ธุรกิจการตลาด

FSMART ชู GINKA ตู้ชาร์จEV ดาวเด่น หลังกำไรปี 65 ลดลง

25 ก.พ. 66
FSMART ชู GINKA ตู้ชาร์จEV ดาวเด่น หลังกำไรปี 65 ลดลง
ไฮไลท์ Highlight
โดยผลประกอบการปี 2565 ของFSMART บริษัทมีรายได้จากธุรกิจหลักรวม 2,238.6 ล้านบาท ลดลง 16.5 % จากปี 2564 ที่ 2,679.35 ล้านบาท ขณะที่กำไรปี 65 อยู่ที่ 301.9 ล้านบาท ลงลง 24.5% จากปี 2564 อยู่ที่ 400.06 ล้านบาท

บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ “FSMART” เจ้าของตู้ “บุญเติม” และตู้เต่าบิน และอนาคตจะรวมไปถึงตู้ชาร์จรถ EV ในแบรนด์ ‘กิ้งก่า ชาร์จพ้อยท์’ อีกด้วย FSMART  ได้กลายเป็น 1 ในบริษัทที่ถูกจับตามองอย่างมาก เพราะความเป็นผู้นำตู้อัตโนมัติที่สร้างนวัตกรรมแปลกใหม่ในตลาด โดยล่าสุดประกาศผลการดำเนินงานปี 2565 ออกมายังคงมีกำไรแต่ปรับลดลงจากปี 2564


โดยผลประกอบการปี 2565 ของFSMART บริษัทมีรายได้จากธุรกิจหลักรวม 2,238.6 ล้านบาท ลดลง 16.5 % จากปี 2564 ที่ 2,679.35 ล้านบาท ขณะที่กำไรปี 65 อยู่ที่ 301.9 ล้านบาท ลงลง 24.5% จากปี 2564 อยู่ที่ 400.06 ล้านบาท

ทั้งนี้คณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติให้จ่ายเงินปันระหว่างกาลในอัตราหุ้นละ 0.16 บาท  รวมเป็นเงิน 121 ล้านบาท จากผลประกอบการครึ่งหลังปี 2565 ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2565 ถึง 31 ธ.ค. 2565 โดยกำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) ในวันที่ 9 มีนาคม 2566 พร้อมจ่ายเงินปันผลในวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 ทั้งนี้ บริษัทได้มีการจ่ายเงินปันระหว่างกาลในอัตราหุ้นละ 0.20 บาท จากผลประกอบการ 6 เดือนแรกไปเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2565 ทำให้ปี 2565 บริษัทมีการจ่ายเงินปันผลรวม 0.36 บาทต่อหุ้น

ธุรกิจเติมเงิน-รับชำระเงินอัตโนมัติ


ธุรกิจตู้บุญเติม ณ สิ้นปี 2565 อยู่ที่ 129,918 ตู้ทั่วประเทศ มูลค่าการทำรายการผ่านตู้บุญเติม  อยู่ที่ 35,862 ล้านบาทต่อเดือนซึ่งลดลงจากปี 2564 เพราะได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงพร้อมกับการผลักดันของผู้ให้บริการให้ลูกค้าเปลี่ยนจาก Prepaid เป็น Postpaid รวมถึงการโทรผ่านอินเตอร์เน็ตเป็นปัจจัยที่ทำให้บริการเติมเงินมือถือลดลง

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงมุ่งตอบโจทย์ด้วยบริการเติมอินเตอร์เน็ตแพ็คเกจให้เข้ากับพฤติกรรมของลูกค้า เพื่อรักษาฐานลูกค้า ศักยภาพและมุ่งขยายฐานลูกค้าใหม่จาก 3 ช่องทางบริการ ทั้งตู้บุญเติม เคาน์เตอร์แคชเชียร์ และแอปพลิเคชัน บริษัทมีการเพิ่มบริการอย่าง ต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นบริการเติมเงินมือถือและรับชำระบิลต่าง ๆ

สำหรับ บริการเติมเงินเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Wallet) มูลค่าเติมเงิน จำนวน 7,329 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อน หรือเพิ่มขึ้น 6.6% ซึ่งสะท้อน ความสะดวกสบายในการใช้บริการผ่านบุญเติมที่เข้าถึงได้ในทุกชุมชน 


สำหรับธุรกิจเติมเงินและรับชำระเงินที่เป็นธุรกิจหลัก บริษัทเชื่อว่าจะมีมูลค่าใช้บริการผ่านระบบบุญเติมเพิ่มขึ้น 5-10% จากปีก่อน ด้วยฐานลูกค้าขนาดใหญ่ใช้บริการประมาณ 15 ล้านรายใช้งานผ่านช่องทางทั้งออนไลน์และออฟไลน์ผ่านทุกแพลตฟอร์มบริการของบุญเติม พร้อมกิจกรรมทางการตลาดในการสร้างการรับรู้และใช้บริการบุญเติมอย่างสม่ำเสมอ โดยในปีนี้จะเพิ่มตู้บุญเติม Mini ATM ให้ลูกค้าในชุมชนได้ทำธุรกรรมทางการเงินฝาก ถอนเงินได้สะดวกมากขึ้น รวมทั้งจะเพิ่มเติมบริการใหม่ๆในตู้บุญเติมที่ให้บริการกว่า 130,000 จุด นอกจากนี้ ยังมองหาช่องทางเพิ่มจุดให้บริการเคาน์เตอร์แคชเชียร์เพื่อบริการรับชำระบิล-เติมเงินเพิ่มเติม จากปัจจุบันร่วมกับพันธมิตรกลุ่มเซ็นทรัลในนาม “CenPay powered by บุญเติม” และเคาน์เตอร์ในเครือบิ๊กซี ทั้งบิ๊กซี ซุปเปอร์เซ็นเตอร์, บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า, บิ๊กซี มาร์เก็ต และมินิบิ๊กซี รวมทั้งหมดกว่า 3,000 จุดบริการ นอกจากนี้ ยังมีบริการที่ครบครันทั้งเติมเงิน ชำระเงิน โอนเงิน ไปจนถึงบริการทางด้านสินเชื่อ ผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือที่มีกลุ่มลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ใช้บริการอย่างสม่ำเสมอด้วย

ธุรกิจเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติและเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า

สำหรับตู้เต่าบิน ณ ปี 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,942 ตู้ทั่วประเทศ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 มาก ถึง 4,396 ตู้ หรือมากกว่า 800% โดยมียอดขายเฉลี่ยในไตรมาส 4/2565 อยู่ที่44,574 บาท ต่อเดือน หรือ 46แก้วต่อตู้ต่อวัน ลดลงจากปี 2564   5.9% ที่ 47,379 ล้านบาทต่อเดือน  สาเหตุเพราะการเร่งขยายจำนวนตู้เต่าบินให้ได้ตามแผน ซึ่งอาจเจอบางพื้นที่ที่ยอดขายไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนดทางบริษัทก็สามารถย้ายไปตั้งที่ทำเลใหม่ได้ และผลกระทบจากฤดูกาล ฤดูร้อนขายดีกว่าฤดูฝนและฤดูหนาว ซึ่งบริษัทมีความเชื่อมั่นว่าจะ สามารถบริหารยอดขายเฉลี่ย50แก้วต่อตู้ต่อวันได้ตามเป้าหมายอย่าง แน่นอน

ทั้งนี้เต่าบินยังคงเดินหน้ารังสรรค์เมนูใหม่ให้เข้ากับเทศกาลและลูกค้าได้ทดลองเมนูใหม่ๆเพื่อตอบสนองความต้องการที่ หลากหลายสำหรับลูกค้าทุกกลุ่ม รวมถึงการมีแคมเปญร่วมกับลูกค้าใน การร่วมใช้สิทธิ์กับพารท์เนอร์สำหรับแลกส่วนลดต่างๆ เต่าบินให้ลูกค้าร่วมสะสมกระดองเต่าหลังรับเครื่องดื่มเพื่อไปแลกรับแก้วฟรีต่อไปเพื่อการกระตุ้นการใช้งานเพิ่มขึ้นของลูกค้าประจำและเป็นการเพิ่มลูกค้า กลุ่มใหม่ขึ้นอีก

เต่าบิน

ธุรกิจบริการทางการเงินและสินเชื่อครบวงจร


บริษัทมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้ให้บริการทางการเงินครบวงจร ผ่านการเป็นตัวแทนธนาคาร 8 ธนาคาร ที่ให้บริการทั้งฝาก-โอน-ถอนเงินสดผ่านตู้บุญเติม และ e-KYC ณ สิ้น ปี 2565 จำนวนรายการฝาก-โอนเงินผ่านตู้บุญเติม มีจำนวนรายการเฉลี่ย 1.5 ล้านรายการต่อเดือน จากการที่เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าจากวิกฤตเงิน เฟ้อที่ทำให้ลูกค้าระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้นและบางส่วนได้รับผลกระทบจากอุทกภัยที่รุนแรงมากกว่าปกติในช่วงฤดูฝน

อย่างไรก็ตามบริษัทได้มีการเพิ่มบริการฝาก-โอนเงินผ่านธนาคารกรุงเทพในไตรมาส 4/2565 อีก 1 ธนาคาร สะท้อนถึงการก้าวเข้าสู่การเป็นธนาคารชุมชนที่มีบริการที่ครบครันอย่างแท้จริง อีกทั้งบริษัทร่วมกับ 3 ธนาคาร (KBANK KTB BAY) เปิดบริการฝาก-โอนแก่บุคคลต่างด้าวที่มีบัญชีในประเทศ เพื่อ เพิ่มศักยภาพในด้านบริการทางการเงินให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ธุรกิจสินเชื่อ ณ วันสิ้นงวด มียอดการให้สินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 263 ล้าน บาท มีรายได้ดอกเบี้ย 25.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 88.6 % เมื่อเทียบกับปีที่ ผ่านมา เนื่องจากการขยายตัวของพอร์ตสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อส่วน บุคคลในกลุ่มลูกค้าองค์กรที่เติบโตอย่างมาก จากการให้ปล่อยสินเชื่อ ผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งบริษัทมุ่งเน้นการให้สินเชื่อแก่กลุ่มลูกค้าที่มีความ น่าเชื่อถือและอยู่เป็นหลักแหล่งทำให้การควบคุมคุณภาพสินเชื่อได้มี ประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

GINKA Charge Point ธุรกิจเรือธงแห่งอนาคต

GINKA Charge Point
นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) “FSMART” ผู้นำเครือข่ายอัตโนมัติและการเงินครบวงจร ใช้งานง่าย สะดวก รวดเร็วและปลอดภัย ภายใต้ชื่อ “บุญเติม” เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานปี 2566 บริษัทคาดการณ์งบลงทุนไว้ประมาณ 1,500 ล้านบาทเพื่อขยายทุกช่องทางทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจ ทั้งกลุ่มธุรกิจเติมเงิน และรับชำระเงิน, กลุ่มธุรกิจการเงินครบวงจรและตัวแทนธนาคาร (ฝาก ถอน โอนเงิน) รวมถึงกลุ่มธุรกิจเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติและเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า (Vending Machine) ที่เป็นธุรกิจอนาคต S Curve อย่างตู้เต่าบิน Robotic Barista 

ล่าสุดกับ GINKA Charge Point เรือธงใหม่ของบริษัท ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากการเปิดตัวต้นแบบก่อนหน้านี้ และอยู่ระหว่างการผลิตเชิงพาณิชย์ช่วงเดือนเมษายน เพื่อติดตั้งขยายจุดบริการ 5,000 จุดในปีนี้ ตามแผนโมเดลธุรกิจร่วมธุรกิจกับเจ้าของพื้นที่เป้าหมายทั่วประเทศ เช่น คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน โรงพยาบาล ลานเช่าจอดรถ ลานจอดในตลาด ร้านอาหาร คาเฟ่ ร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น เชื่อว่าธุรกิจจะสร้างโอกาสและรายได้ให้กับบริษัทเป็นอย่างดีในระยะยาว 

จากแผนการดำเนินงานที่ผ่านมาทั้งหมดคาดว่าจะส่งเสริมให้บริษัทมีอัตราการเติบโตโดยรวมไม่น้อยกว่า 5-10% และอาจจะส่งผลทำให้สัดส่วนรายได้ธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลง โดยกลุ่มธุรกิจเติมเงิน และรับชำระเงิน กลุ่มธุรกิจตัวแทนธนาคารและการให้สินเชื่อ และกลุ่มธุรกิจเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติและเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าจากปี 2565 อยู่ที่ 70  27 : 3 จะปรับเป็นที่ประมาณ 55 : 35 : 10 ในปี 2566 โดยกลุ่มธุรกิจเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติและเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าที่จะเป็นธุรกิจที่ส่งช่วยส่งเสริมรายได้ที่ดีให้กับบริษัทในอนาคต 

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT