ข่าวเศรษฐกิจ

นายกฯ สั่งสอบกรณีฟินแลนด์ปิดรับวีซ่าเก็บเบอร์รี่ หวั่นกระทบการเจรจายกเว้นวีซ่าเชงเก้น

18 มี.ค. 67
นายกฯ สั่งสอบกรณีฟินแลนด์ปิดรับวีซ่าเก็บเบอร์รี่ หวั่นกระทบการเจรจายกเว้นวีซ่าเชงเก้น

นายกรัฐมนตรี เศรษฐา สั่งให้กระทรวงการต่างประเทศตรวจสอบกรณีฟินแลนด์ปิดรับวีซ่าเก็บผลเบอร์รี่ป่าของคนไทยในฤดูการเก็บเกี่ยวปี 2024 เพราะเกรงว่าจะกระทบกับการเจรจายกเว้นวีซ่าเชงเก้นของประชาชนไทย พร้อมออกวิธีการป้องกันแก้ไขในระยะสั้นและระยะยาว

ในวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา นาย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของไทยกล่าวแก่สื่อมวลชนว่า ได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศรวบรวมข้อมูลเพื่อสืบสวนสาเหตุที่ประเทศฟินแลนด์ตัดสินใจไม่รับคำขอวีซ่าสำหรับเก็บผลเบอร์รี่ป่าสำหรับฤดูเก็บเกี่ยวในปี 2024 นี้แล้ว เพื่อไม่ให้การตัดสินใจนี้กระทบกับการเจรจาขอการยกเว้นวีซ่าเชงเก้น หรือวีซ่าสำหรับเดินทางในสหภาพยุโรปให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางไทย

การสั่งการนี้ออกมาหลังจากที่ในวันที่ 15 มีนาคม กระทรวงการต่างประเทศฟินแลนด์ออกมาประกาศว่า ได้มีมติระงับคำร้องวีซ่าเพื่อทำงานเก็บเบอร์รี่ป่าในปี 2024 สำหรับทุกคนที่ยื่นคำร้องที่สถานทูตฟินแลนด์ในไทยเริ่มตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม เป็นต้นไป ซึ่งจะครอบคลุมถึงผู้สมัครทั้งจาก ไทย กัมพูชา และเมียนมา เนื่องจากมีข้อกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่ามนุษย์ และละเมิดสิทธิแรงงาน

การระงับการขอวีซ่าเก็บเบอร์รี่ป่านี้จะส่งผลต่อแรงงานคนไทยจำนวนหลายหมื่นคน โดยเฉพาะแรงงานไทยจากภาคอีสานที่นิยมไปหารายได้จากการเก็บเบอร์รี่ป่าขายในฟินแลนด์ และสวีเดน เป็นประจำทุกปีในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย. 

ฟินแลนด์หวั่นปัญหาค้ามนุษย์ ขอปรับกฎก่อนเปิดรับคำร้องใหม่

จากการแถลงของกระทรวงการต่างประเทศของฟินแลนด์ การระงับการขอวีซ่าเก็บเบอร์รี่ป่าในปีนี้เป็นผลเนื่องมาจากปัญหาการค้ามนุษย์และการเอารัดเอาเปรียบแรงงานไทยที่ไปใช้แรงงานในฟินแลนด์ ดังเช่นกรณีในปี 2016 ที่มีแรงงานไทยถูกนายจ้างหักค่าจ้าง กักเอกสาร บังคับใช้แรงงาน และไม่ได้รับสวัสดิการตามที่กฎหมายกำหนด จนมีการฟ้องร้องและมีการตัดสินไปในปี 2022

โดยก่อนที่จะมีการปิดรับคำขอวีซ่าในปีนี้ ในปี 2023 กระทรวงการต่างประเทศของฟินแลนด์ได้พิจารณาเพิ่มความเข้มงวดในการพิจารณาลงตราคนเก็บเบอร์รี่ป่า และได้มีการประเมินเงื่อนไขการพิจารณาตรวจลงตราประเภทเชงเก้นใหม่อย่างละเอียดมารอบหนึ่งแล้ว 

เนื่องจากกระทรวงการต่างประเทศได้รับทราบว่าคนเก็บเบอร์รีป่ามีสัญญาจ้างงาน ทั้งที่แนวปฏิบัติในการเก็บเบอร์รี่ป่าปัจจุบันได้รับการพิจารณาอนุมัติบนข้อสันนิษฐานที่ว่า การเก็บเบอร์รี่ป่าอย่างเสรีเป็นสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติของทุกคน (Everyman’s Right) และสามารถเลือกที่จะขายผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่ตนเก็บได้ให้กับผู้ซื้อรายใดก็ได้

นอกจากนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เครือข่ายคนงานเก็บเบอร์รีป่าที่สวีเดนและฟินแลนด์ ยังได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงแรงงาน เพื่อเรียกร้องให้มีการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการเอารัดเอาเปรียบแรงงานเก็บเบอร์รี่ป่าที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากคนเก็บเบอร์รี่ป่าของไทย และป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์รัฐบาลฟินแลนด์ จึงตัดสินใจระงับการขอวีซ่าเก็บเบอร์รี่ป่าจากประชาชนไทยก่อนเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาระยะยาว ก่อนเปิดอีกครั้งในปี 2025 ทำให้การระงับการขอวีซ่าในครั้งนี้เป็นการระงับแบบ “ชั่วคราว” เท่านั้น และจะไม่กระทบกับการขอวีซ่าในรูปแบบอื่น

รัฐบาลไทยเร่งแก้ไข มุ่งทำ MOU ปรับบทลงโทษ

ล่าสุด นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในวันนี้ (18 มี.ค.) ว่า รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการจัดหางาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยกรมการกงสุล และกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ มิได้นิ่งนอนใจต่อกรณีดังกล่าว และได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแนวทางการแก้ไขปัญหา

โดยจากประชุม รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้วางแนวทางการแก้ไขปํญหาในระยะสั้น และระยะยาว ดังนี้

ระยะสั้น

  1. ชะลอการจัดส่งแรงงานไปเก็บผลไม้ป่าในสาธารณรัฐฟินแลนด์และสวีเดน จนกว่าจะมีการปรับระเบียบกฎหมายข้อบังคับต่างๆ ที่เป็นประโยชน์สำหรับแรงงานไทยที่จะเดินทางไปเก็บผลไม้ป่า
  2. กำหนดเงื่อนไขการส่งแรงงานใหม่ นายจ้างต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ห้ามเรียกเก็บเงินจากแรงงาน จ่ายค่าจ้างตามกฎหมาย แสดงหลักฐานการจองที่พัก และจัดทำสัญญาจ้างที่เป็นธรรม 

ระยะยาว 

  1. ปรับปรุงแก้ไขข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับแรงงานไทยที่ไปเก็บผลป่าที่สวีเดนและฟินแลนด์ และกำหนดโทษนายจ้าง/ผู้ประสานงานที่เอารัดเอาเปรียบแรงงานให้ชัดเจน 
  2. จัดการหารือระหว่างประเทศไทยกับฟินแลนด์ เพื่อหาแนวทางในการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือในการจัดส่งแรงงานไทยต่างประเทศในรูปแบบรัฐต่อรัฐ หรือบันทึกความเข้าใจร่วมกันระหว่างประเทศ (MOU) เพื่อให้ทั้งสองประเทศร่วมกันในการกำหนดมาตรฐานการคุ้มครองแรงงาน





advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT