ธุรกิจการตลาด

Kerry Express อาการหนัก ปี 66 ขาดทุนอีก 3,880 ล้านบาท เหตุยอดส่งลด คนซื้อของในร้านมากขึ้น

8 ก.พ. 67
Kerry Express อาการหนัก ปี 66 ขาดทุนอีก 3,880 ล้านบาท เหตุยอดส่งลด คนซื้อของในร้านมากขึ้น

Kerry Express ผลประกอบการแย่ต่อเนื่อง ปี 2566 ขาดทุนอีก 3,880.6 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 37.1% สาเหตุหลักมาจากการที่ปริมาณการจัดส่งที่ลดลงจากช่องทางแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคจากการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ไปเป็นการซื้อสินค้าหน้าร้าน ทำให้ดีมานด์สำหรับการขนส่งลดลง

Kerry Express ประสบปัญหาขาดทุนมาอย่างต่อเนื่องจากปัญหาต้นทุนการทำธุรกิจที่สูง ขณะที่ดีมานด์ในการขนส่งสินค้าลดลงต่อเนื่องหลังผ่านช่วงการระบาดของโควิด-19 โดยในปี 2566 ทำรายได้ไปทั้งหมด 11,470.3 ล้านบาท ลดลง 32.5% จากปีก่อนหน้า อันเนื่องมาจากการลดลงของปริมาณการจัดส่งพัสดุ

ในปี 2566 ยอดรวมการส่งพัสดุของ Kerry Express ลดลง 30% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการที่ปริมาณการซื้อขายผ่านทางตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ออกมาต่ำกว่าที่บริษัทคาดการณ์ โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 3 ที่มีปริมาณลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

การลดลงของรายได้ทำให้แม้ทาง Kerry Express จะพยายามปรับโครงสร้างบริษัท และวิธีการทำเนินธุรกิจจนลดต้นทุนได้ 23.3% ในปี 2566 ทางบริษัทขนส่งยังคงประสบปัญหาขาดทุน โดยในปี 2566 ขาดทุนสุทธิถึง 3,880.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.1% จากปี 2565 ที่ขาดทุน 2,829.8 ล้านบาท

ท้งนี้ ในวันที่ 5-6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริษัท เอสเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทลูกของ SF Holding Co. ยักษ์ใหญ่ด้านการส่งพัสดุและบริการโลจิสติกส์จากจีน ได้เข้ามาซื้อหุ้น 100% จาก Kerry Express รวมมูลค่ากว่า 9,500 ล้านบาท ทำให้ปัจจุบัน Kerry Express อยู่ในการดูแลของ SF Holding ซึ่งจะมีอำนาจในการกำหนดทิศทางการทำธุรกิจต่อไป

ดีมานด์ลด ตลาดแข่งรุนแรง หวังบริษัทแม่ใหม่ช่วยพยุง

ในช่วงหลังการระบาดของโควิด-19 มา ถือเป็นช่วงที่ท้าทายสำหรับบริษัทขนส่งต่างๆ เพราะในอุตสาหกรรมการจัดส่งพัสดุด่วนมีการแข่งขันสูงมากขึ้น ทั้งจากดีมานด์จากผู้บริโภคที่ลดลง และการเข้ามาของผู้เล่นใหม่ๆ 

ในปี 2566 เอง Kerry Express ก็ต้องเจอความท้าทายเพราะความต้องการของผู้บริโภคไทยยังอ่อนแอจากสภาพเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เปลี่ยนจากการสั่งของออนไลน์ไปเป็นการซื้อของหน้าร้านหลังมีการปลดล็อกดาวน์ ทำให้ปริมาณการจัดส่งพัสดุของ Kerry Express ลดลง 30% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า 

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา Kerry Express ได้มุ่งเน้นปฏิรูปการดำเนินงานธุรกิจทั้งหมดเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินงาน โดยอาศัยความช่วยเหลือของ SF Holding ซึ่งได้นำระบบการดำเนินงานใหม่ๆ มาใช้ปรับโครงสร้างการดำเนินงาน ขยายแพลตฟอร์มการขนส่งให้ครอบคลุม เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร รวมไปถึงนำระบบคัดแยกอัตโนมัติมาใช้

การปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่นี้ทำให้ Kerry Express ลดต้นทุนการขายและให้บริการได้ 23.3% จากปีก่อนหน้า ช่วยให้จำนวนข้อร้องเรียนจากลูกค้าเนื่องจากสินค้าเสียหาย หรือสูญหาย ลดลง 61% และอัตราการลาออกของพนักงานลดลงกว่า 3 เท่า

สำหรับปี 2567 Kerry Express ตั้งเป้าที่จะเพิ่มการสร้างประสบการณ์ผู้ใช้งานให้ดียิ่งขึ้นตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ให้บริการที่ครบวงจร และสร้างจุดเด่นด้วยการให้บริการขนส่งข้ามประเทศ และบริการสำหรับลูกค้าที่มีรายได้ต่อพัสดุสูง ซึ่งจะเป็นการสร้างกระแสรายได้ใหม่ 

นักวิเคราะห์คาดปี 2567 ยังขาดทุนหนักถึง 3,500 ล้านบาท

บล.กรุงศรี ได้ออกบทวิเคราะห์ หุ้น KEX ในไตรมาส 4/ุุ66 ผลประกอบการขาดทุนกว่าที่คาดไว้ค่อนข้างมาก เนื่องจากปริมาณพัสดุที่ลดลงจากผู้ประกอบธุรกิจ E-Commerce จากการเปลี่ยนพฤติกรรมการจัดส่งสินค้ามาใช้การจัดส่งภายในแทน 

โดยคาดว่าในปีนี้ KEX ยังคงขาดทุนหนักถึง 3,500 ล้านบาท เนื่องจากมองว่ายังไม่เห็นการฟื้นตัวของบริษัทในเร็วๆ นี้ เพราะยังได้รับแรงกดดันทางด้านอุปสงค์การบริการของ KEX จากผู้ประกอบการ e-commerce เช่น Shopee เริ่มทำการจัดส่งสินค้าเอง  โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีมาร์จิ้นสูง เช่น ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 

โบรกเกอร์ แนะนำ "ขาย"

กรุงศรี แนะนำ "ขาย" หุ้น KEX ด้วยราคาเป้าหมาย 4.80 บาท/หุ้น ซึ่งแนะนำให้นักลงทุนถือ เพื่อรอรับ tender offer ที่ 5.50 บาท/หุ้น จากผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ SF

 

advertisement

SPOTLIGHT