Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ท่องเที่ยวไทยแววไม่ดี ต่างชาติลด 3 เดือนติด เม.ย. คนจีน -47% จากปี 67
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

ท่องเที่ยวไทยแววไม่ดี ต่างชาติลด 3 เดือนติด เม.ย. คนจีน -47% จากปี 67

14 พ.ค. 68
13:43 น.
แชร์

ภายใต้แรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ความไม่แน่นอนที่ปะทุขึ้นจากสงครามการค้า และการเจรจาลดภาษีกับสหรัฐฯ ซึ่งยังไร้ข้อยุติ ภาคเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญความเปราะบางในหลายมิติ ทั้งการส่งออกที่ซบเซา การลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอลง ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น และการบริโภคภายในประเทศที่เริ่มส่งสัญญาณสะดุดอย่างชัดเจน

ในบริบทดังกล่าว ภาคการท่องเที่ยวถูกคาดหวังให้เป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลักที่ยังพอขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ได้ ท่ามกลางการหดตัวของภาคส่วนอื่น ทว่า ข้อมูลล่าสุดสะท้อนภาพตรงกันข้ามอย่างน่าวิตก เมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยปรับตัวลดลงติดต่อกันถึง 3 เดือน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน 2568

โดยเฉพาะตลาด ‘จีน’ ซึ่งถือเป็นตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ใหญ่ที่สุดของไทยมาอย่างต่อเนื่อง กำลังเผชิญภาวะหดตัวรุนแรงในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สถิติเดือนเมษายน 2568 บ่งชี้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลงถึง 47% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นแรงกระแทกสำคัญที่ฉุดภาพรวมของภาคการท่องเที่ยวไทยให้อ่อนแรงลงอย่างมีนัยสำคัญ

นักท่องเที่ยวต่างชาติชะลอตัวต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2568

ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 11 พฤษภาคม 2568 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาสะสมจำนวน 12,948,032 คน ลดลง 1.04% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แม้ว่ารายได้รวมจากการท่องเที่ยวจะยังสามารถขยายตัวได้อยู่ที่ 613,168 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาตลาดหลัก พบว่าจีนยังคงครองอันดับหนึ่งของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย ตามด้วยมาเลเซีย รัสเซีย อินเดีย และเกาหลีใต้ ดังนี้

  • จีน: 1,766,870 คน
  • มาเลเซีย: 1,662,922 คน
  • รัสเซีย: 916,360 คน
  • อินเดีย: 829,371 คน
  • เกาหลีใต้: 619,340 คน

อย่างไรก็ตาม หากแยกพิจารณาตามรายเดือนจะเห็นแนวโน้มหดตัวที่ชัดเจนขึ้น

  • มกราคม 2568: 3,709,102 คน เพิ่มขึ้น 22.2% จาก 3,035,296 คนในเดือนเดียวกันของปี 2567
  • กุมภาพันธ์ 2568: 3,119,445 คน ลดลง 6.95% จาก 3,352,302 คนในเดือนเดียวกันของปี 2567
  • มีนาคม 2568: 2,720,457 คน ลดลง 8.79% จาก 2,982,721 คนในเดือนเดียวกันของปี 2567
  • เมษายน 2568: 2,547,116 คน ลดลง 7.6% จาก 2,757,128 คนในเดือนเดียวกันของปี 2567

ขณะที่ในช่วง 11 วันแรกของเดือนพฤษภาคม 2568 มีจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมเพียง 851,912 คน สะท้อนสภาพการเข้าสู่ฤดูกาลโลว์ซีซันที่การเดินทางลดลงอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ สถิติรายสัปดาห์ล่าสุด (5-11 พฤษภาคม 2568) ยังแสดงให้เห็นว่า มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 489,568 คน ลดลง 20.60% จากสัปดาห์ก่อนหน้า หรือเฉลี่ยประมาณวันละ 69,938 คน

โดยในช่วงสัปดาห์ดังกล่าว ตลาดสิงคโปร์มีการฟื้นตัวที่โดดเด่น ด้วยอัตราการเติบโต 18.01% หลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้งทั่วไป อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักอื่นๆ ได้แก่ จีน รัสเซีย มาเลเซีย และอินเดีย กลับหดตัวลงอย่างมีนัยสำคัญในอัตรา

  • จีน: ลดลง 41.70%
  • รัสเซีย: ลดลง 21.55%
  • มาเลเซีย: ลดลง 6.82%
  • อินเดีย: ลดลง 0.30%

ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนถึงแนวโน้มชะลอตัวของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2568 และตอกย้ำถึงแรงกดดันที่ภาคการท่องเที่ยวไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

นักท่องเที่ยวจีนหดตัวแรง ฉุดภาพรวมตลาดต่างชาติชะลอตัว

แม้จีนจะยังคงครองตำแหน่งตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติอันดับหนึ่งของไทยในปี 2568 แต่เมื่อพิจารณาตัวเลขเปรียบเทียบระหว่างปี 2568 กับปี 2567 จะเห็นชัดถึงแนวโน้มการหดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา และที่น่ากังวลยิ่งขึ้นคือ ตัวเลขไม่ได้เพิ่มขึ้นแม้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งตามปกติจะเป็นช่วงเวลาที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากเข้าสู่ประเทศไทย

สถิตินักท่องเที่ยวจีนรายเดือนสะท้อนแนวโน้มดังกล่าวอย่างชัดเจน

  • มกราคม 2568: 662,779 คน (+30.32% จาก 508,563 คนในปี 2567)
  • กุมภาพันธ์ 2568: 371,542 คน (-44.92% จาก 674,558 คน)
  • มีนาคม 2568: 297,113 คน (-48.17% จาก 573,216 คน)
  • เมษายน 2568: 317,213 คน (-47% จาก 595,572 คน)

ตลอดระยะเวลากว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา ภาคการท่องเที่ยวไทยมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับตลาดจีน โดยในปี 2562 ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้าไทยสูงถึง 11.13 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนถึง 28% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เดินทางเข้าไทยในปีนั้น ซึ่งมีจำนวนรวม 39.8 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม แม้หลังจากการเปิดประเทศเต็มรูปแบบในปี 2567 ตลาดนักท่องเที่ยวจีนยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยเพียง 6.73 ล้านคน หรือประมาณ 60% ของระดับก่อนโควิด ขณะเดียวกัน สัดส่วนของนักท่องเที่ยวจีนต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดก็ลดลงเหลือเพียง 19% ของยอดรวม 35.54 ล้านคนในปี 2567

การลดลงของนักท่องเที่ยวจีนในปี 2568 จึงกลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลกระทบสำคัญต่อภาคการท่องเที่ยวไทย ทั้งในแง่ของรายได้รวม และความถี่ในการเดินทาง โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประเมินว่า หากสถานการณ์ในตลาดจีนเลวร้ายลงจนไม่สามารถกอบกู้ความเชื่อมั่นกลับมาได้ทัน จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้าไทยในปี 2568 อาจลดลงเหลือเพียง 4-5 ล้านคนตลอดทั้งปี ซึ่งแม้ว่าตลาดระยะไกล เช่น ยุโรป ตะวันออกกลาง และสหรัฐฯ จะมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี แต่ก็ยังไม่สามารถทดแทนการหดตัวของตลาดจีนได้อย่างสมบูรณ์ ส่งผลให้ภาพรวมรายได้จากการท่องเที่ยวเผชิญแรงกดดันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ปัญหาภาพลักษณ์กระทบความเชื่อมั่นตลาดจีน

หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลงอย่างรวดเร็วในปีนี้ คือปัญหาภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตานักท่องเที่ยวจีน โดยเฉพาะกรณีของ "ซิงซิง" นักแสดงชาวจีนที่ตกเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในไทย ซึ่งถูกขยายกระแสอย่างรุนแรงในโซเชียลมีเดียจีน สร้างความหวาดระแวงเรื่องความปลอดภัยอย่างกว้างขวาง

นอกจากกรณีซิงซิงแล้ว ยังมีเหตุการณ์ลบอื่นๆ ที่สะเทือนความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวจีน เช่น เหตุแผ่นดินไหว คดีฆาตกรรมสาว LGBTQ และการรับรู้เชิงลบเกี่ยวกับ "จีนเทา" ในไทย ทั้งหมดล้วนถูกกระจายและขยายความอย่างรวดเร็วในโลกออนไลน์

รัฐบาลไทยตระหนักถึงปัญหานี้ และเตรียมดำเนินการในระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล (G2G) โดยนายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เตรียมเชิญรัฐมนตรีวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของจีนมาเยือนไทยในเดือนกรกฎาคม 2568 เพื่อเข้าร่วมงานเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ไทย-จีน ครบ 50 ปี พร้อมทั้งหารือถึงแนวทางการฟื้นฟูความเชื่อมั่นระหว่างสองประเทศ

ททท. เล็งปรับลดเป้านักท่องเที่ยวจาก 39 ล้านคน เหลือ 35.5 ล้านล้านคน รายได้เหลือ 3 ล้านล้านบาท

ด้วยแรงกดดันจากการหดตัวของตลาดนักท่องเที่ยวจีน นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท.มีแนวโน้มต้องปรับลดเป้าหมายรายได้รวมจากการท่องเที่ยวในปี 2568 จากเดิมที่วางไว้ 3.4-3.5 ล้านล้านบาท ลงมาเหลือประมาณ 3 ล้านล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับระดับก่อนโควิดในปี 2562

สำหรับแนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้ ททท.ประเมินว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 35.5 ล้านคน ใกล้เคียงกับปี 2567 จากที่ตอนรกตั้งเป้าหมายให้เติบโตถึงระดับ 38 ล้านคน โดยคาดว่ารายได้จากตลาดต่างประเทศจะเติบโตไม่น้อยกว่า 10% จากฐาน 1.67 ล้านล้านบาทในปี 2567 เพิ่มขึ้นเป็น 1.83 ล้านล้านบาทในปี 2568 ขณะที่ตลาดในประเทศตั้งเป้าไว้ที่ 205 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 1.17 ล้านล้านบาท

เพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นการเดินทางในช่วงที่ตลาดนักท่องเที่ยวจีนชะลอตัว นางสาวฐาปนีย์ระบุว่า ททท.เตรียมเสนอแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวที่ปรับปรุงใหม่ต่อกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยขอใช้งบกลางปี 2568 จากรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 3,500 ล้านบาท เพื่อดำเนินการกระตุ้นตลาดนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศผ่าน 3 โครงการหลัก ได้แก่

  • โครงการที่ 1: เที่ยวไทยคนละครึ่ง มุ่งกระตุ้นการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวไทยในช่วงโลว์ซีซันปีนี้ โดยจากการหารือล่าสุด มีแนวโน้มปรับลดจำนวนสิทธิเหลือไม่ถึง 1 ล้านสิทธิ และจำกัดการใช้สิทธิสูงสุดไม่เกิน 10 สิทธิต่อคน เพื่อกระจายสิทธิให้ทั่วถึงและควบคุมงบประมาณให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • โครงการที่ 2: ส่งเสริมการตลาดร่วม (Joint Promotion) กับแพลตฟอร์มท่องเที่ยวออนไลน์ (OTA)มุ่งเป้าหมายไปยังนักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางอิสระ (F.I.T.) ผ่านการทำโปรโมชั่นร่วมกับแพลตฟอร์มจองที่พักและตั๋วโดยสารออนไลน์ เพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการเดินทางเข้าไทย
  • โครงการที่ 3: ส่งเสริมการเดินทางร่วมกับสายการบิน เจาะตลาดนักท่องเที่ยวจีนโดยเฉพาะ ผ่านการสนับสนุนเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (Charter Flight) โดยตั้งเงื่อนไขเบื้องต้นว่าแต่ละเที่ยวบินจะต้องมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารไม่น้อยกว่า 85% เพื่อให้การสนับสนุนมีประสิทธิภาพและเกิดผลคุ้มค่าสูงสุด

นอกเหนือจาก 3 โครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่เตรียมเสนอใช้งบกลางปี 2568 แล้ว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยังมีแผนดำเนินโครงการเพิ่มเติมภายใต้งบประมาณการตลาดของตนเอง ผ่านโครงการ “สวัสดีหนีห่าว” ซึ่งจะจัดเมกะแฟมทริปในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2568 โดยเชิญผู้ประกอบการธุรกิจทัวร์ สื่อมวลชน และผู้นำทางความคิด (KOL) จากประเทศจีน เดินทางเข้ามาสำรวจบรรยากาศและผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวของไทย

โครงการนี้ตั้งเป้าดึงผู้เข้าร่วมจากทุกมณฑลทั่วประเทศจีน รวมจำนวนทั้งสิ้น 500 คน แบ่งออกเป็นตัวแทนบริษัททัวร์ 300 คน และสื่อมวลชนกับ KOL อีก 200 คน เพื่อกระตุ้นการรับรู้ สร้างกระแสการเดินทางกลับมายังประเทศไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2568

ทั้งนี้ แม้ททท.จะเตรียมมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวเพิ่มเติม แต่ก็ยังต้องจับตาว่ามาตรการเหล่านี้จะสามารถผลักดันการฟื้นตัวได้มากน้อยเพียงใด เพราะปัจจุบันภาคการท่องเที่ยวยังเผชิญปัจจัยลบภายนอกหลายประการ ทั้งเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รายได้ครัวเรือนในหลายประเทศที่ลดลง และการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากประเทศคู่แข่งในภูมิภาคและทั่วโลก

ในสถานการณ์เช่นนี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัวอย่างจริงจัง ไม่เพียงแค่การกระตุ้นการใช้จ่ายในระยะสั้น แต่ยังต้องมุ่งพัฒนาสินค้าและประสบการณ์การท่องเที่ยวให้ตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ ตลอดจนเร่งฟื้นฟูภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยและคุณภาพบริการให้กลับมาในสายตานักท่องเที่ยวต่างชาติ หากต้องการรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก และพยุงเศรษฐกิจไทยในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน


แชร์
ท่องเที่ยวไทยแววไม่ดี ต่างชาติลด 3 เดือนติด เม.ย. คนจีน -47% จากปี 67