การเงิน

'เครดิตสวิส' ยักษ์ใหญ่เกินปล่อยให้ล้ม เปิดเหตุผล UBS เข้ามาอุ้มคู่แข่ง

20 มี.ค. 66
'เครดิตสวิส' ยักษ์ใหญ่เกินปล่อยให้ล้ม เปิดเหตุผล UBS เข้ามาอุ้มคู่แข่ง

เมื่อเช้ามืดวันนี้ (20 มี.ค.) เกิดดีลประวัติศาสตร์ขึ้นในภาคการธนาคารขึ้น เมื่อ UBS ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของสวิตเซอร์แลนด์ ตกลงจ่ายเงิน 3 พันล้านฟรังก์สวิส/ 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1 แสนล้านบาท เพื่ออุ้มคู่แข่งอย่าง ‘เครดิตสวิส’ (Credit Suisse) ที่กำลังเจอปัญหาสภาพคล่องอย่างหนักจนใกล้จะล้มละลาย 

เกิดอะไรขึ้น? ทำไม UBS จึงต้องออกเงินเพื่ออุ้มคู่แข่งที่กำลังจะล้ม? และดีลนี้สำคัญต่อระบบการเงินของโลกอย่างไร? ทีมข่าว Spotlight สรุปมาให้อ่านกัน

 

‘เครดิตสวิส’ หนึ่งใน 30 ธนาคารยักษ์ใหญ่ที่ล้มแล้วอาจสะเทือนไปทั้งโลก 

ถ้าใครตามข่าวด้านการเงินในช่วงนี้ จะรู้ดีกว่าวงการธนาคารในโลกตอนนี้กำลังปั่นป่วนอย่างหนัก จากการล้มละลายของ 3 ธนาคารในสหรัฐฯ มาจนถึง ปัญหาของ ‘เครดิตสวิส’ ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของสวิตเซอร์แลนด์ ที่ประสบปัญหาทางการเงินเรื้อรังหนักมาอย่างน้อยตั้งแต่ปี 2021 และง่อนแง่นใกล้จะล้มในสัปดาห์ที่ผ่านมานี้

โดยถึงแม้ ‘จุดเปลี่ยนสำคัญ’ ที่ทำให้หุ้นของเครดิตสวิสดิ่งลงเหว (มากกว่า 75% จากช่วงเดียวในปีก่อนหน้า) จนทำให้เกิดปํญหาสภาพคล่องในสัปดาห์ที่ผ่านมาจะเป็น ‘การที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่อย่าง Saudi National Bank ประกาศไม่ซื้อหุ้นและอัดฉีดเงินทุนให้เครดิตสวิสต่อ’ นี่ก็เป็นเพียง ‘ยอดภูเขาน้ำแข็ง’ เท่านั้น เพราะเครดิตประสบปัญหามานานแล้ว โดยเหตุการณ์คร่าวๆ ที่ทำให้นักลงทุนสูญความมั่นใจในการบริหารจัดการของเครดิตสวิสมีดังนี้

  1. ในปี 2021 เครดิตสวิสสูญเงินรวม 7.7 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 2.62 แสนล้านบาท ไปจากการล้มละลายของกองทุน Archegos และ Greensill Capital ซึ่งเครดิตสวิสได้ไปลงทุนไว้
  2. ปี 2021 เดือนตุลาคม เครดิตสวิสถูกหน่วยงานสหรัฐฯ และอังกฤษสั่งปรับ 475 ล้านดอลลาร์สหรัฐหลังเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการคอร์รัปชั่นและติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐของโมซัมบิก 
  3. ในปี 2022 Antonio Horta-Osorio ลาออกจากการเป็นประธานของเครดิตสวิสหลังแหกกฎล็อคดาวน์โควิดจนเป็นข่าวอื้อฉาว
  4. ปี 2022 เดือนกุมภาพันธ์ คอนเฟิร์มว่ามีลูกค้าถอนเงินออกจากเครดิตสวิส 1.1 แสนฟรังก์สวิส หรือราว 4 ล้านล้านบาท ในขณะที่ทางแบงก์เองรายงานมีผลประกอบการขาดทุนถึง 7.29 พันล้านฟรังก์สวิสในปี 2021
  5. ปี 2023 Saudi National Bank ประกาศว่าจะไม่ซื้อหุ้นของเครดิตสวิสเพิ่มอีกด้วยเหตุผลทางกฎหมาย ทำให้หุ้นดิ่ง

โดยจากข้อมูลนี้จะเห็นได้ว่า สถานะการเงินของเครดิตสวิสเรียกได้ว่าอยู่ในขั้นเลวร้าย ซึ่งถือเป็นความตกต่ำขนาดหนัก เพราะเครดิตสวิสเป็นธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของสวิตเซอร์แลนด์ ปิดทำการมายาวนานถึง 167 ปี เคยมีทรัพย์สินในการดูแลก่อนเกิดวิกฤตซับไพรม์ในปี 2008 มากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 34 ล้านล้านบาท (ตอนนี้เหลือเพียง 5.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 19 ล้านล้านบาท)

33bk8zp-highres

 

‘เครดิตสวิส’ถือหุ้นโดยตรงในบริษัทไทย 9 บริษัท 

นอกจากนี้ เครดิตสวิสยังเป็น 1 ใน 30 'globally systemic banks (G-SIBs)' หรือ ธนาคารที่มีความสำคัญด้านระบบและโครงสร้างต่อสถาบันการเงินโลก มีสำนักงานทำการอยู่ใน 5 ประเทศทั่วโลก มีลูกค้าเป็นทั้งหน่วยงานรัฐบาล สถาบันการเงิน นักลงทุนสถาบัน กองทุนเฮดจ์ฟัน กองทุนบำเหน็จบำนาญ เศรษฐีความมั่งคั่งสูง รวมไปถึงธุรกิจที่มีความสำคัญทั่วโลก ซึ่งนี่รวมไปถึงเศรษฐีและ ‘บริษัทไทย’ โดยในปัจจุบัน “เครดิตสวิส” ถือหุ้นโดยตรงใน 9 บริษัทไทยด้วยกันคือ BANPU, BTS, KEX, KSL, NER, TMT, TRUE, TSE และ TWPC

ซึ่งเมื่อเห็นโครงข่ายโยงใยแบบนี้แล้ว จึงคิดภาพตามได้ไม่ยากว่าถ้าหากเครดิตสวิสล้มขึ้นมาจริงๆ ระบบการเงินรวมไปถึงตลาดหุ้นทั่วโลกต้องเกิดความวุ่นวายตามมามากมายแน่นอน และอาจทำให้ ‘UBS’ เองที่ตอนนี้เป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในสวิสได้รับผลกระทบร้ายแรงไปด้วย

นี่จึงทำให้ ‘การที่ UBS เข้าไปอุ้มเครดิตสวิสในครั้งนี้ ถือเป็นการเซฟชีวิตตัวเองไปด้วย’ เพราะความใหญ่และความสำคัญของเครดิตสวิสทำให้มันเป็นธนาคาร “Too Big to Fail” หรือ ยักษ์ที่ใหญ่เกินกว่าจะปล่อยให้ล้ม เพราะถ้าล้มทีนึงไม่ได้สะเทือนแค่ระบบการเงินในสวิสเท่านั้น แต่ยังส่งผลเป็นโดมิโนไปทั่วโลก ซึ่งแน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ธนาคารกลางสวิสยอมให้เกิดขึ้นไม่ได้

33bk9av-highres_1

 

UBS เข้ามาอุ้มเครดิตสวิสได้อย่างไร?

จากการรายงานของสื่อต่างประเทศ UBS ตกลงเข้ามาอุ้มเครดิตสวิสหลังการเจรจายาวนานในช่วงวันเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมา (18-19 มี.ค.) โดยมีข่าวรายงานว่า UBS และเครดิตสวิสไม่เต็มใจที่จะควบรวมกันนัก เพราะทางฝั่ง UBS เองก็ไม่อยากจะรับภาระทางการเงินอย่างเครดิตสวิสมาใส่ตัว เครดิตสวิสที่เคยเป็นธนาคารใหญ่ก็ยอมรับเงินที่ UBS เสนอมาไม่ได้ เพราะราคา 3 พันล้านฟรังก์สวิสถือว่าต่ำมาก และต่ำกว่ามูลค่าตลาดในวันศุกร์ที่ 17 มี.ค. ซึ่งอยู่ที่ 7.4 พันล้านฟรังก์สวิสถึง 60%

อย่างไรก็ตาม หลังการเจรจา ในที่สุด UBS ก็ตกลงรับเครดิตสวิสมาดูแล ด้วยการซื้อหุ้นทั้งหมดของเครดิตสวิสมูลค่ารวม 3.2 พันล้านดอลลาร์ และยกเลิกหุ้นกู้มูลค่า 1.6 พันล้านฟรังก์สวิสทั้งหมด 

นอกจากนี้ เพื่อจูงใจให้ UBS รับข้อเสนอ รัฐบาลสวิสยังเข้ามาให้เงินประกันความสูญเสียแก่ USB มูลค่า 9.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.27 แสนล้านบาท ในขณะที่ธนาคารกลางสวิสเข้ามาให้เงินช่วยเหลืออีก 1.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.7 หมื่นล้านบาท

33bn2u8-highres

 

อนาคตของเครดิตสวิสจะเป็นอย่างไรต่อไปภายใต้การดูแลของ UBS?

ตามแถลงการณ์ของเครดิตสวิส ทั้งสองธนาคารคาดว่าดีลนี้จะดำเนินการแล้วเสร็จในปลายปีนี้ และ Colm Kelleher ประธานของ UBS และ Ralph Hamers ซีอีโอของ UBS จะทำหน้าที่เป็นซีอีโอของธนาคารหลังการควบรวม และทีมบริหารของเครดิตสวิสจะอยู่ทำหน้าที่ต่อจนกว่าการควบรวมจะแล้วเสร็จ 

นอกจากนี้ UBS ยังมีแผนที่จะลดขนาดของธุรกิจวาณิชธนกิจ (investment bank) ของเครดิตสวิสลงเพื่อลดความเสี่ยง และอาจจะมีการเลย์ออกพนักงานครั้งใหญ่เพื่อลดต้นทุน โดยถึงแม้ UBS จะยังไม่เปิดเผยว่าจะเลย์ออฟเท่าไหร่ แต่ UBS ตั้งเป้าจะลดต้นทุนให้มากกว่า 8 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2027

การควบรวมนี้จะทำให้ UBS มีสินทรัพย์ลูกค้าในความดูแลมากถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถของ UBS ในการขยายธุรกิจไปยังประเทศในทวีปอเมริกาและเอเชีย

 

ที่มา: CNN, Reuters, BBC, Quartz, Financial Stability Board, Bloomberg

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT