ธุรกิจการตลาด

การแข่งขันรถ Formula 1 (F1) คืออะไร? ทำไมหลายประเทศอยากจัด? ไทยมีหวังหรือไม่?

23 เม.ย. 67
การแข่งขันรถ Formula 1 (F1) คืออะไร? ทำไมหลายประเทศอยากจัด? ไทยมีหวังหรือไม่?

ในแผนสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการจัดการแสดงและการแข่งขันระดับโลก การแข่งขันหนึ่งที่รัฐบาลชุดปัจจุบันหมายตาไว้ก็คือ การแข่งขันฟอร์มูล่าวัน (Formula One) หรือที่เรียกกันอย่างสั้นๆ ว่า เอฟวัน (F1) ซึ่งเป็นการแข่งขันรถที่ใหญ่และมีแฟนๆ ติดตามมากที่สุดในโลก จนได้ชื่อว่าเป็น “โอลิมปิกของวงการรถแข่ง”

โดยในวันที่ 22 เม.ย. นายสเตฟาโน โดเมนิกาลี่ (Stefano Domenicali) ประธานกรรมการบริหาร บริษัท Formula One Group ได้เข้าพบ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อสำรวจความเป็นไปได้ในการขยายการจัดการแข่งขัน Formula One ในประเทศไทยครั้งนี้ หลังในวันที่ 11 มีนาคม ได้ประชุมหารือกันเบื้องต้นทางแอปพลิเคชั่น Zoom 

การเยือนไทยของซีอีโอ F1 Group ในครั้งนี้ จะทำให้ทางบริษัทได้รับข้อมูลเชิงลึก และได้สำรวจศึกษาเส้นทางการแข่งขันฟอร์มูล่าวันที่เป็นไปได้ในประเทศไทย โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่ารัฐบาลต้องการที่จะให้มีการจัดการแข่งขันในถนนจริง เช่น ถนนราชดำเนินในเกาะรัตนโกสินทร์ เพื่อให้เมื่อถ่ายทอดออกไป ผู้ชมจะได้เห็นความสวยงามของสถานที่ท่องเที่ยวไทยไปพร้อมกับการชมการแข่งขัน ซึ่งอาจบันดาลใจให้ผู้ชมอยากเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้

ในบทความนี้ ทีม SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักกันว่าการแข่งฟอร์มูล่าวันนั้นคืออะไร อยากจัดต้องทำอย่างไร และทำไมหลายๆ ประเทศรวมไปถึงประเทศไทยจึงอยากเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันนี้ แม้จะเป็นการแข่งขันกีฬาที่ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล
afp__20240421__34pw8h2__v1__h

F1 การแข่งรถที่โด่งดังที่สุดในโลก มีผู้ชมรวมกว่า 1 พันล้านคน

การแข่งขันรถฟอร์มูล่าวัน (Formula One) หรือการแข่งขันกีฬารถแข่งสูตร 1 เป็นการแข่งขันรถยนต์ระดับโลกที่จัดขึ้นทุกปีในรูปแบบ ‘กรังปรีซ์’ (Grand Prix) หรือการแข่งขันย่อยตามประเทศและเมืองสำคัญทั่วโลก เช่น อังกฤษ อิตาลี ออสเตรีย ฮังการี ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ ญี่ปุ่น จีน และสิงคโปร์ 

ในวงการการแข่งรถ การแข่งขัน F1 ถือได้ว่าเป็นสุดยอดการแข่งขันรถยนต์ เพราะเป็นการแข่งขันของรถ F1 หรือ ฟอร์มูล่าวัน ที่มีความเป็นเลิศเหนือยานยนต์ธรรมดาทั้งในด้านความเร็วและความก้าวหน้าทางวิศวกรรม เพราะมีการออกแบบมาให้เคลื่อนที่ได้รวดเร็วมากที่สุด โดยปัจจุบันตำแหน่งรถ F1 ที่เร็วที่สุดในโลกเป็นของรถรุ่น RA106 ของ Honda ที่มีความเร็วสูงสุดถึง 397.36 กิโลเมตร/ชั่วโมง

afp__20240421__34pw8tq__v1__h

ความเร็วที่สูงนี้ทำให้การแข่งขัน F1 เป็นการแข่งขันที่วัดทั้งความสามารถในการบังคับรถยนต์ของนักแข่งที่ต้องทนต่อแรง G มหาศาลในระหว่างขับรถ และความสามารถของทีมช่างเครื่องและทีมกลยุทธ์ที่ต้องปรับสภาพรถ F1 ของทีมให้เหมาะสมกับการแข่งขันในแต่ละสนามและแต่ละประเทศมากที่สุด

การประชันฝีมือกันของนักแข่งและทีมกลยุทธ์ในแต่ละทีมทำให้การแข่งขัน F1 มีความตื่นเต้นเร้าใจ และดึงดูดแฟนๆ ที่ชื่นชอบความรวดเร็วได้จากทุกมุมโลกได้เป็นปริมาณกว่า 1 พันล้านคนทุกปี โดยจากข้อมูลของ Liberty Media Corporation บริษัทเจ้าของ Formula One Group ในปี 2023 การแข่งขัน F1 ทั่วโลกมีจำนวนผู้ชมรวมมากกว่า 1,500 ล้านคน แบ่งเป็นผู้ชมติดขอบสนาม 6 ล้านคน ผู้ชมทางโทรทัศน์ 1.5 พันล้านคน และผู้ติดตามในช่องทางโซเชียลมีเดียของ F1 อีกประมาณ 70.5 ล้านคน

ดังนั้น หลายๆ ประเทศจึงสนใจเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันให้กับ F1 เพราะนอกจากการแข่งขัน F1 จะเป็นอีเวนท์แม่เหล็กดึงดูดให้แฟนๆ ทั่วโลกบินเข้ามาชมการแข่งขัน รวมไปถึงจับจ่ายใช้สอยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศนั้นๆ แล้ว ยังเป็นประตูเปิดให้ประเทศเจ้าภาพมีพื้นที่ในสื่อระดับโลก ที่อาจจะกลายเป็นการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาไปเที่ยวในประเทศในทางอ้อมได้อีก
evergreen-carousel1-1670x940

F1 ต้องใช้เงินเท่าไหร่? สร้างรายได้ให้กับเจ้าภาพเท่าไหร่?

ปัจจุบัน การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน F1 นั้นมีค่าใช้จ่ายแตกต่างกันไปตามความพร้อมของแต่ละประเทศและสถานที่ แต่ค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้อย่างแน่นอนในการเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขัน F1 ก็คือ 

  1. ค่าสัญญาซื้อสิทธิในการจัดการแข่งขันที่ต้องจ่ายให้กับ Formula One Group ทุกปี ในปี 2023 ค่าสัญญานี้มีมูลค่าขั้นต่ำประมาณ 740 ล้านบาทต่อปี (ในโมนาโก) และ สูงสุด 2,111 ล้านบาทต่อปี (ในอาเซอร์ไบจาน)
  2. ค่าใช้จ่ายในการเตรียมสถานที่ให้พร้อมกับการแข่งขัน เพราะถนนที่ใช้จัด F1 ได้นั้นต้องเป็นถนนที่ได้รับการรับรองจากสมาพันธ์รถยนต์นานาชาติ ว่าเป็นสนามแข่งรถระดับมาตรฐาน เอฟไอเอ เกรด 1 (FIA Grade 1) ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 45 ที่ในโลก

ดังนั้น หากประเทศใดต้องการที่จะเป็นเจ้าภาพ F1 แต่ยังไม่มีสนามระดับ FIA Grade 1 ประเทศนั้นๆ ก็ต้องลงทุนสร้างสนามขึ้นมาเสียก่อน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการสร้างประมาณ 9,997 ล้านบาท ทำให้เมื่อทบกับค่าซื้อสิทธิขั้นต่ำแล้ว การจัดการแข่งขัน F1 มีสิทธิสูงที่จะมีมูลค่าเกิน 10,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากสำหรับประเทศที่รายได้ปานกลาง

ทั้งนี้ แม้จะต้องอาศัยเงินลงทุนมหาศาล หลายๆ ประเทศก็ยังกล้าลงทุน เพราะมองว่ารายได้ที่ได้จากการขายบัตร รวมไปถึงขายสินค้าและบริการให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาชมการแข่งขันนั้นอย่างไรก็มากกว่าเงินที่ต้องลงทุนไป ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือประเทศใกล้บ้านเราอย่าง ‘ออสเตรเลีย’ ซึ่งได้สิทธิในการจัดการแข่งขัน F1 มาตั้งแต่ปี 1996 

charles-leclerc-ferrari-f1-75_1

จากข้อมูลของ Statista และรายงานของ E&Y ในปี 2023 ออสเตรเลียจ่ายค่าจัดการแข่งขัน F1 ในสนาม Albert Park Circuit ให้กับ Formula One Group ไปทั้งหมด 37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1,371 ล้านบาท โดยมีรัฐบาลให้เงินสนับสนุน 100.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3,727 ล้านบาท 

ทั้งนี้ รายงานเดียวกันระบุว่า ออสเตรเลียได้รายได้จากการจัดการแข่งขัน F1 กลับมาทั้งหมด 268 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 9,928 ล้านบาท โดยคิดเป็นรายได้โดยตรง เช่น การขายตั๋วชมการแข่งขันเป็นจำนวน 144 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5,335 ล้านบาท จากผู้เข้าชมงานรวมถึง 444,631 คน และสร้างงานให้กับคนในพื้นที่ 1,149 

นี่ทำให้เมื่อหักลบกันแล้ว ออสเตรเลียจะได้กำไรจากการจัดการแข่งขัน F1 ในปี 2023 ถึงประมาณ 6,201 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจที่สูงมากจากการจัดการแข่งขันกีฬาเพียงงานเดียว ในระยะเวลาเพียง 3 วัน จากวันที่ 31 มีนาคม ถึง 2 เมษายน ปี 2023

ไทยมีหวังได้จัด F1 หรือไม่?

ในด้านความพร้อม ไทยถือว่ามีความพร้อมด้านสนามแข่ง เพราะมีสนามแข่งระดับ FIA Grade 1 อยู่ 1 แห่ง คือ สนามบุรีรัมย์ อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต (BRIC) หรือ ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ซึ่งตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของช้างอารีนา ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์

2-1-1024x662

ทั้งนี้ หากไทยต้องการจัดการแข่งขัน F1 บนท้องถนนจริง หรือที่เรียกว่า Street Track ไทยก็จะต้องลงทุนปรับสภาพถนนให้เหมาะกับการแข่งรถ จัดอุปกรณ์และพื้นที่อำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ของแต่ละทีมทำงาน จัดพื้นที่สำหรับผู้ชม รวมไปถึงสร้างรั้วสูงเพื่อป้องกันไม่ให้ตัวรถหรือชิ้นส่วนใดๆ เลยออกไปทำลายอาคารหรือสิ่งของที่อยู่โดยรอบหากเกิดอุบัติเหตุ

ดังนั้น ไทยก็อาจมีหวังได้เป็นเจ้าภาพการแข่งขัน F1 ได้หากทาง F1 พิจารณาแล้วว่าไทยมีสถานที่เหมาะสมสำหรับการจัดการแข่งขัน และรัฐบาลไทยมีเงินทุนมากพอในการสนับสนุนการจัดงาน และมีการคำนวณแล้วว่าเงินที่ต้องลงทุนไปนั้นคุ้มค่ากับผลลัพธ์ที่จะได้ โดยเฉพาะรายได้จากการขายตั๋ว เพราะตั๋วชมการแข่งขัน F1 มักมีราคาค่อนข้างสูงจากต้นทุนที่สูง

โดยถ้าหากอ้างอิงจากข้อมูลสนามปี 2024 ราคาตั๋วถูกสุดสำหรับการแข่งขันในปีนี้จะเป็นตั๋วสำหรับการแข่งขันที่เซี่ยงไฮ้ ซึ่งมีราคา 200 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 7,400 บาท สำหรับการแข่งขัน 3 วัน ซึ่งก็ถือว่าสูงสำหรับค่าครองชีพคนไทยธรรมดาที่น่าจะเลือกดูการถ่ายทอดสดมากกว่า ทำให้กลุ่มลูกค้าหลักอาจจะเป็นชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาชมการแข่งขันในประเทศไทยมากกว่าหากมีการจัดการแข่งขันจริง

นอกจากนี้ เนื่องจากการแข่งขัน F1 ในแต่ละปีมีจำนวนรอบจำกัด ไทยก็อาจจะต้องแข่งขันกับคู่แข่งอีกหลายรายที่หมายมั่นปั้นมือจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน F1 เช่นเดียวกัน โดยคู่แข่งที่สำคัญของไทยในขณะนี้ก็คือ ‘เกาหลีใต้’ ที่เพิ่งยื่นจดหมายแสดงความประสงค์ในการจัดการแข่งขัน F1 ในปี 2026 ที่สนามแข่งเมืองอินชอนไปในต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังจากมีประสบการณ์จัดแข่ง F1 ไปแล้วในปี 2010-2013 ที่สนามเมืองยองนัม

ดังนั้น หนทางการเป็นเจ้าภาพ F1 ของไทยจึงเรียกได้ว่าไม่น่าจะสวยหรูนัก เพราะไทยต้องทั้งมีความพร้อมได้มาตรฐานของ F1 และพิสูจน์ตัวเองได้ว่ามีศักยภาพในการจัดงานเหนือกว่าคู่แข่ง ที่มีข้อได้เปรียบเหนือเราหลายประการคือเคยมีประสบการณ์จัดการแข่งขัน F1 มาแล้ว มีสนามที่พร้อมสำหรับการจัดงาน อีกทั้งยังมีเงินทุนในการขอสิทธิในการจัดมากกว่า 

 

รบ.หวังดึงนักท่องเที่ยว 3 แสน รายได้ 1.2 หมื่นล้าน เล็งจัดปี 2027

วันนี้ (23 เมษายน 2567) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การมาเยือนของนาย Stefano Domenicali ประธานกรรมการบริหาร บริษัท Formula One Group วานนี้​ มีวัตถุประสงค์​คือเพื่อสำรวจความเป็นไปได้ของการจัดการแข่งขัน Formula One (F1) ในประเทศไทย ซึ่งหากผลออกมาว่าจะมีการจัดในไทยจริง ๆ การจัดงานต้องใช้เวลาเตรียมตัว 3 ปี  โดยคณะจัดงานเล็งเป้าไว้ให้เกิดขึ้นในปี 2027

ทั้งนี้ หากการจัดงานประสบผลสำเร็จ อาจนำไปสู่การจัดงานในทุกปี (Annual​ Event) ในประเทศไทยได้ ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงจะทำให้ไทยเป็นหนึ่งในเจ้าภาพหลักของการจัดงานที่ใหญ่ระดับโลก (Worldclass Event) อย่างต่อเนื่อง เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นเป็นอย่างมาก​ เพราะนอกจากจะเป็นกระตุ้นการท่องเที่ยว​ ก​ระตุ้นเศรษฐกิจ​ สร้างรายได้ให้กับไทยเป็นอย่างมากแล้ว​ งานนี้จะช่วยสร้างภาพลักษณ์และภาพจำที่ดีในสายตาชาวโลกอีกด้วย

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเพิ่มเติมว่า​ จากการประมาณ​การ​ การจัดการแข่งขัน Formula One​ นั้นจะสามารถดึงดูนักท่องเที่ยวเข้าประเทศได้ถึง​ 300,000 คน​ สร้างรายได้ให้ประเทศได้ถึง​ 12,000 ล้านบาท​ ที่นำไปสู่การจัดเก็บรายได้เข้าสู่ระบบภาษีได้ถึง​ 280 ล้านบาท นอกจากนี้​ ยังประมาณการได้ว่าจะสร้างการจ้างงานได้ถึง​ 6,000 กว่าตำแหน่งอีกด้วย

“การจัดงานดังกล่าว สอดคล้องกับหนึ่งในหัวข้อของวิสัยทัศน์ IGNITE TOURISM THAILAND 2025 นั่นคือการเป็นศูนย์กลาง อีเว้นท์ ระดับโลกตลอดทั้งปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Tourism Hub และเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก​ ประเทศไทยมีความพร้อมในหลายด้าน​ ด้วยเรามีที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ที่ง่ายต่อการเดินทาง​ มีโรงแรมและภาคบริการที่พร้อมรองรับนักท่องเที่ยว​ มีมาตรการ​ผ่อนปรนวีซ่าให้กว่า​ 64​ ประเทศ​  ฉะนั้นขอชวนพี่น้องคนไทยให้มาตื่นเต้น​ ลุ้น​ และเชียร์​ไปด้วยกันกับความเป็นไปได้ครั้งนี้”  รองโฆษกฯ​ รัดเกล้า​ กล่าว

 

 

 

 





อ้างอิง: Statista, RacingNews365, Independent, Australian GovernmentLiberty Media

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT