ในช่วงสงกรานต์ระหว่างวันที่ 13-14 เม.ย. ธนาคารกลางใน 3 ประเทศ ได้แก่ นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ และ แคนาดา ได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ในเวลาไล่เลี้ยกัน ซึ่งนับเป็นการเดินเครื่อง "ปีแห่งการขึ้นดอกเบี้ย" อย่างเต็มตัว หลังจากที่ "ภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก" ถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากปัจจัยกระตุ้นเรื่องราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นผลพวงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน
ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 1.50% เมื่อวันที่ 13 เม.ย. โดยเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็น "ครั้งที่ 4 ติดต่อกัน" เพื่อลดผลกระทบรอบที่ 2 จากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างมาก
มาตรการดังกล่าว ยังเป็นการขึ้นดอกเบี้ยรวดเดียว 0.5% ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์หลายฝ่ายเชื่อว่าจะทยอยขึ้น 0.25% เท่านั้น และนับเป็นการปรับขึ้นมากที่สุดในรอบมากกว่า 20 ปี ของนิวซีแลนด์ด้วย หลังจากที่ประเทศเผชิญภาวะเงินเฟ้อแรงสุดในรอบ 22 ปี
ด้านธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.5% ในการประชุมเมื่อวันที่ 13 เม.ย. เพื่อสกัดภาวะเงินเฟ้อที่ขยายตัวแรงที่สุดในรอบ 10 ปี หลังจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนได้ส่งผลให้ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งขึ้นอย่างรุนแรง
แบงก์ชาติเกาหลีใต้ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อในประเทศพุ่งขึ้นอย่างมาก เนื่องจากสงครามที่ยืดเยื้อระหว่างรัสเซียและยูเครนได้ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน และยังทำให้ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งขึ้นอย่างมาก โดยดัชนีเงินเฟ้อเดือน มี.ค. พุ่งขึ้น 4.1% ในซึ่งเป็นการขยายตัวที่รวดเร็วที่สุดในรอบกว่า 10 ปี
นอกจากนี้ ธนาคารกลางเกาหลีใต้ส่งสัญญาณว่า "อาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก" ในช่วงหลายเดือนข้างหน้า เพื่อควบคุมเงินเฟ้อและหนี้สินภาคครัวเรือน แม้จะมีความกังวลว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจก็ตาม
ขณะที่ธนาคารกลางแคนาดา (BOC) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 1% ซึ่งเป็นการขึ้นดอกเบี้ยรวดเดียว 0.5% หรือมากที่สุดในรอบกว่า 2 ปี พร้อมกับส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกในวันข้างหน้า เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่สูงขึ้น อันเนื่องมาจากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน
"การปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกในวันข้างหน้า ถือเป็นภารกิจที่จำเป็น เรามีความมุ่งมั่นที่จะใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงิน ซึ่งรวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ เนื่องจากขณะนี้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นอย่างรุนแรง และมีแนวโน้มที่จะบั่นทอนการเติบโตของเศรษฐกิจ"
ทั้งนี้ แบงก์ชาติแคนาดายังได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 (H1) สู่ระดับ 6% จากคาดการณ์เดิมที่ 5% และได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อตลอดปี 2565 ขึ้นสู่ระดับ 5.3% จากระดับ 4.2% โดยระบุว่า สงครามส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้น อีกทั้งทำให้ห่วงโซ่อุปทานประสบภาวะชะงักงัน ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม สำหรับ "จีน" ที่ออกมาส่งสัญญาณว่าจะผ่อนคลายนโยบายการเงินเมื่อวานนี้ จนทำให้ตลาดหุ้นทั่วเอเชียบวกได้นั้น ล่าสุดวันนี้ ยังไม่มีสัญญาณการเปลี่ยนแปลงใดๆ ออกมาจากธนาคารกลางจีน (PBOC)