รายงานล่าสุดจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) หนึ่งในองค์กรสหประชาชาติ (UN) และสถาบันวิจัยแห่งชาติโปแลนด์ ระบุว่าแรงงานจำนวนมากทั่วโลกหรือถึง 1 ใน 4 กำลังเผชิญความเสี่ยงจากการถูกปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาแทนที่ โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีแนวโน้มตกงานจากผลของเทคโนโลยีมากกว่าผู้ชายถึงสามเท่า
หนึ่งในกลุ่มงานที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ “งานธุรการ” เนื่องจากลักษณะงานสามารถแปลงเป็นระบบอัตโนมัติได้ง่าย และด้วยโครงสร้างตลาดแรงงานในปัจจุบัน งานประเภทนี้มักเป็นหน้าที่ของแรงงานหญิงเป็นหลัก
นอกจากนี้ ข้อมูลในรายงานยังชี้ว่า ในประเทศที่มีรายได้สูง แรงงานหญิงประมาณ 9.6% ทำงานในตำแหน่งที่มีความเสี่ยงจาก AI ขณะที่แรงงานชายอยู่ที่เพียง 3.5% ซึ่งสะท้อนให้เห็นช่องว่างของความเปราะบางที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน และทำให้ผู้หญิงเสี่ยงเสียงานให้กับ AI มากกว่าผู้ชายถึงประมาณ 3 เท่า
แม้งานธุรการจะเป็นกลุ่มที่เสี่ยงชัดเจนที่สุด แต่เทคโนโลยี AI ก็เริ่มรุกคืบเข้าสู่สายงานอื่นๆ เช่น สื่อ ซอฟต์แวร์ และการเงิน โดยเฉพาะตำแหน่งที่ต้องใช้ทักษะด้านดิจิทัลหรือการคิดวิเคราะห์ ซึ่งในอดีตเคยถูกมองว่าเป็น “งานแห่งอนาคต” ที่มีความมั่นคงสูง โดยแม้ ILO จะเน้นว่า AI จะเปลี่ยนลักษณะการทำงานมากกว่าการแทนที่แรงงานโดยสิ้นเชิงในระยะสั้น แต่สถานการณ์จริงในภาคธุรกิจกลับเริ่มสวนทาง
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือกรณีของ ไมโครซอฟท์ ที่เพิ่งปลดพนักงานกว่า 2,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นนักพัฒนาโปรแกรม ทั้งที่ Satya Nadella ซีอีโอของบริษัท เพิ่งเปิดเผยว่า ขณะนี้กว่า 30% ของโค้ดที่เขียนในบริษัทมาจาก AI
ในทำนองเดียวกัน Meta ได้เดินหน้าปรับโครงสร้างองค์กร โดยมุ่งใช้ AI เข้ามาแทนที่บทบาทของพนักงานระดับกลางในหลายตำแหน่ง ซึ่งเคยมีความสำคัญต่อการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ภายในองค์กร
แนวโน้มดังกล่าวเริ่มส่งผลให้ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจำนวนมากพบว่า การหางานใหม่เป็นเรื่องที่ยากขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางการแข่งขันที่เข้มข้น และแรงกดดันจากเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ แม้ AI จะเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในหลายภาคส่วน แต่รายงานย้ำว่า ยังมีงานจำนวนมากที่ AI ยังไม่สามารถทดแทนมนุษย์ได้โดยสมบูรณ์ โดยเฉพาะงานที่ต้องใช้การตัดสินใจเชิงซับซ้อน การสื่อสารในบริบทเฉพาะ และความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น
อาชีพที่มีการปรับตัวรับมือกับเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่อง เช่น นักพัฒนาซอฟต์แวร์ อาจเผชิญความเสี่ยงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับอาชีพที่ยังไม่มีการอัปสกิลหรือเสริมทักษะดิจิทัล
อย่างไรก็ตาม ILO ย้ำว่า ตัวเลขในรายงานสะท้อนเพียง “ความเสี่ยงเชิงศักยภาพ” ไม่ใช่จำนวนแรงงานที่จะตกงานจริง โดยยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง เช่น ข้อจำกัดทางเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน และระดับทักษะแรงงาน ซึ่งล้วนทำให้การนำ AI ไปใช้ในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน และอาจทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบอัตโนมัติเกิดขึ้นในจังหวะที่ไม่เท่ากันทั่วโลก
จากความเสี่ยงและผลกระทบที่เป็นไปได้ดังกล่าว องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เรียกร้องให้ภาครัฐ นายจ้าง และองค์กรแรงงานทั่วโลก ร่วมกันกำหนดนโยบายเชิงรุกที่มีความครอบคลุม เพื่อรับมือกับผลกระทบจากเทคโนโลยี AI และเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของตลาดแรงงานในระยะยาว
เป้าหมายสำคัญของนโยบายเหล่านี้คือการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพการทำงาน โดยเฉพาะในกลุ่มอาชีพที่กำลังเผชิญความเสี่ยงสูงจากการถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ
Janine Berg นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ ILO เตือนว่า ความตื่นตัวต่อ AI อาจทำให้หลายฝ่ายหลงประเด็นหลัก พร้อมเน้นว่าการเตรียมความพร้อมที่แท้จริงต้องอิงอยู่บน “บริบทและความชัดเจน” เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านสู่อนาคตดิจิทัลเป็นธรรมและยั่งยืนสำหรับทุกฝ่าย
สำหรับแนวทางปฏิบัติที่สำคัญสำหรับทั้งผู้บริหารองค์กรและแรงงานในการปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้แก่