ในปี 2024 ที่ผ่านมา บริษัทเหมืองแร่ของจีนเร่งขยายการลงทุนในต่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีการทำข้อตกลงมูลค่ากว่า 100 ล้านดอลลาร์ จำนวน 10 รายการ ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2013 ข้อมูลจาก S&P และ Mergermarket สอดคล้องกับผลวิจัยของ Griffith Asia Institute ที่ระบุว่าปี 2023 เป็นปีที่จีนลงทุนและก่อสร้างเหมืองในต่างประเทศมากที่สุดในรอบทศวรรษ
ปัจจบัน จีนในฐานะผู้บริโภคแร่รายใหญ่ที่สุดของโลก มีความต้องการวัตถุดิบจำนวนมหาศาล ทำให้การลงทุนในต่างประเทศเป็นกลยุทธ์สำคัญอย่างต่อเนื่อง นักวิเคราะห์มองว่าการเร่งทำข้อตกลงในช่วงนี้ เป็นความพยายามของจีนในการรับมือล่วงหน้าต่อสภาวะภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังตึงเครียด ซึ่งอาจทำให้การลงทุนในประเทศสำคัญ เช่น แคนาดาและสหรัฐฯ ยากขึ้นในอนาคต
Michael Scherb ผู้ก่อตั้ง Appian Capital Advisory กล่าวว่า บริษัทจีนกำลังเร่งดำเนินการ “เพราะเชื่อว่ามีหน้าต่างโอกาสในระยะสั้น จึงพยายามปิดดีล M&A ให้ได้มากที่สุดก่อนที่สถานการณ์จะซับซ้อนขึ้น”
แนวโน้มนี้ยังคงต่อเนื่องในปี 2024 ล่าสุด Zijin Mining ของจีนประกาศแผนเข้าซื้อเหมืองทองในคาซัคสถาน มูลค่า 1.2 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่ในเดือนเมษายน Appian ได้ขายเหมืองทองแดงและทองในบราซิลให้ Baiyin Nonferrous Group ของจีนในราคา 420 ล้านดอลลาร์
Richard Horrocks-Taylor หัวหน้าฝ่ายโลหะและเหมืองแร่ระดับโลกของ Standard Chartered คาดว่า “ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เราจะยังคงเห็นการทำข้อตกลงอย่างต่อเนื่องจากบริษัทเหมืองแร่ของจีน”
ท่ามกลางการแข่งขันเพื่อควบคุมวัตถุดิบสำคัญของโลก การลงทุนในเหมืองแร่ในต่างประเทศของจีนกำลังสะท้อนถึงยุทธศาสตร์ใหม่และบทบาทของจีนในเวทีเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนไป
Christoph Nedopil ผู้อำนวยการ Griffith Asia Institute ระบุว่า แม้ในช่วงหลังโครงการด้านคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานภายใต้ Belt and Road ของจีนจะลดขนาดลง แต่การลงทุนในเหมืองแร่ในต่างประเทศของจีนกลับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนการเปลี่ยนผ่านของจีนสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตเทคโนโลยีชั้นสูง เช่น แบตเตอรี่และพลังงานสะอาด
แม้ว่าจีนจะเป็นผู้นำด้านการแปรรูปแร่สำคัญอย่างแร่หายาก ลิเทียม และโคบอลต์ แต่จีนยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจำนวนมาก ขณะที่สหรัฐฯ ยุโรป แคนาดา และออสเตรเลีย กำลังเร่งพัฒนาห่วงโซ่อุปทานทางเลือกและลดการพึ่งพาจีนสำหรับวัตถุดิบที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ เช่น แบตเตอรี่ รถยนต์ไฟฟ้า เซมิคอนดักเตอร์ และกังหันลม
เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับซัพพลายเชนและสร้างความมั่นคงระยะยาว จีนจึงเร่งสะสมทรัพยากรแร่ทั่วโลกเข้ามาอยู่ภายใต้การควบคุมของตนเองมากขึ้น
John Meyer นักวิเคราะห์จาก SP Angel ให้ความเห็นว่า จีนกำลังเร่งปิดดีลอย่างต่อเนื่อง เพื่อจำกัดโอกาสที่ประเทศตะวันตกจะเข้าถึงวัตถุดิบสำคัญ “ทุกครั้งที่มีโครงการเหมืองลิเทียมใกล้จะเริ่มเดินหน้า จีนจะรีบเข้ามาพร้อมสมุดเช็ค" โดยในปีที่ผ่านมา บริษัทจีนที่ขยายการลงทุนอย่างโดดเด่น ได้แก่ CMOC, MMG และ Zijin Mining
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังชี้ว่า บริษัทจีนมีความเชี่ยวชาญมากขึ้นในการเข้าซื้อสินทรัพย์เหมืองแร่จากบริษัทตะวันตก โดยมักยอมรับความเสี่ยงสูงและถือมุมมองการลงทุนในระยะยาว ขณะที่สถาบันการเงินจีนก็สนับสนุนผ่านสินเชื่อมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ให้กับโครงการเหมืองและโรงงานแปรรูปในประเทศกำลังพัฒนา
Michael Scherb เสริมว่า กลยุทธ์การควบรวมและซื้อกิจการ (M&A) ของจีนมีพัฒนาการชัดเจน จากเดิมที่รัฐบาลจีนมักเลือกผู้เข้าซื้อเพียงรายเดียวในการประมูล ปัจจุบัน จีนเปิดให้บริษัทจีนแข่งขันกันเองในเวทีโลก สะท้อนความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายที่จีนไม่กลัวที่จะแพ้ให้กับบริษัทตะวันตกอีกต่อไป
นอกจากนี้ ในหลายประเทศในแอฟริกา บริษัทจีนยังเข้าไปลงทุนในพื้นที่ที่ชาติตะวันตกเผชิญอุปสรรคสูงขึ้น Timothy Foden จากสำนักงานกฎหมาย Bois Schiller Flexner ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานในหลายประเทศในแอฟริกา ระบุว่า จีนกำลังใช้กลยุทธ์ยอมรับผลตอบแทนที่ต่ำกว่า เพื่อแลกกับสิทธิในการบริหารจัดการเหมืองในประเทศที่เริ่มหันไปควบคุมทรัพยากรของตนเอง เช่น มาลี ที่รัฐบาลทหารเริ่มเข้าควบคุมสินทรัพย์เหมืองของบริษัทตะวันตก และเรียกเก็บค่าภาคหลวงในอัตราที่สูงขึ้น
ที่มา: Financial Times