ธุรกิจการตลาด

ถอดบทเรียนกรณีฆ่าตัวตายใน "โตโยต้า"

6 ก.พ. 65
ถอดบทเรียนกรณีฆ่าตัวตายใน "โตโยต้า"

การฆ่าตัวตายจากการทำงาน เป็นเรื่องที่พบได้ค่อนข้างบ่อยใน "ญี่ปุ่น" ซึ่งเป็นที่รู้กันดีในเรื่องของการทำงานหนักและวัฒนธรรมออฟฟิศที่ไม่เหมือนใคร และหนึ่งในเคสที่เป็นกรณีใหญ่และต่อสู้กันมาอย่างยาวนานก็คือ Toyota บริษัทรถยนต์เบอร์ 1 ในประเทศ ที่เพิ่งไกล่เกลี่ยจบเรื่องนอกศาลได้เมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากที่เกิดเหตุมานานถึง 12 ปี

 

เหตุการณ์นี้ เริ่มต้นมาจากพนักงานคนหนึ่งในโตโยต้า เริ่มมีอาการซึมเศร้าในปี 2009 และก่อเหตุฆ่าตัวตายเมื่อต้นปี 2010 ก่อนที่ครอบครัวของเขาจะยื่นฟ้องบริษัทในปี 2015 เพื่อให้เกิดการยอมรับอย่างเป็นทางการว่า เขามีอาการป่วยและนำไปสู่การฆ่าตัวตาย เพราะความเกี่ยวเนื่องกับงาน (Work-related suicide)

 

เคสนี้ ทางโตโยต้าตกลงขอไกล่เกลี่ยนอกศาลเมื่อปีที่แล้ว จนนำมาสู่บทสรุปการตกลงกันได้สำเร็จและมีการแถลงข่าวเมื่อเดือน ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา และที่จริงก่อนหน้านี้เมื่อเดือน มิ.ย. 2021 โตโยต้าก็เพิ่งจะประกาศขอโทษ "อีกเคสหนึ่ง" ไปหมาดๆ โดยเคสนั้นเป็นการฆ่าตัวตายของวิศวกรหนุ่มวัย 27 ปี ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2017

 

นอกจากประเด็นเรื่องเงินชดเชยแล้ว สิ่งสำคัญก็คือ การยอมรับว่า "งานฆ่าคนได้" การฆ่าตัวตายที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงาน เป็นปัญหาที่บริษัทควรตระหนักและปรับปรุงไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก และครอบครัวสามารถฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยบริษัทในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวได้ด้วย

 

ทีมข่าว SPOTLIGHT ขอสรุปเหตุการณ์และการถอดบทเรียนที่ได้จากกรณีของ Toyota ดังนี้

 

1. เกิดอะไรขึ้นกับพนักงานของโตโยต้า
       สำหรับเคสที่เพิ่งตกลงกันได้เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้เสียชีวิต (วัย 40 ปีขณะก่อเหตุ) เข้าทำงานที่โตโยต้ามาตั้งแต่ปี 1990 โดยทำงานในส่วนการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ปัญหาเริ่มเกิดขึ้นในปี 2008 ที่เขาได้เป็นหัวหน้าดูแลการผลิตชิ้นส่วนสำหรับไลน์การผลิตรถ Prius รุ่นใหม่ ซึ่งมีการระบุว่า เขามีอาการซึมเศร้าในเดือน ต.ค. ปี 2009 ก่อนจะฆ่าตัวตายในเดือน ม.ค. 2010 โดยมีรายละเอียดเบื้องต้นว่า ไลน์การผลิตที่ทำอยู่เพื่อส่งออกไปตลาดจีนนั้นเกิดปัญหา ทำให้เขาต้องมีปัญหากระทบกระทั่งทั้งกับสายการผลิตและกับฝ่ายบริหารที่อยู่สูงกว่า

       ส่วนอีกเคสหนึ่ง เป็นวิศวกรหนุ่มหัวกะทิอนาคตไกลที่จบจากโทได (ม.โตเกียว) ทำงานได้ไม่นานก็ได้บรรจุที่สำนักงานใหญ่ แต่กลับต้องเผชิญการถูกหัวหน้า "บูลลี่" หรือการใช้อำนาจในทางมิชอบจากหัวหน้า ที่ทำร้ายทั้งทางวาจา กดดันด้วยวิธีต่างๆ ให้ทำงานทั้งเสาร์-อาทิตย์ และไม่ยอมให้ใช้วันหยุดพักผ่อน แม้บริษัทจะรับทราบปัญหาและมีการย้ายวิศวกรรายนี้ไปแผนกอื่นแล้ว แต่ก็ยังเป็นการทำงานบนชั้นเดียวกัน และมีโอกาสได้เจอหน้ากันอยู่ตลอด ซึ่งที่สุดแล้ว วิศวกรรายนี้ซึ่งเป็นโรคซึมเศร้าตามมา ได้เลือกจบชีวิตลงในปี 2017 เมื่ออายุ 27 ปี

 


2. ทำไมถึงเลือกจบชีวิตตัวเอง
        เพราะวัฒนธรรมการทำงานในญี่ปุ่นไม่ค่อยเหมือนที่อื่นๆ มนุษย์เงินเดือน หรือซาลารี่มัง (Salary man) จะเน้นการทำงานและเติบโตไปกับบริษัทเดียว โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ชื่อดังที่มีสวัสดิการที่ดี สร้างความมั่นคงให้ครอบครัวได้ทั้งในเชิงเงินเดือนและชื่อเสียงทางสังคม โดยญี่ปุ่นนั้นมีกรอบจารีตทางสังคมที่เข้มงวด โดยเฉพาะผู้ชายที่เป็นหัวหน้าครอบครัวเลี้ยงดูลูกเมีย ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้หญิงญี่ปุ่นจะลาออกมาเป็นแม่บ้านเต็มตัวหลังแต่งงาน

000_98r2q3

        คนญี่ปุ่นจะไม่เปลี่ยนงานบ่อยเพื่ออัพเงินเดือน เพราะอาจทำให้ประวัติดูแย่ โดยเฉพาะถ้าเป็นคนทำงานวัยกลางคนขึ้นไป เพราะอาจหมายถึงการมีปัญหามาจากที่ทำงานเก่า ซึ่งจะทำให้หางานใหม่ได้ยาก (ไม่ใช่กรณีถูกซื้อตัวไปที่ใหม่) ยิ่งหากได้ทำงานในบริษัทใหญ่ก็จะเลือกอดทนกันจนถึงที่สุด ทั้งอดทนต่อปัญหาการละเมิด (Harassment) และการทำงานล่วงเวลา

        ญี่ปุ่นจึงมีศัพท์อีกคำว่า "คาโรชิ" (Karoshi) หรือการโหมทำงานมากเกินไปชนิดที่เกินเวลาทำงานปกติ ซึ่งมีรายงานตัวเลขว่าในปี 2020 รัฐบาลได้รับร้องเรียนกรณีคาโรชิถึง 2,835 เคส และมีการจ่ายชดเชยปัญหาดังกล่าวไป 800 เคส ซึ่งรวมถึงกรณีการฆ่าตัวตายจากการทำงานด้วย

 


3. ปัญหานี้จบลงอย่างไร
        เคสของพนักงานรุ่นใหญ่นั้น หลังจากเกิดเหตุการณ์ในเดือน ม.ค. 2010 และครอบครัวยื่นฟ้องในปี 2015 ครอบครัวแพ้คดีในศาลชั้นต้นที่ จ.นาโงย่า แต่ก็เดินหน้าอุทธรณ์ต่อจนชนะคดีในศาลอุทธรณ์ เมื่อปี 2021 จนมีการรเจรจาไกล่เกลี่ยนอกศาลกันได้สำเร็จเมื่อปลายเดือน ม.ค. 2022 แม้จะไม่มีการเปิดเผยตัวเลขค่าชดเชย แต่เคยมีรายงานไว้ก่อนหน้านี้ว่า ครอบครัวของโจทก์เคยร้องขอค่าชดเชยประมาณ 120 ล้านเยน (เกือบ 35 ล้านบาท)

       ในการแถลงต่อสื่อเมื่อวันที่ 31 ม.ค. ที่ผ่านมา ภรรยาหมายวัย 50 ปี ระบุว่า ภายใต้การตกลงยอมความครั้งนี้ ทางโตโยต้าจะดำเนินการคือ 1. ชดใช้ค่าเสียหายจำนวนหนึ่ง 2. ยอมรับว่าสามีเป็นโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตายอันเนื่องมาจากการทำงาน และจากการล่วงละเมิดของหัวหน้างาน ซึ่งบริษัทพร้อมแสดงความขอโทษ

       ทางครอบครัวระบุว่า การไกล่เกลี่ยนอกศาลทำให้ครอบครัวมีโอกาสได้พบกับ "อาคิโอะ โทโยดะ" ประธานบริษัทและทายาทรุ่นปัจจุบันของตระกูลผู้ก่อตั้ง Toyota โดยเป็นการพบกันเพื่อแสดงความขอโทษต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

       นอกจากการชดเชยและการขอโทษของบริษัทแล้ว สิ่งหนึ่งที่ครอบครัวคาดหวังและบริษัทให้คำมั่นเอาไว้ก็คือ การตระหนักและแก้ไขปัญหาเช่นนี้ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นอีก โดยบริษัทจะรายงานผลความคืบหน้ากับครอบครัวในอีก 5 ปีข้างหน้า ถึงการดำเนินการต่างๆ ในบริษัท เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก

       "ถ้าการฟ้องร้องครั้งนี้ หมายถึงโอกาสที่บริษัทจะได้เปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในการทำงานเสียใหม่ สามีของดิฉันก็คงจะยกโทษให้และขอบคุณด้วย" ภรรยา กล่าว

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT