบุคคลเป็นปัญหาเรื้อรังอยู่แล้ว ที่กังวลคือถ้ามันมีอะไรที่เป็นปัจจัยลบแรงๆเข้ามาเกรงว่าจะเกิด DEBT Tsunami ท่วมทะลักเข้ามาในหนี้ครัวเรือนไทย ซึ่งตอนนี้อยู่ที่ 91.3% ของจีดีพี”

คนไทยเป็นหนี้บัตรเครดิตสูงถึง 24 ล้านใบ มูลค่าอยู่ที่ 550,000 กว่าล้านบาท ตัวเลขไตรมาสที่หนึ่งนั้นพบหนี้เสียบัตรเครดิตพุ่งขึ้นก้าวกระโดด ตอกย้ำว่าสถานการณ์การเป็นหนี้ของคนไทยนั้นน่าเป็นห่วงมากเพิ่มเติมจากก่อนหน้านี้มีกรณีหนี้รถยนต์ หนี้บ้าน หนี้บัตรเครดิต ที่กําลังปูดขึ้นสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการจ่ายขั้นต่ำที่สูงขึ้นจากปี 2566 ที่การจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตอยู่ที่ 5% แต่ปีนี้ 8% มุมมองของ คุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์กับ SPOTLIGHT Live Talk ถึงแนวโน้มและแนวทางการแก้ปัญหา (รับชม VDO เต็มที่ด้านล่าง) 

artboard1copy_38

หนี้เสียและการผิดนัดชำระหนี้บัตรเครดิตพุ่ง 

ตัวเลข​ ณ​ มีนาคม​ 2567​ ยอดหนี้บัตรเครดิตทั้งหมด​ 24ล้านใบมูลค่า ​ 5.5แสนล้านบาทเติบโต​ 3.2% yoy ถ้าเทียบจากสิ้นปี​ 2566​ หดตัว​ 5.1% qoq แต่ตัวเลขบัญชีสินเชื่อบัตรเครดิตที่เป็น​ NPLs​ ค้างเกิน​ 90 วันจะมีจำนวน​ประมาณ​ 1 ล้านบัตรเศษคิดเป็นยอดเงิน​ 6.4หมื่นล้านบาทเติบโต​ 14.6% yoy  ส่วนดูยอดหนี้ที่เป็น​ SM หรือหนี้ที่กำลังจะเสียพบว่ามีจำนวนบัตรที่ชำระหนี้ได้แบบตะกุกตะกัก​ ติดๆขัดๆ​ 1.9 แสนบัตรครับ​ จำนวนเงิน​ 1.2หมื่นล้านบาทเติบโต​ 32.4% yoy ซึ่งอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง 

“เราเห็นอาการที่เรียกกันว่าแผ่นดินไหวเนี่ยในสินเชื่อเริ่มจากรถยนต์ นะครับไหวแรงและต่อที่สินเชื่อบ้าน แล้วตามมาด้วยสินเชื่อบัตรเครดิต ส่วนสินเชื่อบุคคลเป็นปัญหาเรื้อรังอยู่แล้ว ที่กังวลคือถ้ามันมีอะไรที่เป็นปัจจัยลบแรงๆเข้ามาเกรงว่าจะเกิด DEBT Tsunami ท่วมทะลักเข้ามาในหนี้ครัวเรือนไทย ซึ่งตอนนี้อยู่ที่ 91.3% ของจีดีพี”

คุณสุรพลมองว่า การเติบโตของหนี้ครัวเรือนไทยกำลังโตเร็วและแรงกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยข้อสังเกตของนักวิชาการเห็นหนี้ครัวเรือนโตขึ้นประมาณ 3% แต่จีดีพีไทยโตขึ้นเต็มที่ราว 2.6% ฉะนั้นโอกาสที่หนี้ครัวเรือนไทยจะลดลงไปที่ 80% ของGDP เป็นเรื่องยาก 

เงื่อนไขสําคัญของปัญหาหนี้บัตรเครดิตที่เพิ่มสูงขึ้น คุณสุรพล มองว่า มาจากอัตราการจ่ายขั้นต่ำที่สูงขึ้นจากปี 2566 ที่ 5% มาปี 2567 ขึ้นมาเป็น 8% และในปั 2568 จะเป็น 10%ในขณะที่มาตรการแก้หนี้ยั่งยืนหรือว่าสั่งการให้แบงก์กู้อย่างมีความรับผิดชอบพึ่งเริ่มต้นได้ราว ซัก 3 เดือนเท่านั้น ดังนั้นจึงทำให้หนี้เสียบัตรเครดิตและการผิดนัดชำระโตแบบก้าวกระโดด 

ตัวเลขลูกหนี้ถูกฟ้องร้องพุ่งสูง 

ข้อมูลจากคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ที่รวบรวมข้อมูลจากสํานักแผนงานและงบประมาณสํานักงานศาล ณ 22 เมษายน 2567 พบว่า การฟ้องร้องคดีแพ่งสูงถึง 458,000 คดี หากแนวโน้มยังฟ้องร้องกันสูงขนาดนี้ เป็นไปได้ว่าภายในไตรมาส 4 ของปีนี้การฟ้องร้องในคดีแพ่งจะพุ่งขึ้นไปแตะ 1.8 ล้านคดีเลยทีเดียว

นอกการฟ้องร้องในคดีแพ่ง 480,000 คดีแล้ว การฟ้องร้องในคดีผู้บริโภคยังสูงถึง 326,699 คดี  5 อันดับสูงสุด คดีผู้บริโภค คือ 1.กู้ยืม 52,933 2.บัตรเครดิต 44,951 3.สินเชื่อบุคคล 42,655 4.เช่าซื้อรถยนต์ 29,170 5. ค้ำประกัน 11,895

ทั้งนี้สิ่งที่ลูกหนี้จะต้องเจอกรณีการถูกฟ้องร้องหนี้บัตรเครดิตซึ่งอายุความสั้น ทำให้หากมีเป็น NPL และค้างชำระ4-5 เดือนก็จะมีการเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้อง และเมื่อลูกหนี้ไม่ไปศาลเพื่อไกล่เกลี่ย ศาลจะพิพากษาลับหลังเพราะว่าลูกหนี้ขาดนัด จะมีแต่เจ้าหนี้เบิกความและเมื่อศาลพิพากษาเจ้าหนี้ก็มีสิทธิ์บังคับให้นำทรัพย์ไปขายเพื่อมาชำระหนี้ได้ เกิดเป็นความเดือดร้อนให้กับลูกหนี้เพราะแม้ทรัพย์นั้นจะยังผ่อนธนาคารไม่หมดก็ตาม และการค้างชำระบัตรเครดิต 500 บาทขึ้นไป เจ้าหนี้สามารถฟ้องร้องได้เช่นกัน  

แนวทางออกและข้อเสนอแนะในการแก้หนี้บัตรเครดิต

การปรับลดอัตราการจ่ายขั้นต่ำลงมาที่ 5% อาจไม่ใช่ทางออก แต่คุณสุรพล เสนอว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถแก้ปัญหาพุ่งเป้าไปเฉพาะกลุ่มได้ เช่น กลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน ตอนนี้สภาพการเงินตึงตัวมาก และมีลักษณะผ่อนบัตรเครดิตมีปัญหา  

ขณะที่โครงการช่วยเหลือลูกหนี้บัตรเครดิตขณะนี้ตัวเลขลูกหนี้เข้าโครงการยังน้อย เพียงหลักหมื่นราย ทั้งที่จำนวนลูกหนี้บัตรเครดิตที่มีปัญหาพุ่งสูงหลายเสนราย ดังนั้นอาจต้องปรับกระบวนการเพื่อให้การพิจารณาช่วยเหลือลูกหนี้ทำได้รวดเร็วมากขึ้น มีกระบวนที่ช่วยเหลือลูกหนี้ได้เบ็ดเสร็จจริงๆ

นอกจากนี้คุณสุรพล ยังแนะนำลูกหนี้บัตรเครดิตที่มีปัญหาให้ติดต่อโครงการช่วยเหลือลูกหนี้ รวมถึง ทางด่วนแก้หนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย หมายเลข 1213 เพื่อช่วยในการปรับโครงสร้างหนี้ได้ และสิ่งที่ลูกหนี้ทุกคนคงต้องเจอเมื่อตกอยู่ในสภาวะเป็นหนี้คือ ต้องพยายามหารายได้ให้มากขึ้นเพื่อเป็นหนึ่งในหนทางจ่ายปิดหนี้ให้จบได้เร็วที่สุด นอกเหนือจากความพยายามปรับโครงสร้างหนี้

แม้สถานการณ์หลังโควิดคนไทยจะเป็นหนี้พุ่งทุกทิศทาง ทั้งหนี้บ้าน หนี้รถยนต์ หนี้บัตรเครดิต จนทำให้หนี้ครัวเรือนไทยสูงถึง 90% ต่อ GDP แต่ภาพรวมคุณสุรพล ก็มีความหวังว่า สัญญาณหนื้เสียในช่วงไตรมาส 2 เป็นต้นไปจะเริ่มดีขึ้นได้กว่าไตรมาส 1 เพราะมีปัจจัย คือ สภาพเศรษฐกิจไทยอาจดีขึ้นบ้างจาก การเบิกจ่ายงบประมาณปี 67 ที่ออกมา บวกกับความระมัดระวังของภาคธนาคารในการปล่อยสินเชื่อใหม่ๆอาจหยุดเติมหนี้ที่มีปัญหาเข้าสู่ระบบ ขณะนี้ที่หนี้เก่าก็น่าจะถูกปรับโครงสร้างหนี้มากขึ้น ทั้งหมดจึงทำให้เชื่อว่าปัญหาหนี้เสียของคนไทยเริ่มมีความหวังจะลดลงได้บ้าง 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT