Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ผู้บริโภคสหรัฐฯ จ่อตัวเลือกสินค้าลด ของขาด ธุรกิจปรับซัพพลายเชนไม่ทัน
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

ผู้บริโภคสหรัฐฯ จ่อตัวเลือกสินค้าลด ของขาด ธุรกิจปรับซัพพลายเชนไม่ทัน

11 พ.ค. 68
16:35 น.
แชร์

ในเวลาไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ผู้บริโภคในสหรัฐฯ จะเริ่มสัมผัสได้ถึงผลกระทบของสงครามการค้าภายใต้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์อย่างเป็นรูปธรรม เมื่อสินค้าหลากหลายสีสัน รูปแบบ ขนาด และรสชาติที่เคยมีให้เลือกมากมายในร้านค้าและออนไลน์ จะค่อยๆ เหลือเพียงตัวเลือกจำกัดไม่กี่รายการ

ตลอดห้าทศวรรษของการค้าเสรี จำนวนสินค้านำเข้าบนชั้นวางสินค้าในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึงสามเท่าระหว่างปี 1972 ถึง 2001 ช่วยหนุน GDP ขยายตัวถึง 2.6% วันนี้ซูเปอร์มาร์เก็ตมีสินค้าราว 30,000 รายการ Walmart ขายสินค้ากว่า 120,000 ชนิด และ Amazon มีผลิตภัณฑ์ออนไลน์นับล้านรายการ

แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กำลังเกิดขึ้น เมื่อทรัมป์ประกาศใช้ภาษีศุลกากร 10% กับเกือบทุกสินค้าที่นำเข้าสหรัฐฯ และเรียกเก็บภาษีสูงถึง 145% สำหรับสินค้าจากจีน เทียบเท่ากับการคว่ำบาตรทางการค้าต่อเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลก ผลลัพธ์ที่ตามมา คือ ความหลากหลายของสินค้า เช่น รองเท้า กระเป๋า ของเล่น และสินค้าอุปโภคบริโภคประเภทอื่น จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

"ความหลากหลายของสินค้าจะหายไป นี่คือหนึ่งในผลกระทบที่ชัดเจนที่สุดของนโยบายภาษี" เจสัน มิลเลอร์ ศาสตราจารย์ด้านการบริหารซัพพลายเชนแห่งมหาวิทยาลัยรัฐมิชิแกนกล่าว

บริษัทเร่งปรับกลยุทธ์ ลดตัวเลือกสินค้า หลีกเลี่ยงผลกระทบภาษี

ท่ามกลางแรงกดดันจากมาตรการภาษี บริษัทต่างๆ กำลังเผชิญกับการตัดสินใจที่ยากลำบาก ว่าสินค้าชนิดใดควรเดินหน้าผลิตต่อ และชนิดใดควรถูกตัดทิ้ง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ต้นทุนสูงเกินไป หรือมีความเสี่ยงที่ผู้บริโภคจะเลิกซื้อเนื่องจากราคาปรับตัวสูงขึ้น หลายบริษัทจึงเริ่มถอนตัวจากการผลิตในจีน และหันไปพึ่งพาผู้ผลิตในประเทศอื่นโดยเลือกสั่งเฉพาะสินค้าขายดี บางแห่งถึงขั้นระงับการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ใช้เวลาพัฒนามานานหลายปี

อย่างไรก็ดี เจสัน มิลเลอร์ ศาสตราจารย์ด้านซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยรัฐมิชิแกน ชี้ว่า แม้สถานการณ์จะไม่รุนแรงถึงขั้นเห็นชั้นวางสินค้าว่างเปล่าเหมือนช่วงโควิด-19 แต่ผู้บริโภคจะสัมผัสได้อย่างชัดเจนว่าตัวเลือกในหลายหมวดสินค้ากำลังลดลง

ตัวอย่างเช่น Sarah Wells ผู้ก่อตั้งแบรนด์กระเป๋าแม่และผลิตภัณฑ์สำหรับการให้นมลูก ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายภาษี ล่าสุดเธอจำเป็นต้องลดจำนวนสีของกระเป๋ารุ่นขายดี เหลือเพียงสีดำ และอีกหนึ่งสี เช่น น้ำตาลหรือเทา เมื่อสินค้าคงคลังปัจจุบันหมด

"เรารับความเสี่ยงในการสั่งซื้อสินค้าเต็มแค็ตตาล็อกไม่ได้" เวลส์กล่าว เธอได้หยุดสั่งผลิตจากจีนโดยสิ้นเชิง และย้ายฐานการผลิตไปกัมพูชา แต่จำกัดคำสั่งซื้อไว้เฉพาะสินค้ารุ่นที่มีอุปสงค์สูงและมีกำไรดีเท่านั้น

สถานการณ์ลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นกับ Ash แบรนด์รองเท้าสตรีระดับพรีเมียม ที่ตัดสินใจถอดรองเท้าบูททั้งหมดออกจากเว็บไซต์ เพื่อกักตุนไว้สำหรับฤดูใบไม้ร่วง เนื่องจากไม่มั่นใจว่าซัพพลายจะมีเพียงพอในช่วงเวลานั้น นอกจากนี้ Ash ยังลดการสั่งซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในจีนและเวียดนามลงอย่างมีนัยสำคัญ

แบรนด์ยักษ์ใหญ่เร่งหั่นความหลากหลายสินค้ารักษากำไร

ภายใต้ภาระต้นทุนที่สูงขึ้นจากมาตรการภาษี บรรดาแบรนด์ชั้นนำต่างเร่งปรับตัวโดยลดความหลากหลายของสินค้าอย่างเห็นได้ชัด

Hasbro เจ้าของแบรนด์ของเล่นชื่อดังอย่าง Nerf และ Play-Doh ประกาศตัดสินค้าหลายรายการออกจากแผนการผลิต หลังประเมินว่าไม่สามารถทำกำไรได้ภายใต้ภาษีที่สูงลิ่ว บริษัทจึงหันมาเน้นจำหน่ายของเล่นรุ่นเก่า ผลิตในอินเดีย ซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าสินค้าที่ผลิตในจีนซึ่งต้องใช้ส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์และวัสดุโฟมราคาแพง

Newell Brands ผู้ผลิตแบรนด์สินค้าทารกชั้นนำอย่าง Graco และ Baby Jogger ก็เตรียมลดจำนวนรุ่นของอุปกรณ์เด็ก โดยระบุว่า ปัจจุบันรถเข็นเด็กถึง 97% และคาร์ซีทสำหรับเด็ก 87% ที่จำหน่ายในสหรัฐฯ ล้วนผลิตจากจีน จึงได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ขณะเดียวกัน ผู้ค้าปลีกรายอื่นๆ เช่น Dollar Tree, Five Below, Vince และ Acco Brands ซึ่งเป็นเจ้าของสินค้ากลุ่มเครื่องเขียนอย่าง Mead และ Five Star ต่างส่งสัญญาณว่า พวกเขาจะหยุดจำหน่ายสินค้าบางประเภทเพื่อควบคุมต้นทุน

"มีสินค้าอยู่หลายรายการที่นำเข้าในระดับภาษีนี้แล้วไม่คุ้มต้นทุนอีกต่อไป" ยูจิ โอคุมูระ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (CFO) ของแบรนด์แฟชั่น Vince กล่าว

นวัตกรรมติดกับดักภาษี

นอกจากนี้ นโยบายภาษีครั้งนี้ยังไม่ได้เพียงแค่จำกัดตัวเลือกของผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังสร้างแรงกดดันอย่างหนักต่อการพัฒนานวัตกรรมสินค้าใหม่ในภาคธุรกิจ

"เรามีแผนจะพัฒนาเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กหลากหลายรุ่น แต่ตอนนี้เราต้องพับเก็บแผนเหล่านั้นไว้" บ็อบบี จาวาเฮรี ประธานบริษัท Yedi Houseware กล่าวกับ CNN

สถานการณ์เดียวกันนี้เกิดขึ้นกับ Sarah Wells เจ้าของแบรนด์กระเป๋าและอุปกรณ์แม่และเด็ก ซึ่งยืนยันว่าได้หยุดการออกแบบกระเป๋าและสไตล์ใหม่โดยสิ้นเชิง

"การมอบตัวเลือกที่หลากหลายให้กับคุณแม่คือหนึ่งในพันธกิจหลักที่ฉันก่อตั้งธุรกิจนี้ขึ้นมา แต่ในตอนนี้ เราไม่มีแผนจะพัฒนาอะไรใหม่เลย" เวลส์กล่าว



แชร์
ผู้บริโภคสหรัฐฯ จ่อตัวเลือกสินค้าลด ของขาด ธุรกิจปรับซัพพลายเชนไม่ทัน