ธุรกิจการตลาด

ปิดตำนาน 19 ปี Toyota Vios ปี 2022 นี้มีรถรุ่นอะไรจากไปบ้าง?

10 ส.ค. 65
ปิดตำนาน 19 ปี Toyota Vios ปี 2022 นี้มีรถรุ่นอะไรจากไปบ้าง?

ในที่สุด โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ก็ได้ประกาศยุติการผลิตรถยนต์รุ่น "Vios" ในประเทศไทยไปเรียบร้อยแล้ว ปิดตำนานรถขายดี 19 ปีในไทย ทำให้ปี 2022 นี้ เป็นปีที่มีค่ายรถดังถึง 3 แห่ง พร้อมใจกันปิดตำนานรถยนต์รุ่นขายดีกว่าสิบปีในไทย


หรืออาจเรียกได้ว่า เป็นการค่อยๆ เฟดลงของ "ยุครถยนต์สันดาป" (น้ำมัน) และการมาถึงของ "ยุครถยนต์ไฟฟ้า" แทน



แม้ว่ารถยนต์รุ่นที่หายไปในปีนี้จะไม่ได้ถูกแทนที่ด้วยรถยนต์ไฟฟ้า ยังคงเป็นรถสันดาปอยู่ และน่าจะคงอยู่ไปอีกหลายปีในตลาดประเทศไทย แต่ "กระแส" ของการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ๆ นั้นต้องยอมรับว่าไม่ได้หวือหวาเหมือนเก่า โดยเฉพาะหากเทียบกับกระแสของรถยนต์ไฟฟ้าที่โหมกันมาพร้อมกันทั้งอุตสาหกรรม ทั้งเรื่องของตัวรถ ราคา สถานีชาร์จ ไปจนถึงมาตรการอุดหนุนของภาครัฐ



เราจะพาไปประมวลรถยนต์ 3 รุ่นดังที่หายไปจากตลาด ในปี 2022 นี้



Vios


ปิดตำนาน 19 ปี รถเล็กที่เคยฮิตทั่วบ้านทั่วเมือง "Toyota Vios"



ผู้บริหารของโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ได้เปิดเผยเรื่องการยุติสายพานการผลิตรถยนต์รุ่น Vios ในโรงงานประกอบรถยนต์ของโตโยต้าในไทย เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ที่ผ่านมา ระหว่างงานแถลงเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ Toyota Yaris ATIV ซึ่งจะเข้ามาแทนที่วีออสในตลาดรถยนต์นั่ง 4 ประตูขนาดเล็กแทน



Vios

Vios นั้นเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี 2003 (เริ่มผลิตในปี 2002) แทนที่รุ่น Soluna โดยตลอด 19 ปีของวีออสในประเทศไทยมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 3 เจนเนอเรชัน ช่วงเจนแรกใช้ชื่อว่า โตโยต้า โซลูน่า วีออส โดยมีพรีเซนเตอร์คนดังระดับโลกอย่าง บริตนีย์ สเปียส์ ก่อนที่ในภายหลังจะเปลี่ยนชื่อเป็น วีออส ในช่วงเจนที่สอง (2007-2013) และเริ่มเข้าสู่เจน 3 ในปี 2013-2022 ก่อนจะเปลี่ยนมาสู่ยุค New Yaris Ativ ที่มีพรีเซนเตอร์คนรุ่นใหม่ฐานแฟนคลับนานาชาติอย่าง "แบมแบม Got7"



Vios

Vios เคยได้ชื่อว่าเป็นรถยนต์รุ่นที่ขายดีที่สุดในกลุ่มรถยนต์ขนาดเล็กระดับ B-segment โดยตัวเลขในปี 2556 ซึ่งเป็นยุคปลายเจน 2 วีออสมียอดขายในปีนั้นแตะระดับ 103,115 คัน แซงอันดับ 2 Honda City ซึ่งมียอด 93,252 คัน และอันดับ 3 Honda Jazz ซึ่งอยู่ที่ 21,745 คัน เรียกว่าเป็นยุคที่วีออสครองถนนและเต็นท์รถมือสองในประเทศไทย ก่อนที่ในยุคปัจจุบัน ยอดขายจะเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา



ช่วงครึ่งปีแรก 2565 (ม.ค.-มิ.ย. 65) ในบรรดารถยนต์กลุ่มบีเซ็กเมนต์ของโตโยต้านั้น มียอดขายนำโดย Yaris Hatchback อยู่ที่ 14,715 ตามมาด้วย Yaris Ativ ที่ 10,648 คัน และ Vios ที่ 1,829 คัน



การยุติสายพานการผลิตวีออส คาดว่าเป็นเพราะ "การปรับแผนตามสิทธิประโยชน์รถยนต์นั่ง" ที่ได้รับจากบีโอไอ เพราะรถซีดานขนาดเล็กในโครงการ "อีโคคาร์เฟส 2" เสียภาษีสรรพสามิต 12% (วีออส เสียภาษีสรรพสามิต 20%) และรถไฮบริด เสียภาษีสรรพสามิต 4% โดยยอดผลิตรถประเภทไฮบริด สามารถนำมานับรวมกับยอดผลิตอีโคคาร์เฟส 2 ที่บีโอไอกำหนดให้มีการผลิต 100,000 คันต่อปี ตั้งแต่ปีที่ 4 เป็นต้นไป เพื่อรับสิทธิ์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามเงื่อนไขการลงทุน


Honda Jazz จ่อปิดตำนาน 19 ปีเมืองไทย ตามทิศทางภูมิภาค


ค่ายฮอนด้า ออโตโมบิล ประเทศไทย นั้นถูกจับตามองว่าอาจจะตัดสินใจเกี่ยวกับรถรุ่น Honda Jazz ตามมาในเร็วๆ นี้ หลังจากที่มีการประกาศยุติสายพานการผลิตในหลายประเทศมาแล้วตั้งแต่ปี 2021-2022 นำโดย "มาเลเซีย" "อินโดนีเซีย" และ "ฟิลิปปินส์" ที่ประกาศยุติเมื่อช่วงปลายปี 2021 และใน "อินเดีย" ที่เพิ่งประกาศยุติไปในปี 2022 นี้

messageimage_1660111793192

ที่สำคัญก็คือ รายงานข่าวต่างประเทศระบุว่า การยุติ Honda Jazz นั้นไม่ใช่แค่แผนรายประเทศ แต่จะเป็นแผนการเปลี่ยนในระดับภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ยกเว้นสิงคโปร์) ที่จะยกเลิก Jazz แล้วนำ City Hatchback เข้ามาแทนที่ ทำให้คาดว่าแจ๊สในประเทศไทยนั้นก็อาจต้องโบกมือลาตามไปติดๆ ปิดฉาก 19 ปีเมืองไทย ตามหลังวีออส ไปอีกราย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้โบกมือลาอีโคคาร์รุ่น Brio ไปแล้ว นอกจากนี้ ยังคาดว่าการเปลี่ยนแปลงยังเป็นเรื่องของการปรับแผนรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีของอีโคคาร์เฟส 2 จากภาครัฐด้วยเช่นกัน



Nissan March ปิดฉาก 12 ปี อีโคคาร์รายแรกในไทย



โรงงาน Nissan Motor ประเทศไทย ได้มีการปล่อยรถ Nissan March (K13) สีเงินคันสุดท้ายออกจากไลน์ผลิต พร้อม Off-line Production เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2565 เรียกได้ว่าเป็นการปิดตำนาน EcoCar รุ่นแรกในประเทศไทยที่โลดแล่นมายาวนาน 12 ปีอย่างเป็นทางการ โดยสาเหตุมาจากผลกระทบเรื่องซัพพบายเชนเพราโควิด-19 ที่ทำให้มีปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนในการประกอบผลิตรถยนต์ และยอดขายที่ลดลง ทำให้ปริมาณการผลิตที่ออกไม่คุ้มการลงทุน



155504

ขณะที่ก่อนหน้านี้ ประธานบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ให้สัมภาษณ์ว่า จากนี้ไปนิสสันจะมุ่งเน้นการทำตลาดรถยนต์ในประเทศไทย จะมุ่งเน้นใน 4 โมเดลหลัก ได้แก่ ได้แก่ นิสสัน อัลเมร่า, นิสสัน คิกส์ , นิสสัน นาวารา และ นิสสัน เทอร์รา โดยจะมีในส่วนของรุ่นนำเข้ามาช่วยส่งเสริมการทำตลาดอย่าง รถยนต์ไฟฟ้า 100% อาทิ นิสสัน ลีฟ และ นิสสัน จีที-อาร์ ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ นิสสัน อริยะ นั้นขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับบริษัทแม่อย่างใกล้ชิด และในเดือน ก.ค.นี้ นิสสัน เตรียมส่งรถยนต์ นิสสัน คิกส์ บิ๊กไมเนอร์เชนจ์ ออกสู่ตลาดด้วย



นอกจากนี้ NISSAN ยังได้ยุติการทำตลาดรถยนต์อีกรุ่น คือ ‘Nissan Note’ โดยนับตั้งแต่เปิดตัว Nissan Note เมื่อปี 2560 ทำยอดขายไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ ซึ่ง Nissan Note เป็นรถในโครงการอีโคคาร์เฟส 1 เช่นเดียวกับ Nissan March ซึ่งประเด็นปัญหา Nissan Note มียอดขายต่ำกว่าเป้ามาโดยตลอด



ทั้งนี้คาดว่าเกิดจากการเลือกใช้เครื่องยนต์ 1.2 ลิตร ที่เป็นเครื่องยนต์ตัวเดียวกันที่ใช้กับใน Nissan March ด้วยที่เป็นเทคโนโลยีเก่า แต่ตั้งขายในราคาสูง จึงไม่ได้รับความนิยม อีกทั้งในช่วงเวลานั้นคู่แข่งจะใช้เครื่องยนต์ที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ภายใต้เงื่อนไขของอีโคคาร์เฟส 2 แล้ว ซึ่งมีรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่ทยอยออกมาโดดเด่นในเรื่องความประหยัดที่มากกว่า



Nissan March เปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2553 เป็นรถ EcoCar รุ่นแรกของค่าย และในฐานะรถยนต์ EcoCar คันแรกของประเทศไทย หลังจากมีมติสนับสนุนและส่งเสริมรถยนต์ประหยัดพลังงานในบ้านเรา โดย Nissan ถือเป็นหนึ่งในค่ายแรกๆ ที่เข้าไปยื่นขอเข้าร่วมโครงการนี้ และพร้อมปฏิบัติตามข้อกำหนดของโครงการที่ว่า “ผู้ผลิตต้องเสนอแผนงานชัดเจน ประกอบด้วยโครงการประกอบรถยนต์ผลิตเครื่องยนต์และการผลิตจัดหาชิ้นส่วนยานยนต์ มูลค่าการลงทุนต้องไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท”

advertisement

SPOTLIGHT