ข่าวเศรษฐกิจ

เพดานหนี้สาธารณะคืออะไร? ทำไมสหรัฐฯ มีปัญหาอยู่ประเทศเดียว?

7 มิ.ย. 66
เพดานหนี้สาธารณะคืออะไร? ทำไมสหรัฐฯ มีปัญหาอยู่ประเทศเดียว?

ในช่วงที่ผ่านมา ข่าวเศรษฐกิจใหญ่อันดับต้นๆ ข่าวหนึ่งก็คือข่าวปัญหา ‘เพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ’ ที่ในที่สุดก็ถูกแก้ไขไปเมื่อวันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา หลังจากประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ลงชื่ออนุมัติกฎหมายเพื่อยกเพดานหนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐบาลสหรัฐฯ ผิดชำระหนี้ ก่อนถึงกำหนดเส้นตายเพียง 2 วัน

โดยหากรัฐบาลสหรัฐฯ ยกเพดานหนี้ไม่สำเร็จ เศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะเข้าสู่ช่วงถดถอย เพราะรัฐบาลต้องปรับลดค่าใช้จ่ายในการหาเงินมาใช้หนี้ ด้วยการลดจำนวนพนักงานของรัฐ เก็บภาษีเพิ่ม นอกจากนี้ยังทำให้รัฐบาลเสียเครดิต เพิ่มต้นทุนของการกู้ยืมเงินของประเทศในอนาคต หุ้นตกจนธุรกิจอาจมีปัญหาสภาพคล่อง ค่าเงินดอลลาร์ผันผวน และแน่นอนว่าจะสร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลก เพราะเศรษฐกิจของเกือบทุกประเทศทั่วโลกเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจของสหรัฐ

แต่ถึงจะดูเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกขนาดนี้ รู้หรือไม่ว่า ปัญหาการเพิ่มเพดานหนี้นี้เป็น ‘ปัญหาเฉพาะของสหรัฐฯ’ เพราะประเทศส่วนมากไม่มีเพดานหนี้ หรือตั้งเกณฑ์เพดานหนี้ไว้ในแบบที่ยืดหยุ่นกว่า และปัญหานี้เป็นสิ่งที่สหรัฐฯ สร้างขึ้นมาเป็นปัญหาให้ตัวเองและคนทั้งโลกเอง

 

ปัญหาที่สร้างขึ้นมาเองของสหรัฐฯ

‘เพดานหนี้สาธารณะ’ เป็นสิ่งที่รัฐบาลของแต่ละประเทศ ‘กำหนดขึ้นมาเอง’ เพื่อควบคุมไม่ให้รัฐบาลกู้เงินจากทั้งแหล่งภายในและนอกประเทศมาใช้จ่ายมากเกินไป และลดความเสี่ยงจากการเป็นหนี้ที่จะเกิดกับระบบเศรษฐกิจในอนาคต

เห็นแบบนี้แล้ว มองเผินๆ การมีเพดานหนี้อาจจะเป็นเรื่องดี เพราะมันเป็นการสร้างวินัยทางการเงินให้กับรัฐบาล ไม่ให้กู้เงินมากระตุ้นเศรษฐกิจไม่หยุด โดยไม่คิดหาสร้างกลไกหรือวิธีการอื่นๆ เพื่อสร้างรายได้ให้รัฐเลย แต่ในอีกมุมหนึ่ง นี่ก็เป็นการจำกัดความยืดหยุ่นคล่องตัวทางการเงินของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงเกิดวิกฤต และสร้างความขัดแย้งทางการเมืองโดยไม่จำเป็น 

อย่างในกรณีของสหรัฐฯ ที่การยกเพดานหนี้ในแต่ละครั้งต้องการเสียงโหวตจากทั้งฝั่งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ทำให้ฝ่ายค้านอาจใช้การโหวตนี้กดดันฝั่งรัฐบาล หรือใช้เป็นอาวุธทางการเมืองเพื่อทำร้ายฝั่งตรงข้ามได้ โดยตั้งแต่ปี 1960 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้มีการเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะมาแล้วถึง 78 ครั้ง ภายใต้รัฐบาลของทั้งฝั่งเดโมแครตและรีพับลิกัน เพื่อให้รัฐบาลยังมีเงินไปใช้หนี้เก่าที่เคยกู้มาต่อไปเรื่อยๆ แต่ถึงกระนั้นการเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะแต่ละครั้งก็จะเป็นประเด็นให้พูดถึงทุกครั้ง เพราะมันจะต้องมีการล็อบบี้ พูดคุย เพื่อให้รัฐบาลได้รับเสียงโหวตจากผู้แทนจนผ่านกฎหมายเพิ่มเพดานหนี้ได้

 

ทำไมประเทศอื่นไม่มีปัญหาเรื่องนี้?

แตกต่างจากสหรัฐฯ ประเทศในโลกนี้ส่วนมาก ‘ไม่มีเพดานหนี้’ เพราะ ‘เพดานหนี้สาธารณะ’ คือสิ่งที่แต่ละประเทศ ‘ตั้งเอง’ เพื่อ ‘คุมตัวเอง’ จึงไม่มีใครบังคับจับมือให้ทำ เพราะฉะนั้น เหตุผลง่ายๆ เหตุผลแรกที่ทำให้ประเทศส่วนมากไม่มีปัญหานี้ก็คือ พวกเขาไม่ได้ตั้งลิมิตให้ตัวเองตั้งแต่แรก เพราะฉะนั้นรัฐบาลในประเทศนั้นๆ จะกู้เงินมาเพิ่มเท่าไหร่ก็ไม่ใช่ปัญหา 

อย่างไรก็ตาม เหมือนกับสหรัฐฯ ประเทศบางประเทศก็มีการตั้งลิมิตการกู้ยืมเงินสาธารณะไว้เช่นกัน โดยส่วนมากจะตั้งไว้ 2 รูปแบบคือ 

1) เป็นจำนวนตายตัว ซึ่งปัจจุบันมี 3 ประเทศในโลกที่ตั้งเพดานหนี้แบบนี้คือ สหรัฐฯ, เดนมาร์ก และเคนยา

2) เป็น % ต่อ GDP เหมือน ‘ประเทศไทย’ ที่ปัจจุบันตั้งไว้ที่ 70% ของ GDP และ ‘สหภาพยุโรป’ ที่ตั้งเพดานหนี้ในประเทศในสหภาพไว้ที่ 60% ของ GDP ทำให้ ‘เพดานหนี้มีความยืดหยุ่นมากกว่า’ เพราะถึงแม้มูลค่าหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้น ถ้าหาก GDP โตตามทันหนี้และรักษาสัดส่วนไม่ให้เกินที่กำหนดไว้ได้ก็ไม่ใช่ปัญหา

สำหรับกลุ่มที่ตั้งเพดานหนี้เป็น % ต่อ GDP ผู้อ่านคงพอเข้าใจได้อยู่แล้วว่าทำไมประเทศเหล่านี้จึงไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องเพดานหนี้สาธารณะ แต่สำหรับประเทศที่ตั้งไว้เป็นจำนวนตายตัวเหมือนกันอย่าง เดนมาร์ก และเคนยา ทำไมจึงไม่มีปัญหา

สำหรับ ‘เคนยา’ ปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับทั้งโลก เพราะเคนยาถือเป็นเศรษฐกิจเล็ก ทำให้รัฐบาลสามารถควบคุมผลกระทบให้อยู่ในประเทศได้หากไม่สามารถเพิ่มเพดานหนี้ได้ นอกจากนี้เคนยายังมีแผนที่จะเปลี่ยนเพดานหนี้จากตัวเลขตายตัวเป็น % ต่อ GDP โดยจะเปลี่ยนจาก 10 ล้านล้านชิลลิงเคนยาในปัจจุบัน เป็น 55% ของ GDP 

สำหรับ ‘เดนมาร์ก’ วิธีป้องกันปัญหาเพดานหนี้สาธารณะแตกต่างออกไปเล็กน้อย นั่นก็คือ ‘การตั้งเพดานหนี้ให้สูงมาก’ จนยากที่จะรัฐบาลจะสร้างหนี้สาธารณะให้ถึงลิมิตได้ โดยเดนมาร์กตั้งเพดานหนี้สาธารณะเป็นครั้งแรกในปี 1993 และตั้งไว้ที่ 9.5 แสนล้านโครเนอเดนมาร์ก หรือราว 1.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และปรับเพิ่มครั้งเดียวเป็น 2 ล้านล้านโครเนอเดนมาร์กในปี 2010 เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นทางการเงินให้ประเทศที่เพิ่งผ่านวิกฤตการเงินในปี 2008 มา ซึ่งถึงแม้เพดานหนี้ของเดนมาร์กจะดูไม่สูงนักเมื่อเทียบกับเพดานหนี้ของสหรัฐฯ นี่ก็ถือว่าสูงมากสำหรับประเทศที่มีเศรษฐกิจในขนาดเดียวกับเดนมาร์ก

734639

 

สหรัฐฯ ประเทศที่มีหนี้สาธารณะสูงที่สุดในโลก

อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ก็อาจจะไม่ได้เป็นเพราะการกำหนดเพดานหนี้เป็นเลขตายตัวเพียงอย่างเดียว เพราะเมื่อมองตัวเลข รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ถือว่าเป็นรัฐบาลที่ขยันสร้างหนี้ให้ประเทศจริงๆ ด้วยมูลค่าหนี้สาธารณะถึง 31.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในโลก

นอกจากนี้ ถึงแม้สหรัฐฯ จะปรับเกณฑ์เพดานหนี้มาเป็นแบบ % ต่อ GDP ก็ไม่ช่วยอะไรนัก เพราะตอนนี้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของสหรัฐฯ ปาเข้าไปเป็น 123.4% เข้าไปแล้ว ซึ่งมากกว่าประเทศอื่นๆ ที่ตั้งไว้ในระดับ 50-70% ของ GDP 

นี่ทำให้ถึงจะไม่มีปัญหาเพดานหนี้อยู่ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบัน รัฐบาลสหรัฐฯ มีปัญหาในการบริหารหนี้สาธารณะ ไม่สามารถหารายได้มาใช้หนี้ที่เคยสร้างไว้ได้ และเคยชินกับการกู้เงินเพื่อนำเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจ จนถ้าปล่อยให้รัฐบาลต่อๆ ไปเพิ่มเพดานหนี้ไปเรื่อยๆ ก็ไม่รู้ว่ามูลค่าหนี้จะพุ่งขึ้นไปถึงเท่าไหร่ และถ้าหากมีปัญหา กู้ไม่ได้แล้วจนเกิดผิดชำระจะส่งผลอย่างไรต่อระบบการเงินของทั้งสหรัฐฯ และทั้งโลก ซึ่งก็เป็นประเด็นที่น่าทำความเข้าใจและจับตามอง เพราะถ้าหากยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐฯ เกิดสะดุดขึ้นมานิดเดียว ผลกระทบต้องมาถึงเราแน่นอน



ที่มา: Atlantic Council, CNN

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT