Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ดับฝันไต้หวันไร้นิวเคลียร์ พลังงานหมุนเวียนไม่พอ รัฐสภาต่ออายุโรงไฟฟ้า
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

ดับฝันไต้หวันไร้นิวเคลียร์ พลังงานหมุนเวียนไม่พอ รัฐสภาต่ออายุโรงไฟฟ้า

15 พ.ค. 68
11:59 น.
แชร์

สำนักข่าวกลางไต้หวันรายงานว่า รัฐสภาไต้หวันได้อนุมัติการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการควบคุมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งอนุญาตให้ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สามารถยื่นขอขยายอายุใบอนุญาตประกอบกิจการได้อีก 20 ปี จากเดิมที่จำกัดไว้ที่ 40 ปี ซึ่งอาจส่งผลให้อายุการใช้งานของเครื่องปฏิกรณ์เพิ่มขึ้นเป็น 60 ปี อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการความปลอดภัยนิวเคลียร์กล่าวว่า คำขอต่ออายุใบอนุญาตใดๆ จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล และต้องผ่านการประเมินทางเทคนิคและกฎหมายอย่างละเอียดถี่ถ้วน

การแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านและพรรคประชาชนไต้หวัน (TPP) โดยผ่านด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 60 เสียง เทียบกับพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลที่มีคะแนนเสียงเห็นชอบ 51 เสียง ผู้สนับสนุนระบุว่า มาตรการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำพลังงานนิวเคลียร์กลับเข้าสู่กลยุทธ์ด้านพลังงานของเกาะแห่งนี้อีกครั้ง

ดับฝัน ไต้หวันไร้นิวเคลียร์

ไต้หวันได้ตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2050 โดยได้มีการดำเนินการและวางแผนที่สำคัญหลายประการ ในปี 2023 ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวินได้ประกาศใช้กฎหมายการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Response Act) ยกระดับนโยบายด้านการลดคาร์บอนสู่การควบคุมทางกฎหมาย และยังได้สร้างกลไกการกำหนดราคาคาร์บอนและมาตรการส่งเสริมทางเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้ภาคธุรกิจปรับตัวสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม คำสั่งยืดเวลาดังกล่าว ทำให้ความฝันของไต้หวันที่จะเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เป็นเกาะปลอดพลังงานนิวเคลียร์แห่งแรกจะต้องดับลงไป ซึ่งความเคลื่อนไหวนี้ มีขึ้นเพียงไม่กี่วัน ก่อนการปิดเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 ของโรงไฟฟ้าหม่าอันซาน ซึ่งเป็นเตาปฏิกรณ์เครื่องสุดท้ายที่จะเปิดใช้งานบนเกาะ โดยกำหนดไว้ในวันที่ 17 พฤษภาคมที่จะถึงนี้

กัว จื้อฮุย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า หากไต้หวันยุติใช้เครื่องปฏิกรณ์ตามกำหนดเดิมจริง พลังงานที่ผลิตสะสมไว้จะสามารถใช้ได้จนถึงสิ้นเดือน แต่การขยายเวลาออกไปจะช่วยให้มีพลังงานสำรองใช้ได้นานถึง 18 เดือน ผู้สนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์โต้แย้งว่าแหล่งพลังงานนิวเคลียร์เป็นหนทางที่เป็นไปได้มากที่สุดสำหรับไต้หวัน ในการบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ หลายภาคส่วนกังวลว่า การปิดเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เครื่องสุดท้าย จะทำให้ความต้องการพลังงานพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก กระทรวงกิจการเศรษฐกิจคาดการณ์ว่า ความต้องการไฟฟ้าของไต้หวันจะเพิ่มขึ้น 12-13 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2030  เนื่องจากไต้หวันต้องพึ่งพารายได้จากอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ จุดชนวนให้เกิดการถกเถียงอย่างดุเดือดเกี่ยวกับจุดยืนด้านพลังงานนิวเคลียร์อีกครั้ง

กลุ่มสีเขียวไม่พอใจ แต่พลังงานหมุนเวียนก็ยังไม่พร้อม

การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวถูกท้าทายโดยองค์กรนอกภาครัฐ ด้านหน่วยงานสนับสนุนยกเลิกพลังงานนิวเคลียร์แห่งชาติ ซึ่งประณามกระบวนการนิติบัญญัติที่ไม่โปร่งใส และเรียกร้องให้มีการระดมพลต่อต้านสมาชิกรัฐสภาที่สนับสนุนนิวเคลียร์ รัฐบาลชี้แจงว่าการแก้ไขดังกล่าวจะไม่เปลี่ยนแปลงแผนการปลดระวางเตาปฏิกรณ์หม่าอันซาน และย้ำถึงความสำคัญของความปลอดภัยสาธารณะ

ขณะกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกรีนพีซประมาณการณ์ว่า บริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปที่ใหญ่ที่สุดในโลก จะใช้ไฟฟ้าเทียบเท่ากับประชากรบนเกาะราวหนึ่งในสี่ของจำนวนประชากร 23 ล้านคนภายในวันเดียว

อย่างไรก็ตาม คำมั่นสัญญาของรัฐบาลไทเปที่จะบรรลุ Net Zero 2025 ต้องอาศัยการเพิ่มการผลิตพลังงานหมุนเวียนเป็นประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานที่ต้องการทั้งหมด ซึ่งในปัจจุบัน ไต้หวันผลิตได้เพียง 12 เปอร์เซ็นต์ สะท้อนให้เห็นว่าไต้หวันยังไม่พร้อมที่จะใช้พลังงานหมุนเวียนทดแทนความต้องการของประชาชนและภาคอุตสาหกรรมบนเกาะได้ 

แองเจลิกา ออง สมาชิกของ Clean Energy Transition Alliance ซึ่งสนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์ กล่าวว่า หากย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว การเริ่มใช้นโยบายต่อต้านนิวเคลียร์ถือเป็นเรื่องสมเหตุสมผล เนื่องจากประชาชนยังคงฟื้นตัวจากภัยพิบัติอันเลวร้ายทางนิวเคลียร์ที่ฟูกูชิมะ แต่ตอนนี้ แม้แต่ญี่ปุ่นเองก็ตัดสินใจที่จะกลับมาใช้พลังงานนิวเคลียร์แล้ว นั่นเป็นเพราะพลังงานหมุนเวียนนั้นไม่สามารถใช้งานได้จริง แม้แต่พลังงานแสงอาทิตย์จำเป็นต้องใช้แบตเตอรี่

แชร์
ดับฝันไต้หวันไร้นิวเคลียร์ พลังงานหมุนเวียนไม่พอ รัฐสภาต่ออายุโรงไฟฟ้า