ข่าวเศรษฐกิจ

ผ่าวิกฤตศก. ‘ลาว’ เงินเฟ้อสูง หนี้ท่วม 123% ของ GDP มากกว่าครึ่งเป็นหนี้จาก ‘จีน’

1 ธ.ค. 66
ผ่าวิกฤตศก. ‘ลาว’  เงินเฟ้อสูง หนี้ท่วม 123% ของ GDP  มากกว่าครึ่งเป็นหนี้จาก ‘จีน’

ปัจจุบัน ประเทศหนึ่งที่กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนักก็คือ ‘สปป. ลาว’ ประเทศเพื่อนบ้านของเราที่กำลังมีหนี้ท่วม เงินเฟ้อสูง เงินอ่อนค่า ขณะที่โครงสร้างทางเศรษฐกิจมีความอ่อนแอ รัฐบาลไม่สามารถสร้างงาน เพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในประเทศได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

ในบทความนี้ ทีม SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนมาดูสาเหตุและความเป็นมาของวิกฤตเศรษฐกิจของลาวในครั้งนี้กันว่าเกิดจากอะไร และจะดำเนินไปในทิศทางใดได้บ้าง

เพราะหากเศรษฐกิจของลาวล้มลงจริงๆ แม้เศรษฐกิจของไทยจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ก็อาจจะได้รับผลกระทบจากปัญหาสังคมต่างๆ เช่น ปัญหาแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้ามาทำงานในไทย หรือ ปัญหาการค้ามนุษย์ ที่เกิดจากการฉวยโอกาสเอาเปรียบประชาชนที่กำลังลำบาก และกำลังมองหาทางออก

เงินเฟ้อ ค่าเงินอ่อน หนี้ท่วม 123% ของ GDP

เศรษฐกิจของ สปป. ลาว อยู่ในภาวะย่ำแย่ชัดเจนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ในปี 2019 ที่ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของลาวลดลงเหลือเพียง 5.5% ในปี 2019 ก่อนดิ่งลงมาเหลือ 0.5% ในปี 2020 และขึ้นมาได้เพียง 2.7% ในปี 2022 เนื่องจากทำให้ลาวเสียรายได้จากภาคการท่องเที่ยวซึ่งสร้างรายได้ถึง 5% ของ GDP ก่อนโควิด และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนในปี 2022 ที่ทำให้ลาวต้องประสบกับภาวะเงินเฟ้อ

การดิ่งลงของการเติบโตทางเศรษฐกิจนี้สะท้อนจุดอ่อนด้านโครงสร้างของเศรษฐกิจลาว เพราะลาวไม่มีภาคส่วนที่สามารถสร้างรายได้และสร้างงานได้อย่างยั่งยืน ประชาชนส่วนมากยังทำเกษตรกรรม ขณะที่สินค้าส่งออกส่วนมากเป็นทรัพยากรธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ทางเกษตรที่มูลค่าต่ำ ต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจำนวนมากจากต่างประเทศ

สภาวะนี้ถูกซ้ำเติมโดยภาวะหนี้เรื้อรัง ภาวะเงินเฟ้อที่ลดมูลค่าจริงของรายได้ของประชาชนในประเทศลง และค่าเงินที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด ทำให้ลาวต้องนำเข้าสินค้าในมูลค่าที่สูง และขาดดุลการค้ารุนแรงกว่าเดิม

โดยในปัจจุบัน ลาวเป็นหนึ่งในประเทศที่มีระดับหนี้สาธารณะสูงที่สุดในโลก โดยคิดเป็นถึง 123% ของ GDP และมากกว่าครึ่งเป็นหนี้จากประเทศ ‘จีน’ ที่เข้ามาลงทุนสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากในประเทศ ทั้งโครงการทางด่วน ทางรถไฟ และโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำที่ในปัจจุบันยังไม่สามารถคืนทุนและสร้างรายได้ให้กับประเทศ

นอกจากนี้ ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2021 ค่าเงินกีบของลาวยังอ่อนค่าลงมากกว่า 70% เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยลงไปอ่อนสุดในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาที่ 20,729 กีบต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ และคงระดับอยู่ในปัจจุบันที่ 20,700 กีบต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ภาวะเงินเฟ้อของลาวรุนแรงขึ้น เพราะเมื่อลาวต้องนำเข้าสินค้าในราคาสูงขึ้น ราคาจำหน่ายของสินค้าในประเทศก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย

นี่ทำให้เศรษฐกิจลาวอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะนอกจากจะมีหนี้สินท่วมแล้ว ยังไม่สามารถพึ่งพาการเติบโตทางเศรษฐกิจจากภาคส่วนอื่นๆ ได้ ทั้งภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัว ภาคการผลิตที่อ่อนแอ ทำให้นักลงทุนไม่กล้าเข้าไปลงทุนเพิ่ม นอกจากจีนที่เป็นเจ้าหนี้ใหญ่ของลาวอยู่แล้ว 

และทำให้ลาวที่เคยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงในช่วงปี 2010s กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่เสี่ยงพบกับการล่มสลายทางเศรษฐกิจที่จะส่งกระทบอย่างมหาศาลต่อประชากรทั้ง 7 ล้านคนในประเทศ

เส้นทางการพัฒนาศก. ลาว และความฝันจะเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าของอาเซียน

ก่อนหน้าที่จะมีปัญหาเหล่านี้ ‘สปป. ลาว’ เคยเป็นประเทศที่หลายๆ คนมองว่าเศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นมาก่อน โดยตั้งแต่ปี 2006-2016 ลาวมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างสูง โดยอยู่ในช่วง 7-8% ก่อนจะแผ่วลงในปี 2017 ที่การเติบโตเศรษฐกิจลดเหลือ 6.9% 

นอกจากนี้ ยังมีการเติบโตของ GDP ต่อหัวที่ค่อนข้างสูง โดยเติบโตขึ้นถึงกว่า 8 เท่า ในระยะเวลา 20 ปี จาก 11,232.12 บาทต่อคนต่อปี ในปี 2000 มาเป็น 91,371.97 บาทต่อคนต่อปี ในปี 2021

การเติบโตอย่างรวดเร็วนี้เกิดจากเม็ดเงินลงทุนจำนวนมากจาก ‘จีน’ ที่เข้ามาลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานและตั้งธุรกิจในประเทศลาว เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลาวจากประเทศเกษตรกรรมที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล (landlocked) มาเป็นประเทศที่เชื่อมต่อเขตเศรษฐกิจอาเซียนสู่ประเทศจีน (land-bridge country) และประเทศศูนย์กลางการผลิตไฟฟ้าของอาเซียน (battery of ASEAN) จากการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำในประเทศและโรงงานผลิตไฟฟ้า 

จากข้อมูลของรัฐบาลลาว ในปัจจุบัน ‘จีน’ เป็นผู้ลงทุนอันดับหนึ่งของลาว ตั้งแต่ปี 1989 จีนได้ลงทุนเงินทั้งหมดถึง 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 4.58 แสนล้านบาท ในลาว ในมากกว่า 900 โครงการ โดยโครงการที่โดดเด่นมีทั้ง

  • โครงการรถไฟ China-Laos Railway เชื่อมเมืองคุนหมิงของจีนและเมืองเวียงจันทน์ของลาวมูลค่าถึง 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่เริ่มเปิดใช้งานไปช่วงปลายปี 2021
  • ท่าขนส่งสินค้า Thanaleng Dry Port และศูนย์กลางโลจิสติกส์ Vientiane Logistics Park มูลค่ารวมถึง 727 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เชื่อม 4 ประเทศระหว่างลาว กัมพูชา ประเทศไทย และเวียดนาม ที่เริ่มเปิดใช้งานในปี 2021
  • ทางด่วน Vientiane-Vangvieng Expressway ทางด่วนสายแรกของประเทศลาว มูลค่าถึง 1,192 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ ลาวยังมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่สูง โดยปัจจุบันมีโรงไฟฟ้า 94 แห่ง กำลังการผลิตรวม 11,661.14 เมกะวัตต์ ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าครอบคลุมความต้องการภายในประเทศได้ทั้งหมด และเหลือจนสามารถส่งออกไปยังประเทศข้างเคียงได้ 

โดยจากการรายงานของ Nikkei Asia ในปี 2022 ลาวส่งออกไฟฟ้าประมาณ 80% ที่ผลิตได้ในประเทศให้กับประเทศข้างเคียง เช่น ไทย และเวียดนาม ซึ่งคิดเป็น 30% ของมูลค่าสินค้าส่งออกทั้งหมดในปีนั้น

การพัฒนาที่มาพร้อม ‘กับดักหนี้’ จากจีน

ทั้งนี้ แม้การเข้ามาลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของจีนจะทำให้เศรษฐกิจของลาวดูเหมือนจะพัฒนาขึ้นจริง การลงทุนเหล่านี้ก็เข้ามาพร้อมกับหนี้จำนวนมหาศาล เพราะแน่นอนว่ารัฐบาลจีนและธุรกิจจีนย่อมไม่เข้ามาลงทุนในลาวโดยไม่หวังผล 

ในการสร้างโครงการเหล่านี้ รัฐบาลลาวต้องเซ็นสัญญาจ่ายหนี้ให้รัฐบาลจีนในระยะยาว นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าเนื่องจากในทุกโครงการมีธุรกิจจากจีนมาเป็นหุ้นส่วน รายได้ส่วนหนึ่งจากกิจการโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ก็จะตกเป็นของธุรกิจจีน ทำให้นอกจากลาวจะติดสัญญาหนี้ระยะยาวกับจีนแล้ว ยังต้องกลายเป็นแหล่งทำธุรกิจและสร้างรายได้ของจีนด้วย

โดยจากการรายงานของ BBC โครงการใหญ่อย่างโครงการทางรถไฟจีน-ลาวที่มีบริษัทที่รัฐบาลจีนเป็นเจ้าของเป็นหุ้นส่วนอยู่ถึง 70% ทำให้รัฐบาลลาวต้องเป็นหนี้จีนถึง 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ขณะที่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำของลาวในปัจจุบันกำลังเจอภาวะ oversupply หรือภาวะมีอุปทานสูงเกินอุปสงค์ ที่ทำให้หน่วยงานการไฟฟ้าของลาวไม่สามารถสร้างรายได้ได้เพียงพอ และเป็นหนี้ถึง 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จนทำให้ลาวต้องส่งต่อกิจการให้บริษัทจีนดูแลในสัญญายาวถึง 25 ปี ทำให้ในอนาคตแม้ความต้องการไฟฟ้าในภูมิภาคจะสูงขึ้น ลาวก็ไม่สามารถรับผลประโยชน์จากธุรกิจนี้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยได้

นี่ทำให้นักวิเคราะห์หลายสำนักมองว่าในปัจจุบัน ลาวกำลังอยู่ใน ‘กับดักหนี้’ ของจีนอย่างไม่มีทางออกมาได้ หากจีนไม่ยกเลิกหนี้ หรือผ่อนผันระยะเวลาชำระหนี้ออกไปเรื่อยๆ 

โดยในปัจจุบันเอง สาเหตุที่เศรษฐกิจของลาวยังไม่ล้มลงมาอย่างเต็มที่ก็เป็นเพราะว่าจีนยังผ่อนผันระยะเวลาการชำระหนี้ของลาวออกไปอยู่ แม้รัฐบาลลาวจะพยายามออกมาให้ความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจลาวยังมีโอกาสฟื้นตัว และมีศักยภาพในการคืนหนี้ให้กับเจ้าหนี้ทั้งจีน ไทย และอื่นๆ 

และจากความเห็นของนักวิเคราะห์ จีนก็ไม่น่าที่จะตัดสินใจยกเลิกหนี้ให้กับลาว เพราะหากทำแบบนั้นก็อาจจะสร้างความเสียหายให้กับรัฐบาลและธุรกิจที่ไปลงทุนในประเทศลาวด้วย

ในสภาวะแบบนี้ เศรษฐกิจลาวและความเคลื่อนไหวจากประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจีน จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรจับตามองว่าจะดำเนินไปในทิศทางใด เพราะการตัดสินใจของจีนย่อมส่งผลอย่างมากต่อความอยู่รอดของเศรษฐกิจลาว และผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจโดยรอบรวมไปถึงประเทศไทยด้วย



อ้างอิง: The World Bank, CNBC, Asean Briefing, Laos News Agency

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT