Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
“พิชัย”เชื่อไทยลดภาษีทรัมป์ต่ำกว่า36%ทัน1ส.ค. เสนอเก็บ0%สินค้าสหรัฐฯ
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

“พิชัย”เชื่อไทยลดภาษีทรัมป์ต่ำกว่า36%ทัน1ส.ค. เสนอเก็บ0%สินค้าสหรัฐฯ

8 ก.ค. 68
10:41 น.
แชร์

ในวันนี้ (8 ก.ค. 68) นาย พิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผยแก่ผู้สื่อข่าว แสดงความเชื่อมั่นว่าไทยยังมีเวลาเพียงพอในการเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อขอลดอัตราภาษีนำเข้า 36% ที่จะเริ่มมีผลกับสินค้าจากไทยในวันที่ 1 สิงหาคม 2568 หลังไทยได้รับจดหมายจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งระบุชัดว่าสหรัฐฯ จะยังคงจัดเก็บภาษีในอัตรานี้ หากไทยไม่เสนอเงื่อนไขใหม่ในการเจรจา

นาย พิชัยเปิดเผยว่า ในการหารือระดับรัฐมนตรีที่ผ่านมา ฝ่ายไทยได้เสนอแผนลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ลงถึง 90% โดยบางรายการเสนอให้ยกเว้นภาษีทั้งหมด เพื่อส่งเสริมการเปิดตลาดและรักษาสมดุลทางการค้าระหว่างสองประเทศ อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีคลังเชื่อว่าสหรัฐฯ ยังไม่ได้พิจารณาข้อเสนอนี้อย่างจริงจัง และไทยยังมีเวลาและโอกาสในการเจรจาเพิ่มเติม เพื่อลดความเสี่ยงจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

จดหมายจากทรัมป์ บรรยากาศเข้มข้นก่อนเส้นตาย

ในจดหมายจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ส่งถึงรัฐบาลไทย เขาเริ่มต้นด้วยถ้อยคำให้เกียรติว่า “รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ส่งจดหมายฉบับนี้ถึงท่าน” ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาหลักซึ่งสะท้อนถึงความไม่พอใจของสหรัฐฯ ต่อดุลการค้ากับประเทศไทย โดยระบุว่าเป็น “ความไม่สมดุลและไม่ยั่งยืน”

ทรัมป์เขียนว่า “เราต้องหยุดยั้งการขาดดุลการค้าในระยะยาวและต่อเนื่อง ซึ่งเกิดจากภาษีศุลกากร มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี และอุปสรรคทางการค้าจากฝั่งไทย ความสัมพันธ์ระหว่างเรายังห่างไกลจากการเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียม”

ในจดหมายดังกล่าว สหรัฐฯ ระบุชัดว่า จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 36% ครอบคลุมสินค้าทุกประเภทจากประเทศไทยโดยไม่ยกเว้น พร้อมเตือนว่า “สินค้าที่พยายามเลี่ยงภาษีโดยส่งผ่านประเทศไทย” (transshipment) จะถูกจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าสินค้าทั่วไปจากไทย

ทรัมป์ยังส่งสัญญาณว่าภาษี 36% ที่ประกาศใช้นั้น “ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น” หากพิจารณาจากระดับการขาดดุลการค้าระหว่างสองประเทศ และเสนอว่า หากบริษัทไทยต้องการหลีกเลี่ยงภาระภาษี ควรพิจารณาย้ายฐานการผลิตเข้าสู่สหรัฐฯ โดยให้คำมั่นว่ารัฐบาลจะเร่งอนุมัติการลงทุน “อย่างรวดเร็ว เป็นมืออาชีพ และราบรื่นภายในไม่กี่สัปดาห์”

ทรัมป์ยังระบุว่า หากประเทศไทยพร้อมเปิดตลาดมากขึ้น ยกเลิกนโยบายภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงอุปสรรคทางการค้าอื่น ๆ สหรัฐฯ ก็พร้อมเจรจาปรับเปลี่ยนอัตราภาษีตามความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ พร้อมทิ้งท้ายว่า “เราหวังว่าจะได้ทำงานร่วมกันในฐานะพันธมิตรทางการค้าอีกหลายปีข้างหน้า”

จดหมายฉบับนี้มีขึ้นหลังจากทำเนียบขาวประกาศขึ้นภาษีนำเข้าในอัตราสูงเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยทรัมป์เคยเลื่อนการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวออกไป 90 วันเพื่อเปิดทางให้เจรจา แต่เมื่อไม่มีความคืบหน้า ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม เขาได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหาร ขยายเวลาผ่อนผันเพิ่มเติม พร้อมส่งจดหมายเตือนไปยัง 14 ประเทศที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงประเทศไทย

สำหรับรายชื่อประเทศที่ถูกจัดเก็บภาษีในรอบนี้ ไทยและกัมพูชาโดนเรียกเก็บ 36%, ลาวและเมียนมา 40%, บังกลาเทศและเซอร์เบีย 35%, อินโดนีเซีย 32%, บอสเนียฯ และแอฟริกาใต้ 30%, ขณะที่ญี่ปุ่น คาซัคสถาน มาเลเซีย เกาหลีใต้ และตูนิเซีย ถูกเรียกเก็บในอัตรา 25%

ดีลจากไทยก่อนได้รับจดหมายเรียกเก็บภาษี 36% อีกครั้ง

ทั้งนี้ ก่อนที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารและส่งจดหมายยืนยันว่าไทยจะยังถูกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 36% ไทยได้ยื่นข้อเสนอทางการค้าฉบับปรับปรุงใหม่ต่อสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการเมื่อค่ำวันที่ 6 กรกฎาคม 2568 โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อชะลอแรงกดดันจากมาตรการภาษี และเร่งสร้างสมดุลทางการค้าระหว่างสองประเทศให้เร็วขึ้น ข้อเสนอจากฝั่งไทยประกอบด้วย

  • การลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ลง 90% โดยบางรายการจะลดเหลือ 0% เพื่อส่งเสริมการเปิดตลาดอย่างมีนัยสำคัญ นายพิชัยเปิดเผยว่า มีหลายรายการที่ไทยสามารถให้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวได้ แต่จะพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้กระทบต่อพันธกรณีทางการค้ากับประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ซึ่งต้องพิจารณาอย่างละเอียดว่าแต่ละชนิด “รับได้หรือไม่รับได้”
  • การเปิดตลาดให้กับสินค้าเกษตรและพลังงานของสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าที่ไทยยังผลิตไม่ได้หรือผลิตไม่เพียงพอ เช่น ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากโครงการในรัฐอะแลสกา ซึ่งภาคเอกชนไทยอยู่ระหว่างเจรจาสัญญาระยะยาว 20 ปี รวมถึงการจัดซื้อก๊าซอีเทนจากสหรัฐฯ โดยบริษัทด้านเคมีภัณฑ์ของไทย
  • การจัดซื้อเครื่องบิน Boeing เพิ่มเติม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนเพิ่มการนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ในหมวดที่มีมูลค่าสูง โดยการบินไทยมีแผนที่จะซื้อเครื่องบินจาก Boeing เพิ่มขึ้นถึง 80 ลำ
  • การลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) เช่น การปรับปรุงกระบวนการอนุญาตนำเข้าสินค้าและข้อกำหนดเฉพาะบางประเภท เพื่อให้การเปิดตลาดเกิดขึ้นได้จริง

ข้อเสนอการค้านี้มีเป้าหมายคือ ลดการเกินดุลการค้าของไทยต่อสหรัฐฯ ลงให้ได้ 70% ภายใน 5 ปี สร้างดุลการค้าที่สมดุลภายใน 7–8 ปี ซึ่งถือว่าเร็วกว่าแผนเดิมที่เสนอไว้ (10 ปี) และแสดงความจริงใจและความพร้อมของไทยในการเจรจาอย่างสร้างสรรค์


แชร์
“พิชัย”เชื่อไทยลดภาษีทรัมป์ต่ำกว่า36%ทัน1ส.ค. เสนอเก็บ0%สินค้าสหรัฐฯ