ยอดขายรถยนต์ในเวียดนามในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 ขยายตัวแข็งแกร่งถึง 24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งตัวเร็วกว่าตลาดรถยนต์ขนาดใหญ่แห่งอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่เติบโตอย่างเอื้ออำนวยต่อการบริโภค
ข้อมูลจากนิกเคอิเอเชียระบุว่า อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ขนาดใหญ่ที่สุดของภูมิภาค มียอดขายลดลง 5% ในไตรมาสแรกของปีนี้เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่มาเลเซียและไทย ต่างมียอดขายหดตัวในอัตราเดียวกันที่ 7% ตรงกันข้ามกับฟิลิปปินส์ที่ยอดขายเติบโต 7% และเวียดนามที่โดดเด่นด้วยการขยายตัวสูงถึง 24% สะท้อนถึงความแตกต่างด้านสภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อในแต่ละประเทศอย่างชัดเจน
สำหรับภาพรวมยอดขายรถยนต์ใน 5 ตลาดใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2568 มียอดขายรวมอยู่ที่ประมาณ 732,898 คัน ลดลง 1.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แสดงให้เห็นถึงแรงกดดันโดยรวมในอุตสาหกรรมยานยนต์ของภูมิภาค แม้บางประเทศอย่างฟิลิปปินส์และเวียดนามยังสามารถรักษาการเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง
จากข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตรถยนต์เวียดนาม (VAMA) รวมถึงยอดขายของ VinFast และ Hyundai พบว่า ในไตรมาสแรกปี 2568 เวียดนามมียอดขายรถยนต์รวม 118,813 คัน แซงหน้าฟิลิปปินส์ที่ทำได้ 117,074 คันในช่วงเวลาเดียวกัน ถือเป็นก้าวสำคัญของเวียดนามในการขยับอันดับในกลุ่มตลาดรถยนต์ขนาดใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในเวียดนาม รถยนต์ไฮบริดเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุด โดยยอดขายพุ่งขึ้นถึง 80% แตะระดับ 2,562 คันเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหนุนมาจากการเปิดตัวรุ่นใหม่ เช่น โตโยต้า มอเตอร์ ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 14% ได้ส่งคัมรีรุ่นไฮบริดออกสู่ตลาดเมื่อปีที่ผ่านมา ขณะที่ซูซูกิ มอเตอร์ ก็ได้เปิดตัว XL7 ไฮบริดในเดือนกันยายน เสริมความแข็งแกร่งให้กับตลาดรถยนต์ประหยัดพลังงานในประเทศ
ในเชิงปริมาณ ยอดขายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์และรถบรรทุกมีบทบาทเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของตลาดเวียดนาม โดยยอดขายรถเพื่อการพาณิชย์เติบโต 22% และรถบรรทุกเติบโต 21% คิดเป็นจำนวน 15,445 คัน และ 13,400 คัน ตามลำดับ สะท้อนถึงอานิสงส์จากการลงทุนภาครัฐที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา
สำหรับฟิลิปปินส์ ยอดขายรถยนต์ในไตรมาสแรกขยายตัว 7% แตะ 117,074 คัน โดยยอดขายรถนั่งลดลง 13.7% ขณะที่รถเพื่อการพาณิชย์เพิ่มขึ้น 13.9% รถ EV และไฮบริดขายได้รวม 4,544 คัน คิดเป็น 5.73% ของยอดขายทั้งหมด
ด้านประเทศไทย ยอดขายรถยนต์เดือนมกราคมถึงมีนาคมลดลง 7% เหลือ 153,193 คัน โดยยอดขายรถกระบะลดลง 13% เหลือ 40,475 คัน และรถนั่งเครื่องยนต์สันดาปลดลง 14% เหลือ 37,555 คัน อย่างไรก็ดี ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 19% แตะ 22,737 คัน โดยเฉพาะแบรนด์จีนอย่าง BYD ที่มียอดขายเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้น 2.8 เท่าเมื่อเทียบปีก่อน เป็นจำนวน 3,204 คัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ยอดขายรถยนต์ในไทยเพิ่มขึ้น 14% ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาสที่ยอดขายทะลุ 150,000 คัน ปัจจัยหนุนสำคัญ ได้แก่ การทำโปรโมชั่นและการลดราคาจากผู้ผลิต ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงจากหนี้ครัวเรือนที่สูงและการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น
ในมาเลเซีย ซึ่งเป็นตลาดใหญ่อันดับสองของภูมิภาค ยอดขายรถยนต์ในไตรมาสแรกลดลง 7.4% เหลือ 188,100 คัน หลังจากแรงส่งจากการเคลียร์ออร์เดอร์ค้างในปีก่อนเริ่มหมดลง แม้ว่ายอดขายในเดือนมีนาคมจะกระเตื้องขึ้น 2.2% เป็น 72,700 คัน จากแคมเปญส่งเสริมการขายที่รุกหนักของค่ายรถยนต์
นักวิเคราะห์เชื่อว่ายอดขาย EV ในมาเลเซียจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยแบรนด์จีนและแบรนด์ท้องถิ่นแข่งขันกันอย่างเข้มข้น
ล่าสุด Proton แบรนด์รถแห่งชาติของมาเลเซีย เปิดเผยว่ารถ EV รุ่นแรก e.MAS 7 ที่เปิดตัวในเดือนธันวาคม ได้รับยอดจองมากกว่า 5,500 คัน และมีการส่งมอบมากกว่า 1,800 คันแล้ว โดยมีแผนเปิดตัวรุ่นใหม่ e.MAS 5 ภายในปีนี้
Jetour บริษัทลูกของ Chery จากจีน เตรียมประกอบรถยนต์ในรัฐยะโฮร์ของมาเลเซีย ผ่านความร่วมมือกับกลุ่ม Berjaya เพื่อกดราคาจำหน่ายให้เข้าถึงได้มากขึ้น
Periasamy Arumugam ผู้บริหารฝ่ายขายของ Great Wall Motors เปิดเผยว่า ภายในสิ้นปีนี้ คาดว่าจะมีแบรนด์รถยนต์จีนประมาณ 13-14 รายเข้าสู่ตลาดมาเลเซีย เขาย้ำว่าราคาที่แบรนด์จีนตั้งไว้นั้น "แข่งขันได้และเข้าถึงได้" ในขณะที่ เจอร์รี ชาน ผู้จัดการฝ่ายขายภูมิภาคของ Jetour ระบุว่า บริษัทตั้งเป้ายอดขาย 3,000 คันในมาเลเซียปีนี้ โดยวางแผนผลิต SUV ล็อตใหม่ในยะโฮร์ เพื่อเจาะตลาดท้องถิ่นที่ผู้บริโภคชื่นชอบรถขนาดใหญ่
ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามได้เพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อรองรับแรงกดดันจากสงครามการค้า โดยในไตรมาสแรกของปีนี้ มูลค่าการลงทุนภาครัฐแตะระดับ 4.67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 19.8% เมื่อเทียบรายปี
ธึก ธัน นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมจาก Viet Capital Securities ให้สัมภาษณ์กับนิกเคอิเอเชียว่า "เราคาดว่ายอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลในเวียดนาม (ไม่รวม VinFast และแบรนด์หรูบางราย) จะเติบโต 15% ในปี 2025 จากแรงหนุนของการฟื้นตัวในการใช้จ่ายผู้บริโภค มาตรการกระตุ้นการขายจากค่ายรถยนต์ และการเปิดตัวรุ่นราคาประหยัดเพิ่มเติม"
เขาระบุเพิ่มเติมว่า "สมมติฐานพื้นฐานของเราไม่ได้รวมความเสี่ยงจากผลลัพธ์เชิงลบของการเจรจาภาษี แต่ประเมินว่าภาษีนำเข้าในเวียดนามอาจสูงกว่าค่าเฉลี่ยราว 5-10% และหากสูงกว่านี้ อาจกระทบการคาดการณ์ยอดขาย"