ที่ประชุมรัฐสภาลงมติว่าการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี รอบที่ 2 ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะผิดข้อบังคับการประชุมข้อที่ 41 ด้วยคะแนนเสียง 395 เสียง ต่อ 312 จึงสรุปว่ารัฐสภาไม่สามารถดำเนินขั้นตอนการคัดเลือกนายกรัฐมนตรีในรอบที่ 2 ในวันนี้ได้
คำถามต่อไปคือ แล้วใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ยังคงเป็นแคนดิเดตของพรรคอันดับ 2 อย่างเพื่อไทยหรือไม่ หรือจะการเมืองไทยจะมีอะไรเกิดขึ้นอีก มุมมองของภาคธุรกิจ และนักเศรษศาสตร์ รวมถึงหน่วยงานอย่าง ธนาคารแห่งประเทศไทยมีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า ความล่าช้าของการมีรัฐบาลใหม่เป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย
รัฐบาลใหม่ไม่ชัดเจน กระทบงบลงทุนปี 2567
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยกับสื่อมวลชนวันนี้ว่า ประเด็นความไม่แน่นอนเรื่องรัฐบาล ใครจะมา มาเมื่อไหร่ จะไม่กระทบภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้ให้เปลี่ยนแปลงไปมาก เพราะในประมาณการ ธปท. ได้รวมสมมติฐานไปหมดแล้ว คาดว่างบประมาณจะล่าช้าไป 1 ไตรมาส
แต่ข้อเท็จจริง กระบวนการยังเป็นไปตามปกติ งบประจำยังเบิกจ่ายใช้ โดยไตรมาส 4/66-ไตรมาส 1/67 ที่หายไปจริง ๆ คือ งบลงทุน แต่ก็ไม่ได้มีสัดส่วนมาก คงไม่กระทบปีนี้ แต่จะไปกระทบปี 2567 ซึ่งมุมมองเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ยังมีศักยภาพในการขยายตัวได้ในระดับ 3-4%
สำหรับการทำนโยบายรัฐบาล ควรมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการสร้างเสถียรภาพ มากกว่าการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งถ้าดูตัวเลขการบริโภคเอกชนครึ่งปีแรก ยังขยายตัวได้ 5% การกระตุ้นการบริโภคจึงอาจจะยังไม่จำเป็น ขณะที่การท่องเที่ยวก็เริ่มฟื้นกลับมา ดังนั้น ควรมุ่งนโยบายในการสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจ พร้อมเห็นว่า สิ่งที่ยังน่าเป็นห่วง คือ หนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับค่อนข้างสูงที่ 90% ของจีดีพี ขณะที่หนี้สาธารณะอยู่ที่ 60% ต้น ๆ ของจีดีพี
ดร.เศรษฐพุฒิ ประเมินว่า ครึ่งหลังของปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 4.2% ดีกว่าครึ่งปีแรกที่ขยายตัว 2.9% มีแรงขับเคลื่อนจากการบริโภคเติบโตดี หัวใจสำคัญ คือ ภาคการท่องเที่ยว ปีนี้คาดว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 29 ล้านคน ส่วนกรณีที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทย โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ที่ออกมาไม่ค่อยดี ทำให้คาดว่าการส่งออกของไทย ทั้งปีคือแทบจะไม่เติบโต
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อปีนี้ ต่ำกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา (พ.ค., มิ.ย.) จากราคาอาหาร และราคาพลังงานโลกที่ปรับลดลง แต่ก็เป็นปัจจัยชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งหลังจากนั้น คาดว่าทิศทางเงินเฟ้อจะค่อยๆ กลับขึ้นมา ส่งผลให้ไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน เพราะมุมมองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและแนวโน้มเงินเฟ้อยังเป็นไปตามที่ ธปท.คาดไว้ ดังนั้นยังมีความจำเป็นต้องทำนโยบายการเงินให้กลับสู่ภาวะปกติ แบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งไม่ได้พิจารณาแค่ปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อเท่านั้น แต่ต้องดูปัจจัยระยะยาวให้กลับสู่สภาวะปกติ หาจุดที่เหมาะสม สร้างความสมดุลของดอกเบี้ยให้เหมาะกับเศรษฐกิจ และขยายตัวได้ตามศักยภาพ
ตั้งรัฐบาลใหม่ช้ากว่า ส.ค.66 ส่งออกติดลบ 2.5%
โดยดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วิเคราะห์ว่า ทิศทางการส่งออกของประเทศไทยในปี 2566 ภายใต้การเมืองไทยที่ยังไม่แน่นอนจึงตั้งสมมติฐานไว้ 2 กรณี คือ
กรณีแรก - สามารถตั้งรัฐบาลใหม่ได้ภายในเดือน ส.ค. 66
คาดว่ามูลค่าการส่งออกของไทยไปตลาดโลกในปี 2566 จะมีมูลค่าราว 283,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือหดตัว -1.2% (คาดการณ์ช่วงระหว่าง -1.8 ถึง 0.8%)
กรณีสอง : ไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ภายในเดือน ส.ค. 66
คาดว่ามูลค่าการส่งออกของไทยไปตลาดโลกในปี 2566 จะมีมูลค่าราว 279,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือหดตัว -2.5% (ช่วงคาดการณ์ระหว่าง -1.9 ถึง -3.1%)
นอกจาก ปัจจัยเรื่องการเมืองภายในประเทศแล้ว ดร.นายอัทธ์ ยังมองว่า มีอีกหลายปัจจัยที่กระทบการส่งออกของประเทศไทย ได้แก่
1. เศรษฐกิจโลก และคู่ค้าสำคัญชะลอตัว
2. เศรษฐกิจจีนอาจโตไม่ถึง 5%
3. การเมืองที่ยังไม่ชัดเจนจากการจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้า
4. อัตราการว่างงานของประเทศคู่ค้าที่สูงขึ้น
5. ค่าเงินที่ผันผวนจากอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐฯที่ทรงตัวในระดับสูง และมีโอกาสปรับขึ้น
6. ภาวะเอลนีโญส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตร
7. ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอาจปรับตัวสูงขึ้น จากการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปก
ภาคเอกชนหวังการเมืองไทยมีเสถียรภาพ
ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการและกรรมการบริหาร บริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “SPOTLIGHT” ว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับ 2 มิติ คือ
- มิติของความมั่นใจภาคเอกชน
- มิติของเม็ดเงินลงทุนจากภาคเอกชน
“ เศรษฐกิจไทยอยู่กับตัวแปรสำคัญ คือ เรื่องการเมือง ไม่ใช่เรื่องความมั่นใจหรือไม่มั่นใจอย่างเดียว แต่เกี่ยวกับงบประมาณของภาครัฐ จะส่งต่อการลงทุนภาคเอกชนตามมา” ดร.เกษา กล่าว
ตอบข้อซักถามสถานการณ์การเมืองไทยนับจากนี้ไป ดร.เกษรา กล่าวว่า “ หวังว่าต่อจากวันนี้ไปไม่ว่า outcome จะเป็นอย่างไร แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วขอให้มีเสถียรภาพ ไม่เหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความไม่มีเสถียรภาพในด้านต่างๆ ก็จะเป็นเรื่องผลดี แน่นอนว่า เราอาจจะคาดหวังให้เกิด out come อย่างหนึ่ง แต่เราไม่สามารถเลือกได้ของผล out come ที่จะเกิด แต่เชื่อว่าเอกชนทั้งหมด ขออย่างหนึ่ง คือ ขอความมีเสถียรภาพ ไม่ว่าจะเป็น out come ที่อยากได้ที่สุดมั้ย ทุกคนอาจจะมี out come ที่อยากได้ในใจอาจไม่เหมือนกัน แต่เชื่อว่าสิ่งที่ทุกคนอยากได้ คือ ความมีเสถียรภาพ ความมั่นคง เป็นอันนี้แระ และจะเดินหน้าต่อไปด้วยอันนี้แระ อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนชอบ 100% แต่มีเสถียรภาพเพียงพอ
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เชื่อว่ารัฐบาลชุดใหม่จะให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยว กลไลที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังจากสถานการณ์โควิด คือ การท่องเที่ยว ซึ่งการดำเนินนโยบายของ ททท.ได้ดำเนินการมาถูกทิศทางแล้ว และอาจขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากรัฐบาลชุดใหม่ว่าต้องการแนะนำอะไรเป็นพิเศษ ที่ผ่านมาจะเป็นเรื่องการท่องเที่ยวเมืองรอง การกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ ททท.ภายใต้กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาก็พร้อมที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจ
“คาดหวังรัฐบาลชุดใหม่จะให้อุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือในการทำการตลาดท่องเที่ยวไทย เพราะการล่าช้าในเรื่องของการเบิกใช้งบประมาณก็อาจจะมีผลต่อ ททท.ในการดำเนินการ”