Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
เวียดนามจ่อแซงไทย ขึ้นแท่นเศรษฐกิจอันดับ 2 ของอาเซียนในอีก 3 ปี
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

เวียดนามจ่อแซงไทย ขึ้นแท่นเศรษฐกิจอันดับ 2 ของอาเซียนในอีก 3 ปี

6 พ.ค. 68
14:23 น.
แชร์

เวียดนามจ่อแซงไทยขึ้นเบอร์สองเศรษฐกิจอาเซียนหลังปี 2028 โตแรงจากภาคการผลิต-ค้าปลีก-การบริโภค คาดทะยานสู่ท็อป 20 เศรษฐกิจโลกในปี 2036

เวียดนามกำลังเร่งเครื่องไต่ขึ้นเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับสองของอาเซียน แซงหน้าไทยหลังอีก 3 ปีข้างหน้า และมีโอกาสจะกลายเป็นหนึ่งในยี่สิบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกแซงหน้าเศรษฐกิจพัฒนาแล้วอย่างโปแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยียม และออสเตรเลีย ภายในปี 2036 ตามการคาดการณ์ล่าสุดของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (Centre for Economics and Business Research: CEBR)

เศรษฐกิจโตเฉลี่ย 6.5% ต่อปี - ปักธงอันดับ 20 โลกในปี 2036

รายงาน “World Economic League Table 2022” ของ CEBR ระบุว่า ปัจจุบัน เวียดนามวางเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยปีละ 6.5% ในทศวรรษหน้าภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2564-2568) โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากภาคการผลิตที่แข็งแกร่งของเวียดนาม ซึ่งมีบทบาทเพิ่มขึ้นในห่วงโซ่อุปทานโลกผ่านข้อตกลงการค้าเสรีและการกระจายตัวของสินค้าออกสู่ตลาดโลก

หากเวียดนามสามารถรักษาระดับการเติบโตไว้ได้สำเร็จ ภายในปี 2036 เวียดนามจะไต่จากอันดับ 41 ขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 20 ของโลก แซงหน้าเศรษฐกิจพัฒนาแล้วอย่างโปแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยียม และออสเตรเลีย

นอกจากนี้ เวียดนามยังตั้งเป้าเป็นประเทศรายได้สูงภายในปี 2045 ซึ่งต้องอาศัยอัตราการเติบโตของ GDP ต่อหัวเฉลี่ยราว 5% ต่อปี โดย CEBR มองว่า แผนพัฒนาปัจจุบันของประเทศมีความสอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาวนี้

เวียดนามเบียดสิงคโปร์ ขึ้นอันดับ 3 อาเซียนแล้ว

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า ในปี 2024 เวียดนามมีขนาด GDP ที่ 571,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทำให้เวียดนามกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ในอาเซียนเป็นที่เรียบร้อย โดยแซงหน้ามาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ไปแล้ว

IMF คาดการณ์ว่า ภายในปี 2027 ไทยจะมี GDP ที่ 692,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่เวียดนามจะไล่จี้ติดที่ 690,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่า “ห่างกันเพียงเส้นบางๆ”

ด้าน CEBR คาดว่า เวียดนามจะแซงหน้าไทยอย่างเป็นทางการหลังปี 2028 ซึ่งจะทำให้ไทยหล่นไปอยู่ในอันดับ 3 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“โด่ยเหมย”: จุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์สู่เศรษฐกิจตลาดของเวียดนาม

การปฏิรูปเศรษฐกิจของเวียดนามเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงกลางทศวรรษ 1980 ผ่านนโยบายที่รู้จักกันในชื่อโด่ยเหมย “Đổi Mới” หรือ “การปรับปรุง/นวัตกรรม” ซึ่งประกาศใช้โดยพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามในการประชุมใหญ่ปี 1986 นโยบายนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการเปลี่ยนผ่านประเทศจากระบบสังคมนิยมแบบรวมศูนย์ไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด โดยมีเป้าหมายเพื่อเปิดกว้างต่อการค้าเสรี การลงทุนจากต่างประเทศ และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

ในช่วงแรก แม้การเปลี่ยนแปลงจะค่อยเป็นค่อยไป แต่ผลสัมฤทธิ์เริ่มปรากฏเด่นชัดในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 1990 โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจทำให้เวียดนามสามารถเปลี่ยนสถานะจากประเทศที่มีรายได้น้อยที่สุดแห่งหนึ่งในโลก กลายเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับล่างภายในเวลาไม่ถึง 30 ปี และตามข้อมูลของ IMF ขนาดเศรษฐกิจของเวียดนามในปี 2024 ใหญ่กว่าปี 1994 ถึง 51 เท่า ซึ่งนับเป็นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในอาเซียนในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา

นโยบาย “โด่ยเหมย” เปิดประตูให้เวียดนามเชื่อมโยงเข้าสู่เศรษฐกิจโลกอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะภาคการผลิตเพื่อส่งออก ซึ่งเวียดนามสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมหลัก เช่น อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ อาหารแปรรูป และโทรคมนาคม ให้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมกับการลงนามข้อตกลงการค้าเสรีกับพันธมิตรสำคัญทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น FTA กับสหภาพยุโรป (EU–Vietnam FTA), ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และความตกลง CPTPP ที่ช่วยให้เวียดนามฝังตัวลึกในห่วงโซ่อุปทานโลก

นอกจากนี้ เวียดนามยังกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตสำคัญของบริษัทข้ามชาติเช่น Samsung และ Apple โดยเฉพาะในช่วงที่กระแส “China Plus One” ผลักดันให้ผู้ผลิตระดับโลกกระจายฐานออกจากจีนมาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ปัจจุบัน เวียดนามคือแหล่งผลิตสมาร์ตโฟนกว่า 40% ของ Samsung ทั่วโลก และเป็นที่ตั้งของซัพพลายเออร์ Apple มากที่สุดในอาเซียน คือ 35 รายในปี 2024 ขณะที่ไทยมีเพียง 24 ราย

จากจุดเริ่มต้นของนโยบาย “โด่ยเหมย” เวียดนามไม่เพียงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่ยังสามารถวางตำแหน่งตัวเองใหม่ในระบบเศรษฐกิจโลกได้อย่างมั่นคง พร้อมเดินหน้าสู่เป้าหมายการเป็นประเทศรายได้สูงภายในปี 2045 ตามแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลในปัจจุบัน

โอกาสค้าปลีก-การบริโภคพุ่ง: เวียดนามกลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจผู้บริโภคแห่งใหม่

หนึ่งในผลพลอยได้สำคัญจากการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนาม คือ การขยายตัวของภาคค้าปลีกและการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งกำลังเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคจากแบบดั้งเดิมสู่การใช้จ่ายที่มีมูลค่าและคุณภาพสูงขึ้น

สื่อเวียดนามชี้ว่า เวียดนามจะกลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจผู้บริโภคแห่งใหม่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในด้าน:

  • การเติบโตของแบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภคทั้งในและต่างประเทศ
  • การขยายตัวของห้างค้าปลีกสมัยใหม่ และอีคอมเมิร์ซ
  • ความเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมผู้บริโภคเมือง ซึ่งหันไปสู่สินค้านำเข้าและบริการระดับพรีเมียม

เมื่อประกอบกับนโยบายเปิดรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เวียดนามจึงกลายเป็นเป้าหมายใหม่ของบริษัทข้ามชาติทั้งในภาคการผลิต การค้าปลีก และเทคโนโลยี

ความท้าทาย: สังคมสูงวัย อัตโนมัติ และการค้าโลกชะลอ

อย่างไรก็ดี แม้เส้นทางเศรษฐกิจของเวียดนามจะมีแนวโน้มสดใส แต่ CEBR ก็เตือนว่า เวียดนามยังเผชิญกับความเสี่ยงเชิงโครงสร้างหลายประการที่อาจเป็นอุปสรรคต่อเป้าหมายในระยะกลางและยาว ได้แก่

  • การชะลอตัวของการค้าโลก: ซึ่งจะกระทบต่อภาคการส่งออกที่เป็นหัวใจของเศรษฐกิจเวียดนามโดยตรง
  • ความเสี่ยงจากเทคโนโลยีอัตโนมัติ: โดยเฉพาะในภาคการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น ซึ่งอาจเผชิญการแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติในอนาคตอันใกล้
  • ประชากรสูงวัยเร็วขึ้น: เวียดนามกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอัตราเร่ง สร้างแรงกดดันต่อระบบสุขภาพ สวัสดิการ และตลาดแรงงานในระยะยาว
  • การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคเกษตรกรรม พื้นที่ชายฝั่ง และโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

เพื่อรับมือกับปัจจัยเหล่านี้ รัฐบาลเวียดนามจำเป็นต้องพัฒนาเครื่องมือเชิงนโยบายที่มีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น ทั้งในด้านการจัดการแรงงาน การลงทุนในทุนมนุษย์ การวางแผนเมือง และการพัฒนาที่ยั่งยืน


แชร์
เวียดนามจ่อแซงไทย ขึ้นแท่นเศรษฐกิจอันดับ 2 ของอาเซียนในอีก 3 ปี