ข่าวเศรษฐกิจ

ดีเซล จ่อขึ้นถึง 38 บาท กบน.คาดตรึงราคา 35 บาทได้ถึงสิ้น มิ.ย.นี้

14 มิ.ย. 65
ดีเซล จ่อขึ้นถึง 38 บาท กบน.คาดตรึงราคา 35 บาทได้ถึงสิ้น มิ.ย.นี้
ไฮไลท์ Highlight
ประกอบกับประเทศจีนมีการลดการส่งออกเพื่อสำรองไว้ใช้ในประเทศ ค่าการกลั่นที่สูงขึ้นนี้ เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่เพียงแต่เฉพาะประเทศไทย และที่ผ่านมา รัฐบาลก็พยายามอย่างสุดความสามารถในการใช้กลไกต่างๆ เพื่อช่วยลดภาระประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่สูงขึ้น และขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการหารือเพื่อขอความร่วมมือกับโรงกลั่นในการบริหารจัดการสำหรับช่วงที่เกิดวิกฤตด้านราคาพลังงานเช่นในปัจจุบันเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน” นายสมภพ กล่าว

นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สกนช. กล่าวยอมรับว่า เบื้องต้นมีความเป็นไปได้ที่ คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(กบน.) อาจจะต้องปรับเพดานการตรึงราคาดีเซลเป็น 38 บาท/ลิตร จากปัจจุบันกำหนดไว้ไม่เกิน 35 บาท/ลิตร ซึ่งอาจยืนได้ถึงสิ้นเดือน มิ.ย. ปีนี้ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อประกอบการทบทวนราคาแต่ละสัปดาห์ รวมถึงสภาพคล่องของกองทุนและความคืบหน้าเรื่องเงินกู้จากสถาบันการเงินว่าจะมีเงินเข้าเติมในระบบได้เร็วแค่ไหน

 

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานกำลังพิจารณาใช้มาตรการทางด้านพลังงานเข้าไปเก็บกำไรส่วนเกินจากหน้าโรงกลั่นน้ำมัน ก่อนนำไปใส่ในกองทุน เพื่อบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งได้สอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และอัยการสูงสุดได้คำตอบมาแล้วว่า อาจต้องมีการนำเสนอเข้า ครม. พิจารณาเพราะเกี่ยวข้องกับสัญญาโรงกลั่น

 

“เราก็กำลังดูให้รอบคอบ ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลคิดทำก่อนพรรคกล้าที่ออกมานำเสนอข้อมูล ถือว่าเป็นแนวทางที่ไม่ได้แตกต่างกัน ส่วนกรณีที่ระบุว่าค่าการกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้นมา 10 เท่าอยากให้ดูตัวเลขย้อนหลังเฉลี่ย 5 ปีจะเห็นว่าเฉลี่ยค่าการกลั่นจะอยู่ที่ 2-3 บาทกว่าต่อลิตรเท่านั้น แต่การที่เอาอัตราสูงสุดและต่ำสุดมาเทียบก็ทำให้ค่าการกลั่นสูงถึง 8 บาทตามที่พรรคกล้าออกมาให้ข้อมูล จึงไม่อยากให้ประชาชนเข้าใจผิด”

 

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าไม่ได้วางใจเรื่องของภาษีลาภลอย โดยมีการหารือกับทุกหน่วยงาน ซึ่งกระทรวงพลังงานก็มีอำนาจทำได้ในบางเรื่อง เช่น การดึงเงินกำไรส่วนเกินเอาไปเข้ากองทุน แต่เพื่อให้เกิดความแน่ใจและถูกต้องตามข้อกฎหมาย

 

ดีเซลขึ้นราคา


ด้านนายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้พิจารณาทบทวนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลประจำสัปดาห์ โดยมีมติให้ปรับราคาดีเซลขึ้น 1 บาท/ลิตร อยู่ที่ 34.94 บาท/ลิตร จาก 33.94 บาท/ลิตร มีผลตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย. 2565 เป็นต้นไป โดยกองทุนอุดหนุนอยู่ที่ 9.96 บาท/ลิตร จากราคาจริงอยู่ที่ประมาณ 45 บาท/ลิตร เนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันตลาดโลกค่อนข้างผันผวนมาก

 

ทั้งนี้ เห็นได้จากราคาดีเซล ประเทศสิงคโปร์วันที่ 2 มิ.ย.อยู่ที่ 158.29 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ปรับขึ้นไปอยู่ที่ 170.61 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. และขึ้น/ลงผันผวนระหว่างสัปดาห์ก่อนจะปรับตัวขึ้นไปสูงถึง 172.77 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา

 

ส่วนกลุ่มน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์นั้น กบน.ได้ปรับลดการนำส่งเงินเข้ากองทุนลงไปก่อนหน้านี้ 0.93 บาท/ลิตร จากเดิมจัดเก็บ 1.02 บาท/ลิตร เหลือส่งเงินเข้ากองทุน 0.09 บาท/ลิตร E20 ปรับลดการจัดเก็บลงอีก 0.94 บาท/ลิตร จากเดิมจัดเก็บ 0.12 บาท/ลิตร ส่งผลให้กองทุนต้องชดเชยเงินให้กับ E20 ที่ 0.82 บาท/ลิตร เพื่อทำให้ราคาขายปลีกเบนซินลดลง ซึ่งจะดำเนินการอย่างไรในระยะต่อไป ต้องหารือกันอีกครั้ง

 

โดยปัจจุบันประมาณฐานะกองทุน ณ วันที่ 12 มิ.ย. 2565 ติดลบ 91,089 ล้านบาท เป็นบัญชีน้ำมัน 54,574 ล้านบาท บัญชีก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ติดลบ 36,515 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถดูแลราคาพลังงานไปจนถึงสิ้นปีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการเงินกู้และเงินอุดหนุนจากรัฐบาลมาตรา 6(2) ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562

 

“ขณะนี้กองทุนยังมีกระแสเงินสดเป็นเงินฝากอยู่ในธนาคารประมาณ 8,200 ล้านบาท ฝากไว้ที่กระทรวงการคลังประมาณ 2,800 ล้านบาท มีเงินที่ยืดการชำระผู้ค้ามาตรา 7 อีกประมาณ 5,000-7,000 ล้าน และอื่นๆ อีก 2,000 ล้านบาทเศษ ประกอบกับการปรับราคาดีเซลขึ้น ช่วยลดภาระการอุดหนุนได้ 60 กว่าล้านลิตร/วัน คิดเป็นเงิน 663 กว่าล้านบาท/วัน หรือประมาณ 19,900 ล้านบาท/เดือน รวมกับการลดอุดหนุนดีเซลพรีเมียมส่วนหนึ่ง ทำให้มีเงินเติมเข้ามาในระบบ”

สำหรับความคืบหน้าการหารือเกี่ยวกับแนวทางการปรับลดค่าการกลั่นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น ขณะนี้เข้าใจว่ากระทรวงพลังงานกำลังพิจาณาอย่างรอบด้านให้ครบทุกมิติทั้งกฎหมาย ความเป็นธรรม สัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของโรงกลั่น หากมีข้อสรุปที่ชัดเจนทางกระทรวงพลังงานคงจะชี้แจงรายละเอียดต่างๆ ให้ทราบ

 

 


'พลังงาน' อยู่ระหว่างหารือโรงกลั่นลดผลกระทบประชาชน

โรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์

 


นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สำหรับที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับค่าการกลั่นน้ำมันที่สูงถึง 8 บาทต่อลิตรนั้น จากการตรวจสอบโครงสร้างค่าการกลั่นน้ำมันของประเทศไทย โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) โดยค่าการกลั่นเฉลี่ย 5 เดือน (ม.ค. – พ.ค. 2565) อยู่ที่ 3.27 บาทต่อลิตร และในเดือนพฤษภาคม ค่าการกลั่นอยู่ที่ 5.20 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงขึ้นจากในสภาวะปรกติก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่เคยอยู่ที่ประมาณ 2.00 - 2.50 บาท

 

แต่ค่าการกลั่นที่สูงขึ้นนี้ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าการกลั่นในตลาดโลก โดยเริ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตโควิดและปัญหาความไม่สงบระหว่างรัสเซีย - ยูเครน

 

สำหรับค่าการกลั่นน้ำมัน คือ กำไรเบื้องต้นของโรงกลั่นน้ำมันก่อนหักค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าจ้างพนักงาน ค่าบำรุงรักษาโรงกลั่น เป็นต้น สำหรับกำไรของโรงกลั่นยึดโยงกับต้นทุนราคาน้ำมันดิบและราคาขายน้ำมันสำเร็จรูปที่กลั่นได้ ปัจจุบันทางกระทรวงพลังงานก็อยู่ระหว่างการหารือเพื่อขอความร่วมมือกับโรงกลั่นในการบริหารจัดการสำหรับช่วงที่เกิดวิกฤตด้านราคาพลังงานเช่นในปัจจุบัน
การคำนวณค่าการกลั่นน้ำมันของกระรวงพลังงาน ที่มีการเผยแพร่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้อ้างอิงในภาพรวม

 

ในส่วนของค่าการกลั่นเป็นการบริหารจัดการธุรกิจของแต่ละโรงกลั่น ทั้งนี้ สนพ. มีวิธีการคำนวณจากส่วนต่างของราคา ณ โรงกลั่น (เฉพาะส่วนเชื้อเพลิงฟอสซิล) ของน้ำมันสำเร็จรูปเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักด้วยสัดส่วนของปริมาณการผลิตของประเทศ กับราคาน้ำมันดิบเฉลี่ย 3 แหล่ง (น้ำมันดิบดูไบ โอมาน และทาปิส) ทั้งนี้ การนำเอาราคาน้ำมันดิบมาหักจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปชนิดเดียวโดยตรง ไม่สามารถนำมาคำนวณเป็นค่าการกลั่นได้ เนื่องจากโรงกลั่นมีผลิตภัณฑ์หลายประเภทที่ได้จากน้ำมันดิบซึ่งมีราคาต่างกัน

 


“ที่มีการเผยแพร่ค่าการกลั่นน้ำมันซึ่งเผยแพร่หรือส่งต่ออยู่นี้ น่าจะเกิดจากความคลาดเคลื่อนในการคำนวณค่าการกลั่นเพราะจากการตรวจสอบค่าการกลั่นที่คำนวณโดย สนพ. ในเดือนพฤษภาคม 2565 จะอยู่ที่ประมาณ 5.20 บาทต่อลิตร และช่วง10 ปีที่ผ่านมาค่าการกลั่นน้ำมันเฉลี่ยในระดับปกติจะอยู่ที่ประมาณ 2.00 – 2.50 บาทต่อลิตร สำหรับในช่วงปี 2563 - 2564 ค่าการกลั่นน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 0.70 บาทต่อลิตร และ 0.89 บาทต่อลิตร ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับปกติ

 

เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ทำให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันลดลงเนื่องจากมีการจำกัดการเดินทาง ส่งผลให้ค่าการกลั่นอ่อนตัวอยู่ในระดับที่ต่ำ จึงไม่สามารถนำข้อมูลในช่วงปี 2563 และ 2564 มาเปรียบเทียบได้เนื่องจากเป็นสภาวะที่ไม่ปกติและอาจทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการสื่อความได้

 

 

ชี้แจงภาวะ 'ค่าการกลั่น' สูงขึ้นทั่วโลก

712314


สำหรับในสถานการณ์ปัจจุบัน ค่าการกลั่นที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากส่วนต่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันอ้างอิงของทุกผลิตภัณฑ์ปรับสูงขึ้นจากความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นหลังจากที่หลายประเทศทั่วโลกผ่อนคลายมาตรการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID -19 และความตึงเครียดทางการเมืองจากสงครามระหว่างประเทศรัสเซียและประเทศยูเครนซึ่งนำไปสู่การที่หลายประเทศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อประเทศรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลกทำให้อุปทานในตลาดตึงตัว

 


ประกอบกับประเทศจีนมีการลดการส่งออกเพื่อสำรองไว้ใช้ในประเทศ ค่าการกลั่นที่สูงขึ้นนี้ เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่เพียงแต่เฉพาะประเทศไทย และที่ผ่านมา รัฐบาลก็พยายามอย่างสุดความสามารถในการใช้กลไกต่างๆ เพื่อช่วยลดภาระประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่สูงขึ้น และขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการหารือเพื่อขอความร่วมมือกับโรงกลั่นในการบริหารจัดการสำหรับช่วงที่เกิดวิกฤตด้านราคาพลังงานเช่นในปัจจุบันเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน” นายสมภพ กล่าว


ทั้งนี้สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกล่าสุดยังยืนอยู่ที่ระดับเกิน 100 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยปิดตลาดเมื่อคืนนี้(13 มิ.ย.) สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส WTI ส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 26 เซนต์ หรือ 0.2% ปิดที่ 120.93 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 26 เซนต์ หรือ 0.2% ปิดที่ 122.27 ดอลลาร์/บาร์เรล

 

โดยในวันที่ 6 มี.ค. ปีนี้ ราคาน้ำมัน WTI เคยพุ่งขึ้นไปทะลุ 130.50 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นราคาสูงสุดนับตั้งแต่ช่วงวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันโลกปี 2008 ขณะที่น้ำมันดิบเบรนท์ ขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 13 ปีเช่นกัน ถึง 139.13 ดอลลาร์ระหว่างการซื้อขาย ก่อนจะกลับมาปิดตลาดที่ 129.78 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยบวกไป 11.67 ดอลลาร์ หรือ 9.9%

 

ด้านนักวิเคราะห์จากยูบีเอสกล่าวว่า ราคาน้ำมันได้แรงหนุนจากภาวะอุปทานตึงตัวในตลาด เนื่องจากปัจจัยที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ยังไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันตามข้อตกลง เนื่องจากบางประเทศประสบปัญหาการผลิต นอกจากนี้ การที่สหภาพยุโรป (EU) แบนการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียจะยิ่งทำให้อุปทานน้ำมันในตลาดโลกตึงตัวมากขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ รวมถึงประเด็นผลผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยังไม่จบ

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

1.มาแล้ว! น้ำมัน 130 เหรียญ แพงสุดในรอบ 13 ปี

 

2.เงินเฟ้อสหรัฐพุ่งสุด 40 ปี หุ้นดิ่งเหว 880 จุด - บิตคอยน์ใกล้หลุดล้าน

 

3.เงินเฟ้อไทยเดือนพ.ค.พุ่ง7.1%สูงสุดในรอบ 13 ปีจากพลังงาน อาหารปรับขึ้น

 

4.กอบศักดิ์ เตือน เฟดเตรียมใช้ยาแรง หลังเงินเฟ้อพุ่งไม่เลิก

 

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT