ข่าวเศรษฐกิจ

กนง. เสียงแตก 4 ต่อ 3 "รอบนี้คงดอกเบี้ย 0.5%" รอบหน้าไม่แน่?

8 มิ.ย. 65
กนง. เสียงแตก 4 ต่อ 3 "รอบนี้คงดอกเบี้ย 0.5%" รอบหน้าไม่แน่?

หวาดเสียว! ที่ประชุม กนง.เสียงแตก 4 ต่อ 3 ให้ "คงดอกเบี้ย 0.5%" ส่งสัญญาณ "ประเทศไทยอาจต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คิด"

 สรุปสาระสำคัญ

  1. กนง. มีมติคงดอกเบี้ยที่ 0.5%
  2. แต่การประชุมรอบนี้ "เสียงแตก" 4 ต่อ 3 เพราะมีกรรมการถึง 3 เสียง โหวตให้เริ่มขึ้นดอกเบี้ยได้แล้ว เพราะมีความเสี่ยงเงินเฟ้อชัดเจน
  3. มีโอกาสสูงที่ไทยจะ "ขึ้นดอกเบี้ย" เร็วกว่าที่เคยคาดไว้ และ กนง.ย้ำว่า หมดยุคการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำมาก ติดต่อกันเป็นเวลานานแล้ว
  4. กนง.คาดว่า ภาวะเงินเฟ้อจะพุ่งขึ้นจนถึงขั้น "พีคสุดในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้" จากนั้นจะเริ่มทยอยลดลงเมื่อเข้าสู่ไตรมาส 1 ปี 2566
  5. อัตราเงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงสูง จาก 2 ปัจจัยสำคัญที่ควบคุมไม่ได้ คือ 1.ราคาน้ำมันโลก และ 2. การส่งผ่านต้นทุนภายในประเทศ 

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันนี้ มีมติเฉียดฉิว 4 ต่อ 3 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี แต่ก็มีกรรมการถึง 3 เสียงเห็นควรให้ขึ้นดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ต่อปี โดยเห็นว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีความชัดเจนที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้แล้ว อย่างไรก็ตาม กรรมการเสียงส่วนใหญ่ 4 เสียง ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง และมีโอกาสฟื้นตัวดีกว่าที่ประเมินไว้ จากความต้องการบริโภคในประเทศ และอานิสงส์ของการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ก่อน


นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ กนง. แถลงว่า คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ต่อเนื่องและมีโอกาสฟื้นตัวดีกว่าที่ประเมินไว้ จากอุปสงค์ในประเทศและแรงส่งจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่ประเมินไว้เดิม จากการปรับขึ้นของราคาน้ำมันและการส่งผ่านต้นทุนที่มากและนานกว่าคาด


หากมองไปข้างหน้า การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบัน (ใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำมานาน) จะมีความจำเป็นลดลง อย่างไรก็ดี เพื่อให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจในระยะต่อไปจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องตามคาด กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมเดือน พ.ค. นี้ "โดยจะติดตามพัฒนาการของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิดต่อไป"


ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยจะขยายตัวในปี 2565 และ 2566 ที่ร้อยละ 3.3 และ 4.2 ตามลำดับ จากการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวดีกว่าคาดมากโดยเฉพาะในหมวดบริการ รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการเปิดประเทศของไทยและต่างประเทศที่เร็วขึ้น


นอกจากนี้ ตลาดแรงงานและรายได้ครัวเรือนมีสัญญาณปรับดีขึ้น ตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่การระบาดของโควิดและสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยจำกัด อย่างไรก็ดี ต้องติดตามความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป โดยเฉพาะผลกระทบจากต้นทุนและค่าครองชีพที่สูงขึ้นต่อการบริโภคภาคเอกชน

 การจับจ่ายใช้สอยในกทม.


สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 และ 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 6.2 และ 2.5 ตามลำดับ โดยอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงเกินกรอบเป้าหมายตลอดปี 2565 ตามราคาพลังงานโลกและการส่งผ่านต้นทุนภายในประเทศที่สูงขึ้นและกระจายตัวในหมวดสินค้าหลากหลายขึ้น แต่ประเมินว่ายังเป็นผลจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางไม่ได้ปรับสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา


อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปมีความเสี่ยงมากขึ้นจากราคาน้ำมันโลกที่มีโอกาสสูงกว่าที่ประเมินไว้ การส่งผ่านต้นทุนที่อาจมากและเร็วกว่าคาด และแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจเร่งขึ้นตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการเงินเฟ้อและการส่งผ่านต้นทุน รวมถึงเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางอย่างใกล้ชิด


สำหรับระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง รวมทั้งสภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง แต่การกระจายสภาพคล่องยังแตกต่างกันบ้างในแต่ละภาคเศรษฐกิจ ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจบางกลุ่มยังเปราะบาง โดยรายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และมีภาระหนี้อยู่ในระดับสูง จึงอาจมีความอ่อนไหวต่อค่าครองชีพและต้นทุนที่สูงขึ้น คณะกรรมการฯ เห็นว่า "มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ควรดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เห็นผลในวงกว้าง และสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว" รวมทั้งเห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุดสำหรับกลุ่มเปราะบาง


ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลายแต่มีความผันผวนมากขึ้น โดยอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. ปรับอ่อนค่าลงสอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาค ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้นตามทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลัก และการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของไทยในระยะข้างหน้า คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการและความผันผวนในตลาดการเงินอย่างใกล้ชิด


ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ประเมินว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีความชัดเจนขึ้น จึงเห็นว่าการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะมีความจำเป็นลดลงในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ให้สอดคล้องกับแนวโน้มและความเสี่ยงของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไป

 

อาคมมอง กนง. ยังไม่ใช่สัญญาณขึ้นดอกเบี้ยประชุมครั้งหน้า


ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง มองว่า แม้ว่า กนง. จะมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ แสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการ กนง.ส่วนใหญ่ยังเป็นห่วงและให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศอยู่


“คิดว่า กนง. ได้ประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบแล้ว และเชื่อว่าเขามีการติดตามและประเมินสถานการณ์ตลอดเวลา ยังบอกไม่ได้ว่าครั้งนี้มติไม่เป็นเอกฉันท์ แล้วการประชุมครั้งหน้าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ยังต้องติดตามสถานการณ์ ณ เวลานั้น ๆ อย่างใกล้ชิด ที่สำคัญคือจะต้องดูการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก” นายอาคม กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะเร็วหรือช้าขึ้นกับ กนง.ที่จะมีการติดตามสถานการณ์ต่างๆ รอบด้าน โดยเฉพาะทิศทางดอกเบี้ยของต่างประเทศเป็นสำคัญ เพราะว่าหากมีส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยมาก ก็จะทำให้เกิดปัญหาเงินทุนไหลออก ก็มีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเหมือนกัน


สำหรับการที่ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ได้ปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลงเล็กน้อย รมว.คลัง ยอมรับว่า อาจมีผลกระทบกับการส่งออกและเศรษฐกิจไทยบ้าง แต่อย่างไรก็ดีเชื่อว่าการส่งออกของไทยจะยังไปได้ดี โดยปีนี้ตั้งเป้าหมายส่งออกขยายตัวได้ 5-8% แต่ได้หารือกับสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ว่าให้ภาคเอกชนพยายามเร่งเพื่อให้การส่งออกขยายตัวได้ 10% เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ตามเป้าหมายที่ 3.5%


นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวของไทยฟื้นตัวดีขึ้นมาก หลังจากการเปิดประเทศจะเป็นตัวช่วยที่สำคัญในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย แต่ต้องยอมรับว่าราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นปัจจัยกดดันการฟื้นตัว ซึ่งเป็นผลมาจากเงินบาทที่อ่อนค่า ซึ่งในเรื่องนี้ทางกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ใช้กลไกของตัวเองดูแลอยู่ ส่วนเรื่องภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่ลดให้ 5 บาท/ลิตร เป็นเวลา 2 เดือน จนถึงวันที่ 20 ก.ค. 65 ยังบอกไม่ได้ว่าหลังครบกำหนดเวลาแล้วจะดำเนินการอย่างไร คงต้องรอพิจารณาสถานการณ์ ณ ขณะนั้นว่าจะลดภาษีต่อได้หรือไม่ โดยต้องดูภาพรวมการจัดเก็บรายได้ด้วย

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT