เมื่อรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจำนวนมากในเดือนเมษายน 2025 ซึ่งส่งผลให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันต้องจ่ายภาษีเพิ่มโดยตรง รัฐบาลได้ให้เหตุผลว่า มาตรการนี้มีขึ้นเพื่อตอบโต้ปัญหาดุลการค้าเชิงลบกับประเทศคู่ค้าหลักของสหรัฐฯ เช่น จีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น โดยประธานาธิบดีทรัมป์มองว่า การที่สหรัฐฯ มีการขาดดุลกับประเทศเหล่านี้ เป็นหลักฐานว่าชาวอเมริกันกำลัง “ถูกเอาเปรียบ” หรือเท่ากับกำลัง “อุดหนุน” เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าเหล่านั้น
ในมุมมองของฝ่ายบริหาร ทรัมป์มองว่าการขาดดุลการค้าเป็นต้นเหตุของปัญหาเศรษฐกิจภายใน โดยเฉพาะภาคการผลิตของสหรัฐฯ ที่ซบเซาเนื่องจากมีการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาทดแทนสินค้าภายในประเทศ รัฐบาลยังกล่าวหาประเทศคู่ค้าบางประเทศ โดยเฉพาะจีน ว่าบิดเบือนกลไกตลาดด้วยการอุดหนุนผู้ผลิตในประเทศตนเอง ทำให้สามารถส่งออกสินค้าราคาต่ำเข้ามาทุ่มตลาดในสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์จำนวนไม่น้อยเห็นต่างจากทฤษฎีของรัฐบาล โดยมองว่าดุลการค้าแบบทวิภาคีไม่สามารถสะท้อนความยุติธรรมทางการค้าได้อย่างถูกต้อง และไม่สามารถตีความได้ว่าเป็นสิ่งที่ “ดี” หรือ “เลวร้าย” ในตัวของมันเอง
นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ย้ำว่า ความไม่สมดุลทางการค้าเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ จากการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศซึ่งสะท้อนถึงข้อได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของแต่ละชาติ และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เลือกซื้อสินค้าตามความต้องการและคุณภาพ
ด้วยเหตุนี้ การประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและการกำหนดนโยบายควรมีกรอบวิเคราะห์ที่กว้างกว่าการพิจารณาเพียงแค่ดุลการค้าแบบสองฝ่ายเท่านั้น โดยควรครอบคลุมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ ความสามารถในการแข่งขันเชิงโครงสร้าง และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในภาพรวมด้วย
สถานการณ์ที่มูลค่านำเข้าสินค้าและบริการของประเทศหนึ่งสูงกว่ามูลค่าส่งออก ซึ่งมักเรียกว่า “ดุลการค้าเชิงลบ” (Negative Balance of Trade หรือ BOT) หรือพูดง่ายๆ ก็คือ การขาดดุลการค้าจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อประเทศซื้อสินค้าหรือบริการจากต่างประเทศมากกว่าที่ขายออกไป
ปัจจุบัน การวัดดุลการค้าในปัจจุบันสามารถจำแนกได้หลายประเภท ได้แก่
นอกจากนี้ ดุลการค้ายังถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งของ บัญชีธุรกรรมระหว่างประเทศ ซึ่งครอบคลุมทั้ง บัญชีเดินสะพัด (Current Account), บัญชีทุน (Capital Account) และ บัญชีการเงิน (Financial Account)
การขาดดุลการค้าไม่ได้เกิดขึ้นจากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่อาจเกิดจากทั้งแรงขับภายในประเทศและปัจจัยระดับโลก เช่น
สรุปแล้ว การขาดดุลการค้าเป็นผลสะท้อนจากความไม่สมดุลในการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จากทั้งพฤติกรรมผู้บริโภค โครงสร้างเศรษฐกิจภายใน ไปจนถึงปัจจัยภายนอกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
โดยทั่วไป การขาดดุลการค้ามักถูกมองว่าเป็นสัญญาณเชิงลบของภาวะเศรษฐกิจ แต่ในความเป็นจริง ตัวเลขดุลการค้าไม่ได้ชี้ชัดว่าเศรษฐกิจของประเทศนั้น "แข็งแกร่ง" หรือ "อ่อนแอ" เสมอไป หากแต่สะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ว่ามีรูปแบบอย่างไร รวมถึงข้อได้เปรียบและข้อจำกัดที่เป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละประเทศ
ตัวอย่างเช่น ประเทศที่มีดุลการค้าเกินดุลอย่างจีน รัสเซีย หรือซาอุดีอาระเบีย มักเป็นประเทศที่ส่งออกทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก ขณะที่การบริโภคภายในประเทศยังอยู่ในระดับจำกัด จึงทำให้มีมูลค่าส่งออกสูงกว่านำเข้าอย่างต่อเนื่อง โดยในกรณีจีนอาจมีความพิเศษคือมีการพัฒนาภาคการผลิตและเทคโนโลยีที่ดีด้วย ทำให้เพิ่มมูลค่าการส่งออกได้ทั้งจากทรัพยากรธรรมชาติ และสินค้าที่นำไปผลิตและพัฒนาจนมีมูลค่าเพิ่ม
ในทางกลับกัน ประเทศที่ขาดดุลการค้าสูงอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการบริโภคภายในประเทศ และมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูง ย่อมนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศจำนวนมากเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภค และนั่นทำให้เกิดการขาดดุลการค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ การขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ไม่ได้เกิดจากความอ่อนแอทางเศรษฐกิจ หากแต่เป็นผลจากความมั่งคั่งของประชาชน ระบบเศรษฐกิจที่มีพลวัต อุตสากรรมการท่องเที่ยวและบริการที่แข็งแรงด้วยซอฟต์พาวเวอร์ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้ากว่าชาติอื่น และตลาดแรงงานที่แข็งแรง ซึ่งเอื้อให้ชาวอเมริกันสามารถซื้อสินค้าจากทั่วโลกได้ในระดับที่สูงกว่าหลายประเทศที่มีดุลการค้าเกินดุลเสียอีก
กล่าวโดยสรุป การขาดดุลการค้าไม่ควรตีความว่าเป็น "ดี" หรือ "ร้าย" เพียงอย่างเดียว หากแต่ควรพิจารณาในบริบทของโครงสร้างเศรษฐกิจ รายได้ประชากร และรูปแบบการบริโภคของแต่ละประเทศร่วมด้วย
นอกจากนี้ สถิติดุลการค้าเองก็อาจสร้างความเข้าใจผิดได้ เช่น การที่สหรัฐฯ มีดุลการค้าเกินดุลกับประเทศอย่างเนเธอร์แลนด์และสิงคโปร์ ทั้งที่ประชาชนของประเทศเหล่านี้ไม่ได้บริโภคสินค้าอเมริกันเป็นพิเศษ เพราะสองประเทศนี้ทำหน้าที่เป็นศูนย์กระจายสินค้าไปยังยุโรปและเอเชีย
ในทำนองเดียวกัน สินค้าในยุคปัจจุบันผลิตขึ้นจากหลายประเทศ ทำให้การระบุแหล่งกำเนิดสินค้าเป็นเรื่องที่คลุมเครือ ตัวอย่างเช่น สมาร์ตโฟนที่ประกอบในเวียดนามโดยใช้ชิ้นส่วนจากจีน หน้าจอจากเกาหลีใต้ ซอฟต์แวร์จากสหรัฐฯ และโมดูลกล้องจากญี่ปุ่น อาจถือเป็นการส่งออกจากเวียดนามเมื่อนำเข้าไปยังสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้ตัวเลขดุลการค้ากับเวียดนามสูงเกินจริง
ดังนั้น ในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์หรือสัญชาติของผู้ซื้อ-ผู้ขาย ไม่ได้มีความหมายทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง แต่อยู่ที่ว่ากระแสของมูลค่าเพิ่มไหลไปที่ใคร และกิจกรรมเศรษฐกิจเกิดขึ้นที่ไหนมากกว่า การกำหนดว่าใคร "ขาดดุล" กับใครจึงเป็นเพียงข้อสรุปตามระบบบัญชี ไม่ใช่คำตัดสินว่าใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบในเชิงเศรษฐกิจ
จากที่ได้กล่าวมา จะเห็นได้ว่าภาวะขาดดุลการค้าไม่ได้สะท้อนว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ย่ำแย่ หรือถูกเอารัดเอาเปรียบจากต่างประเทศอย่างที่รัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ พยายามใช้เป็นวาทกรรมเพื่อโน้มน้าวประชาชนภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการขาดดุลการค้ายังสะท้อนถึงความอ่อนแอของภาคการผลิตภายในประเทศ
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทอเมริกันจำนวนมากได้ย้ายหรือกระจายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า เช่น จีนหรือเวียดนาม ทำให้ภาคการผลิตในประเทศหดตัวลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อแรงงานในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะประชาชนที่ยังไม่สามารถปรับตัวด้วยการยกระดับทักษะหรือการศึกษาเพียงพอที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานที่ต้องการทักษะสูงขึ้นและค่าจ้างที่ดีกว่า
อย่างไรก็ตาม การขาดดุลการค้าก็สะท้อนว่าสหรัฐฯ เป็นประเทศที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี อีกทั้งยังมีเศรษฐกิจภาคส่วนอื่นอีกมากเช่น ภาคการท่องเที่ยวและบริการ ที่แข็งแกร่งจนประเทศไม่ต้องพึ่งพาภาคการผลิตที่ค่าแรงต่ำอีกต่อไป และยังทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อสูง สามารถบริโภคสินค้าได้จากทั้งในประเทศและนอกประเทศ
ขณะเดียวกัน ในอีกด้านหนึ่ง การขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ยังเกิดขึ้นได้เพราะประเทศนี้เป็น "แม่เหล็กการลงทุน" ของโลก เพราะสหรัฐฯ ถือเป็นศูนย์กลางทางการเงินและแหล่งลงทุนอันดับต้น ๆ ที่นักลงทุนต่างชาติมองว่าเชื่อถือได้และมีผลตอบแทนที่มั่นคง
การที่นักลงทุนต่างชาติหลั่งไหลนำเงินเข้าสหรัฐฯ ไม่ว่าจะในรูปของการถือครองพันธบัตรรัฐบาล หุ้นบริษัทเทคโนโลยี หรือสินทรัพย์ทางการเงินอื่น ๆ ทำให้สหรัฐฯ มีเงินทุนไหลเข้าสม่ำเสมอ ซึ่งช่วยชดเชยการขาดดุลการค้าในบัญชีเดินสะพัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความสามารถในการดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลกยังสะท้อนความเป็นผู้นำของสหรัฐฯ ในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น การที่บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำจำนวนมากตั้งอยู่ในซิลิคอนแวลลีย์ ส่งผลให้นักลงทุนต้องการซื้อหุ้นของบริษัทเหล่านั้น และทำให้สหรัฐฯ เกินดุลการลงทุนมากยิ่งขึ้น
เมื่อเงินดอลลาร์กลายเป็นที่ต้องการทั่วโลก ทั้งเพื่อการค้า การออม และการชำระหนี้ มูลค่าเงินดอลลาร์จึงแข็งตัวในระยะยาว ส่งผลให้สหรัฐฯ สามารถกู้ยืมได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ และเปิดโอกาสให้ภาคครัวเรือนบริโภคได้เกินกว่าระดับรายได้ที่แท้จริง เพราะมีเงินทุนไหลเข้ามาหนุนระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น การกล่าวหาต่างชาติว่าเป็นต้นเหตุของการขาดดุลการค้า จึงไม่ต่างจากการโทษธนาคารที่เสนออัตราดอกเบี้ยต่ำเกินไป ทั้งที่ความจริงคือ นักลงทุนต่างชาตินำเสนอเงินทุนในต้นทุนต่ำ และสหรัฐฯ เลือกที่จะใช้จ่ายเงินก้อนนั้นเอง
นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังต้องยอมรับว่าตามหลักเศรษฐศาสตร์ ไม่มีประเทศใดสามารถเกินดุลทั้งด้านการค้าและด้านการลงทุนในเวลาเดียวกัน การขาดดุลการค้าเป็นผลลัพธ์ของความเกินดุลในบัญชีทุนและการเงิน ซึ่งเป็นข้อจำกัดเชิงโครงสร้างที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้แม้แต่ในประเทศที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจสูงสุดอย่างสหรัฐฯ ที่สำคัญ สหรัฐฯ ยังมีข้อได้เปรียบจากสถานะของเงินดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินสำรองของโลก ทำให้สามารถออกตราสารหนี้หรือเพิ่มปริมาณเงินโดยไม่ทำให้ค่าเงินอ่อนตัวรุนแรงเหมือนประเทศอื่น ซึ่งเป็นเงื่อนไขพิเศษที่เปิดโอกาสให้สหรัฐฯ สามารถขาดดุลได้โดยไม่เสียเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
ดังนั้น แม้ว่าการค้าเสรีอาจไม่ใช่คำตอบในทุกกรณี และการใช้มาตรการภาษีอาจเหมาะสมในบางสถานการณ์ ‘การขาดดุลการค้า’ แม้จะฟังดูเป็นเรื่องลบในเชิงภาพลักษณ์ ก็ไม่ได้สะท้อนถึงความล้มเหลวของประเทศ แต่กลับชี้ให้เห็นถึงความสามารถในการดึงดูดทรัพยากรจากทั่วโลก และการรักษาความเป็นผู้นำในระบบเศรษฐกิจโลกอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง
การที่สหรัฐฯ เลือกจะเปิดสงครามการค้าและใช้มาตรการภาษีกับประเทศอื่นเพื่อบีบบังคับให้มีการนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ หรือการผลิตสินค้าในสหรัฐฯ มากขึ้น ก็อาจจะทำให้สมดุลและข้อได้เปรียบนี้ของสหรัฐฯ หายไป และสหรัฐฯ ก็จะได้รับผลกระทบในด้านการลงทุนและเสถียรภาพการเงิน เพราะต่างชาติเป็นผู้ถือสินทรัพย์การลงทุนรายใหญของสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ก็อาจเลือกตั้งกำแพงภาษีหรือมาตรการกีดกันอื่นๆ ขึ้นมาโต้ตอบสหรัฐฯ เช่นกัน
หากดำเนินนโยบายแบบแข็งกร้าวต่อไป ทั้งในแง่ภาษีศุลกากรและการทูตที่ไม่แน่นอน ผลที่ตามมาอาจไม่ใช่การฟื้นฟูภาคการผลิต แต่คือการทำให้นักลงทุนต่างชาติสูญเสียความเชื่อมั่น และลดบทบาทของดอลลาร์ในระบบเศรษฐกิจโลก ซึ่งแม้จะลดการขาดดุลการค้าได้จริง แต่จะแลกมาด้วยต้นทุนสูงของการทำลายรากฐานทางเศรษฐกิจของประเทศเอง ทั้งต่อภาคธุรกิจและครัวเรือนในสหรัฐฯ