เจ้าหน้าที่อินเดียยืนยันว่า การเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ยังคงดำเนินไปตามแผนที่วางไว้ และคณะผู้แทนของอินเดียกำลังจะเดินทางไปสหรัฐฯ เพื่อเจรจาระหว่างวันที่ 17-20 พ.ค. นี้ แม้ว่าอินเดียจะเริ่มแสดงท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้น หลังจีนแสดงความท้าทายต่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ จนสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าที่ต้องการได้สำเร็จ
แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับการเจรจาเปิดเผยว่า การหารือระหว่างอินเดียและสหรัฐฯ มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะได้ข้อสรุปเบื้องต้นภายในฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ชัดว่าอินเดียจะสามารถบรรลุข้อตกลงชั่วคราวได้ทันก่อนต้นเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงที่มาตรการภาษีตอบโต้แบบ "reciprocal tariffs" ของสหรัฐฯ จะเริ่มมีผลบังคับใช้
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา อินเดียได้ขู่ว่าจะเก็บภาษีตอบโต้สินค้าสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้การที่ทรัมป์ขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากต่างประเทศ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าการประกาศเช่นนี้เป็นกลยุทธ์ทางการเจรจา ก่อนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์อินเดียจะนำคณะผู้แทนเดินทางไปยังสหรัฐฯ เพื่อหารือต่อในสัปดาห์นี้
ความเปลี่ยนแปลงในท่าทีของอินเดียมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับช่วงต้นปีที่นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี พยายามเอาใจรัฐบาลสหรัฐฯ ด้วยการยื่นข้อเสนอประนีประนอมในหลายประเด็น ทั้งการค้าและนโยบายตรวจคนเข้าเมือง
ปัจจุบัน อินเดียเริ่มแสดงความไม่พอใจต่อการที่ทรัมป์กล่าวอ้างซ้ำๆ ว่าใช้สหรัฐฯ กำลังใช้การค้าเป็นเครื่องมือต่อรองเพื่อช่วยคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างอินเดียกับปากีสถาน ซึ่งสวนทางกับจุดยืนของอินเดียที่ยืนยันว่าการค้าไม่เคยถูกนำมาเป็นประเด็นในการหารือระหว่างสองประเทศ
บิศวาจิต ธาร์ ศาสตราจารย์จากสภาเพื่อการพัฒนาสังคมในนิวเดลี ระบุว่า ที่ผ่านมาสหรัฐฯ เป็นฝ่าย “กำหนดเงื่อนไขให้อินเดีย” แต่การประกาศภาษีตอบโต้ครั้งนี้ถือเป็นสัญญาณว่าอินเดียพร้อมที่จะ “ยืนหยัดและต่อสู้ในเวทีเจรจา”
นักวิเคราะห์มองว่าการที่จีนสามารถผลักดันให้สหรัฐฯ ยอมทำข้อตกลงบางประการได้ในการเจรจาที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ด้วยการยืนหยัดไม่หวั่นไหวต่ออัตราภาษีที่สูงขึ้น เป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้อินเดียตระหนักว่าตนเองต้องแสดงความเด็ดขาดมากยิ่งขึ้นในการเจรจาการค้ากับวอชิงตัน
ปรียังกา กิชอร์ ผู้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษา Asia Decoded จากสิงคโปร์ กล่าวว่าขณะนี้มีความรู้สึกเพิ่มขึ้นในหมู่เจ้าหน้าที่อินเดียว่ารัฐบาลอาจกำลังยอมอ่อนข้อให้กับสหรัฐฯ มากเกินไป และการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และอินเดียในวันที่ 17-20 พ.ค. นี้ นี้อาจเป็นโอกาสสำคัญให้อินเดียยืนยันบทบาทของตนในฐานะ "คู่ค้าที่เท่าเทียม"
คณะผู้แทนอินเดีย นำโดยนายพียูช โกยาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรม เตรียมเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเพื่อเข้าร่วมการเจรจาการค้ากับเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อบรรลุข้อตกลงการค้าทวิภาคี (Bilateral Trade Agreement: BTA) ตามรายงานของสำนักข่าว PTI
การประชุมครั้งนี้จะเกิดขึ้นในช่วงที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีแนวโน้มจะประกาศข้อตกลงการค้าใหม่ทันทีที่เสร็จสิ้นการเดินทางเยือนตะวันออกกลาง
ตลอดการเจรจา 4 วัน ระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคม นายโกยาลจะเข้าพบกับนายเจมิสัน เกรียร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) และนายฮาวเวิร์ด ลัตนิค รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ เพื่อหารือเชิงลึกเกี่ยวกับแนวทางขับเคลื่อนความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ
การเจรจาครั้งนี้เกิดขึ้นไม่นานหลังจากทรัมป์ประกาศข้อตกลงหยุดยิงระหว่างอินเดียและปากีสถาน พร้อมเปิดเผยว่าเขาเคยขู่ตัดความสัมพันธ์ทางการค้ากับทั้งสองฝ่าย โดยระบุว่า
"ผมบอกว่า ถ้าหยุด (ความขัดแย้ง) เราก็ทำการค้าได้ ถ้าไม่หยุด เราก็ไม่ทำการค้า"
นอกจากนี้ ทรัมป์ยังกล่าวอีกว่า สหรัฐฯ กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาการค้ากับอินเดีย และมีแผนจะเริ่มต้นเจรจากับปากีสถานด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม อินเดียได้ออกแถลงการณ์ปฏิเสธถ้อยแถลงของทรัมป์อย่างชัดเจน โดยยืนยันว่าประเด็นการค้าไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นในการหารือระหว่างเจ้าหน้าที่อินเดียและสหรัฐฯ ภายหลังการเปิดปฏิบัติการซินดูร์ (Operation Sindoor)
ทั้งสองประเทศมีเป้าหมายใช้ช่วงเวลา "หยุดเก็บภาษี" 90 วัน เพื่อเร่งสรุปข้อตกลงเบื้องต้น และสร้างความสำเร็จร่วมกันในระยะสั้น ก่อนที่เฟสแรกของข้อตกลงจะถูกประกาศในเดือนตุลาคมปีนี้
ในปัจจุบัน สหรัฐฯ ระงับการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าอินเดียที่อัตรา 26% จนถึงวันที่ 9 กรกฎาคม ซึ่งเป็นมาตรการที่ทรัมป์ประกาศเมื่อวันที่ 2 เมษายน เพื่อช่วยลดช่องว่างการค้า แม้ว่าภาษีพื้นฐานที่อัตรา 10% ยังคงมีผลบังคับใช้ก็ตาม
ขณะเดียวกัน ข้อเสนอของอินเดียที่ยื่นต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อขอเก็บภาษีตอบโต้สหรัฐฯ อันเนื่องมาจากภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียม จะถูกหยิบยกขึ้นหารือเพิ่มเติมในระหว่างการเจรจาครั้งนี้
ในการเจรจา อินเดียมีข้อเรียกร้องให้สหรัฐฯ ลดภาษีในหลายหมวดสินค้า ได้แก่ สิ่งทอ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องหนัง เสื้อผ้า พลาสติก เคมีภัณฑ์ กุ้ง เมล็ดน้ำมัน องุ่น และกล้วย เพื่อขยายตลาดส่งออกและกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ
ในทางกลับกัน สหรัฐฯ ต้องการให้อินเดียลดภาษีนำเข้าสินค้าในหมวดต่าง ๆ ได้แก่ รถยนต์ (รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้า) ไวน์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ผลิตภัณฑ์นม รวมถึงสินค้าเกษตร เช่น แอปเปิล และถั่วเปลือกแข็ง
ปี 2024-25 ถือเป็นปีที่สหรัฐฯ ครองตำแหน่งคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอินเดียเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน โดยมูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างสองประเทศอยู่ที่ 1.318 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
อินเดียยังคงรักษาดุลการค้าบวกกับสหรัฐฯ โดยที่สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากอินเดียมากกว่าที่ส่งออก ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวมีมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2020 และก่อให้เกิดความกังวลเพิ่มขึ้นในหมู่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ
อ้างอิง: Bloomberg, India Today