ความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชากำลังลุกลามจากสนามรบสู่สนามเศรษฐกิจ เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ใช้โซเชียลมีเดียส่วนตัวประกาศชัดว่า เขาจะไม่ทำข้อตกลงทางการค้าใดๆ กับทั้งสองประเทศ หากยังไม่ยอมหยุดยิงอย่างเป็นทางการ
ถ้อยแถลงของทรัมป์คือแรงกดดันครั้งใหญ่ โดยเฉพาะกับไทย ซึ่งพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ อย่างมาก สหรัฐฯ คือปลายทางส่งออกอันดับหนึ่งของไทย และหากไทยไม่สามารถเจรจาลดภาษีตอบโต้ที่สูงถึง 36% ได้สำเร็จ ประเทศจะเสียเปรียบคู่แข่งในภูมิภาคทันที ขณะที่เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ต่างสามารถปิดดีลการค้า พร้อมอัตราภาษีที่ต่ำลงไปแล้ว
สถานการณ์จึงกลายเป็นเดิมพันครั้งสำคัญ หากไทยคำนวณผิดพลาด ไม่เพียงแต่จะต้องเผชิญภัยสงครามที่คร่าชีวิตและบั่นทอนความเป็นอยู่ของประชาชน แต่ยังอาจต้องแบกรับภาระงบประมาณเพิ่มขึ้น และสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกไปพร้อมกัน
ในช่วงค่ำวันเสาร์ที่ 26 กรกฎาคม ต่อเนื่องถึงช่วงเช้ามืดของวันที่ 27 กรกฎาคม ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ได้โพสต์ข้อความต่อเนื่อง 3 ครั้งผ่านแพลตฟอร์ม Truth Social โดยเปิดเผยว่าเขาได้โทรศัพท์หารือโดยตรงกับผู้นำทั้งสองประเทศที่กำลังมีความขัดแย้งบริเวณชายแดน ได้แก่ สมเด็จฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และนายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการนายกรัฐมนตรีไทย เพื่อเร่งรัดให้เกิดการหยุดยิงโดยทันที พร้อมย้ำเงื่อนไขอย่างชัดเจนว่าสหรัฐฯ จะไม่เดินหน้าเจรจาข้อตกลงทางการค้ากับทั้งสองประเทศ หากยังไม่มีการยุติการสู้รบ
ทรัมป์เริ่มต้นการเคลื่อนไหวในเวลา 22.28 น. ตามเวลาไทย โดยระบุว่าเขาเพิ่งพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเรื่องการยุติสงครามกับไทย และขณะนั้นกำลังติดต่อไปยังฝ่ายไทย โดยเน้นว่าการปะทะที่ยังดำเนินอยู่นั้น ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชนจำนวนมาก แต่ยังกระทบต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาข้อตกลงทางการค้ากับทั้งสองประเทศพอดี ทรัมป์ระบุชัดว่า "เราไม่ต้องการทำข้อตกลงใดๆ กับทั้งสองประเทศ หากยังต่อสู้กันอยู่" พร้อมกล่าวว่าเขาพยายามทำให้สถานการณ์นี้ง่ายขึ้น และเปรียบเทียบความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาครั้งนี้กับกรณีอินเดีย–ปากีสถาน ที่สามารถยุติความรุนแรงได้สำเร็จผ่านการเจรจา
ต่อมาในเวลา 22.49 น. ทรัมป์ได้โพสต์อัปเดตว่า เขาได้สนทนากับรักษาการนายกรัฐมนตรีของไทยแล้ว และระบุว่าเป็นบทสนทนาที่ “ดีมาก” โดยทั้งไทยและกัมพูชาต่างแสดงความต้องการตรงกันว่าจะหยุดยิงและยุติความขัดแย้งโดยเร็วที่สุด ทรัมป์ระบุว่าเขาจะถ่ายทอดข้อความดังกล่าวกลับไปยังผู้นำกัมพูชา และแสดงความเชื่อมั่นว่า “การหยุดยิง สันติภาพ และความเจริญรุ่งเรือง” เป็นทิศทางที่มีความเป็นไปได้สูงในอนาคตอันใกล้
ในเวลา 23.23 น. ทรัมป์ได้โพสต์ข้อความครั้งที่สาม โดยระบุว่าเขาได้ติดต่อกลับไปยังผู้นำกัมพูชาอีกครั้ง เพื่อแจ้งผลการพูดคุยกับฝ่ายไทย พร้อมยืนยันว่าทั้งสองประเทศต่างแสดงเจตจำนงร่วมกันในการหยุดยิงอย่างเร่งด่วน และมีความประสงค์จะกลับเข้าสู่ “โต๊ะเจรจาการค้า” กับสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ย้ำว่าข้อตกลงทางการค้าจะยังไม่สามารถเดินหน้าได้จนกว่าการสู้รบจะสิ้นสุดลงโดยสมบูรณ์
เขายังระบุว่า ทั้งไทยและกัมพูชาได้ตกลงเบื้องต้นว่าจะพบกันโดยเร็ว เพื่อหาข้อตกลงหยุดยิง และวางแนวทางฟื้นฟูสันติภาพในภูมิภาค พร้อมแสดงความชื่นชมในมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศ และหวังว่าทั้งสองจะสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบได้ในระยะยาว
ภายหลังการโทรศัพท์หารือโดยตรงจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ถึงผู้นำของไทยและกัมพูชา ทั้งสองประเทศได้แสดงท่าทีตอบสนองต่อข้อเสนอหยุดยิงอย่างระมัดระวัง แม้จะมีสัญญาณในเชิงบวก แต่จุดยืนของแต่ละฝ่ายสะท้อนความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ
ฝั่งกัมพูชาแสดงจุดยืนสนับสนุนอย่างชัดเจน โดยสมเด็จฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เปิดเผยเมื่อช่วงค่ำวันที่ 26 กรกฎาคมว่า ได้พูดคุยกับทรัมป์เกี่ยวกับสถานการณ์ปะทะชายแดนไทย-กัมพูชา และเห็นชอบกับข้อเสนอให้มีการ "หยุดยิงโดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข" เพื่อป้องกันความสูญเสียเพิ่มเติม
ในแถลงการณ์อย่างเป็นทางการผ่านเพจ “Samdech Thipadei Hun Manet, Prime Minister of Cambodia” ซึ่งเผยแพร่เมื่อเวลาประมาณ 02.00 น. ของวันที่ 27 กรกฎาคม ฮุน มาเนตระบุว่า ทรัมป์แสดงความกังวลต่อการสูญเสียชีวิตของทหารและพลเรือนจากการสู้รบ และต้องการให้ความขัดแยงยุติโดยเร็ว เขายังกล่าวถึงบทบาทของทรัมป์ในฐานะผู้นำที่มีประสบการณ์ในการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างประเทศ และยินดีที่สหรัฐฯ มีเจตนารมณ์ช่วยฟื้นฟูสันติภาพในภูมิภาค
ฮุน มาเนตย้ำว่า กัมพูชาเห็นด้วยอย่างเต็มที่ต่อข้อเสนอของสหรัฐฯ และได้แสดงจุดยืนเดียวกันนี้ต่อดาโต๊ะ สรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซียและประธานอาเซียนคนปัจจุบัน ระหว่างการหารือเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา
ในขณะที่ฝั่งไทย รักษาการนายกรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยชัย ตอบสนองด้วยท่าทีที่ระมัดระวังกว่า โดยโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ไทย “เห็นด้วยในหลักการ” ต่อข้อเสนอหยุดยิง แต่ยังขอให้ฝ่ายกัมพูชาแสดง “ความจริงใจ” ต่อการแก้ปัญหา และเน้นย้ำว่าการเจรจาใด ๆ ควรเป็นไปผ่านช่องทางทวิภาคีโดยตรง
ภูมิธรรมยังระบุว่า ไทยต้องการให้สหรัฐฯ ช่วยส่งสารไปยังรัฐบาลกัมพูชา เพื่อเปิดการเจรจาแบบสองฝ่ายโดยเร็วที่สุด ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับจุดยืนของรัฐบาลไทยที่ไม่ต้องการให้ประเทศที่สามเข้ามาทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย แต่ต้องการพัฒนาความเข้าใจร่วมกันผ่านกระบวนการทูตระหว่างรัฐบาลของทั้งสองประเทศโดยตรง พร้อมทั้งเสนอให้มีการกำหนดมาตรการและกระบวนการที่ชัดเจนสำหรับการหยุดยิง เพื่อให้การแก้ไขปัญหานำไปสู่ความยั่งยืนในระยะยาว
นาย กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์แสดงความเห็นต่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชาผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า การที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาเรียกร้องให้ทั้งสองประเทศยุติการสู้รบและเข้าสู่กระบวนการหยุดยิงโดยไม่มีเงื่อนไข เป็นโอกาสสำคัญที่ไทยควรคว้าไว้ เพราะอาจนำไปสู่การปลดล็อกข้อจำกัดด้านภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ที่กำลังจะบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้
นายกรณ์อธิบายว่า หากการสู้รบยังดำเนินต่อไป สหรัฐฯ อาจไม่ยอมเจรจาหรือให้เงื่อนไขภาษีพิเศษแก่ทั้งไทยและกัมพูชา เพราะความขัดแย้งดังกล่าวขัดต่อผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ในภูมิภาค และขัดกับภาพลักษณ์ที่ทรัมป์ต้องการสร้างในฐานะผู้นำที่สามารถ “ยุติสงคราม” ได้
เขาย้ำว่า หากไทยต้องการให้การเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ โดยเฉพาะเรื่องภาษีนำเข้าประสบผลสำเร็จ ทรัมป์ต้องได้สิ่งตอบแทนทางการเมือง ไม่ใช่แค่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และการประกาศหยุดยิงในจังหวะนี้จะตอบโจทย์เป้าหมายของทรัมป์ที่ยังไม่สามารถปิดดีลหยุดยั้งสงครามในยูเครนหรือความขัดแย้งในตะวันออกกลางได้
“หากจะมีข้อตกลงได้ อเมริกาต้องไม่ได้เพียงแค่ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่ทรัมป์ต้องได้ ‘win’ ทางการเมือง… การตกลงหยุดยิงน่าจะช่วยให้ทั้งสองประเทศได้รับข้อตกลงภาษีลดลง และเข้าจังหวะที่ทรัมป์ตัองการผลงานการเจรจาสงบศึก หลังจากที่ยังไม่สามารถทำได้ตามที่เคยหาเสียงไว้ในกรณี รัสเซีย/ยูเครน และ อิสราเอล/ปาเลสไตน์ เป็นที่รู้กันว่าทรัมป์ต้องการ Nobel Prize จากผลงานระงับสงคราม” นายกรณ์ระบุ
ในแง่ของผลประโยชน์ฝั่งไทย กรณ์มองว่าหากรัฐบาลไทยแสดงจุดยืนชัดเจนว่าไม่ต้องการความรุนแรง พร้อมหยุดยิงทันทีหากกัมพูชาหยุด และพร้อมกลับสู่โต๊ะเจรจาแบบทวิภาคีโดยไม่มีศาลโลกเข้ามาเกี่ยวข้อง ย่อมเป็นประโยชน์ในหลายมิติ โดยเฉพาะการตัดบทความขัดแย้งที่อาจลุกลามและส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพภายใน และลดแรงกดดันจากสหรัฐฯ ที่ขู่จะใช้มาตรการภาษี 36% กับสินค้าส่งออกของไทย
เขายังชี้ว่า การแทรกแซงของทรัมป์น่าจะเป็น “ทางลง” ที่เหมาะสมสำหรับผู้นำกัมพูชา ฮุน เซน ซึ่งขณะนี้กำลังเผชิญแรงกดดันทางเศรษฐกิจอย่างหนัก โดยเฉพาะหากต้องเผชิญมาตรการภาษีสูงจากสหรัฐฯ เช่นเดียวกับไทย จึงมีแนวโน้มที่ผู้นำกัมพูชาจะยอมถอยในเงื่อนไขนี้ เพื่อรักษาเศรษฐกิจในประเทศ
กรณ์สรุปว่า การบรรลุข้อตกลงหยุดยิงในสถานการณ์นี้ เป็นโอกาสที่ไทยควรใช้เพื่อฟื้นคืนเส้นทางการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ และกลับไปเจรจาชายแดนกับกัมพูชาในระดับทวิภาคี ซึ่งเป็นเวทีที่ไทยมีความได้เปรียบ และไม่ต้องพึ่งพากลไกของศาลระหว่างประเทศที่ไม่เอื้อต่อผลประโยชน์ของไทยนัก
ท้ายที่สุด เขาย้ำว่าการได้มาซึ่งโอกาสทางการเมืองและเศรษฐกิจในครั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าแลกมาด้วยชีวิตและความเสียสละของทหารและประชาชนไทย พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลใช้โอกาสนี้อย่างรอบคอบและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อชาติ