Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
วิบากกรรมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ทำไมต้องเผชิญวิกฤตครั้งใหญ่?
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

วิบากกรรมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ทำไมต้องเผชิญวิกฤตครั้งใหญ่?

21 พ.ค. 68
16:02 น.
แชร์

ข่าวการปลดพนักงานครั้งใหญ่ของนิสสัน ซึ่งประกาศเลย์ออฟพนักงานกว่า 20,000 คนทั่วโลก พร้อมทั้งปิดโรงงาน 7 แห่ง รวมถึงประเทศไทย เป็นสัญญาณเตือนอีกครั้งว่าอุตสาหกรรมยานยนต์กำลังก้าวเข้าสู่ยุคแห่งความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ง่ายต่อการรับมือ โดยเฉพาะในประเทศไทยซึ่งเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญของโลก และเป็นแหล่งผลิตรถยนต์สันดาปจากหลายค่าย กำลังถูกกระทบกับความเปลี่ยนแปลงไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า

การปิดโรงงานของนิสสันและการเลย์ออฟพนักงานทั่วโลก มีผลกระทบต่อโรงงานนิสสันในอำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งกำลังจะปิดตัวลงในเดือนมิถุนายน 2568 ส่งผลให้กำลังการผลิตหายไปถึง 2.2 แสนคันต่อปี และบริษัทมีแผนโยกย้ายพนักงานอีกกว่า 1,000 ตำแหน่ง  โดยนิสสันเตรียมเปลี่ยนพื้นที่จากโรงงานผลิตรถยนต์ไปเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แทน

สาเหตุสำคัญที่ทำให้นิสสันต้องปรับโครงสร้างครั้งใหญ่มาจากการเผชิญกับอุปสรรคจากนโยบายภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เรียกเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศ 25% ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อบริษัทรถยนต์สหรัฐฯ ขณะเดียวกัน นิสสัน ก็ขาดทุนหนักในปี 2024 ที่ผ่านมาประมาณ 4.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับเป็นการขาดทุนครั้งใหญ่เป็นอันดับ 3 ในประวัติศาสตร์ของบริษัท สถานการณ์ดังกล่าวได้เร่งให้นิสสันเดินหน้าปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่เพื่อฟื้นฟูฐานะทางการเงิน

นิสสัน เป็นหนึ่งในบรรดาหลายค่ายรถยนต์ที่มีโรงงานผลิตอยู่ในประเทศไทย สถานการณ์จากวันนี้จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายความเป็นอยู่ของอุตสาหกรรมายานยนต์ไทยอย่างมาก

ภาพจาก iStock : โรงงานผลิตรถยนต์

ประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำ กำลังสั่นคลอน

ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญของโลก โดยเฉพาะรถยนต์สันดาปภายใน ด้วยกำลังผลิตและส่งออกกว่า 1 ล้านคันต่อปี และมีการจ้างงานในอุตสาหกรรมยานยนต์มากกว่า 4 แสนคน แต่เมื่อโลกเริ่มเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า โครงสร้างอุตสาหกรรมนี้เริ่มสั่นคลอน จำนวนแรงงานในสายการผลิตลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558

สถานการณ์สงครามการค้าอาจเป็นตัวเร่งให้ธุรกิจยานยนต์ของไทยถูกกระทบหนักขึ้นและเร็วขึ้น แต่นอกเหนือจากสงครามการค้าแล้วธุรกิจรถยนต์ต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงจากหลายปัจจัย

    แรงปะทะจากรถจีน และสงครามการค้าจากสหรัฐฯ

ก่อนจะเผชิญภาวะสงครามการค้า ไทยต้องรับมือกับรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนที่เข้ามาทำตลาดอย่างรุนแรง ด้วยราคาที่ถูกกว่าเทคโนโลยีก้าวหน้า และไม่ใช้ซัพพลายเชนในประเทศไทย ส่งผลให้ผู้ผลิตในไทยที่เคยแข็งแกร่งเริ่มเสียเปรียบอย่างรวดเร็ว ยิ่งมาเจอ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เปิดศึกทางภาษีทั้งกับจีนและประเทศอื่น ๆ โดยเก็บภาษีนำเข้า 25%-60% ซ้ำเติมให้การส่งออกของไทยและห่วงโซ่การผลิตทั้งหมดถูกกระทบ 

    ยอดขายรถในไทยร่วงหนัก ผลจากเศรษฐกิจในประเทศซบเซา

ยอดขายรถในประเทศไทยปี 2567 ลดลงเหลือเพียง 5.73 แสนคัน ต่ำที่สุดในรอบ 15 ปี ลดลงถึง 26.09% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สาเหตุมาจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยไฟแนนซ์ และหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง จนกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชน

แรงงานในภาคยานยนต์ กำลังเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านที่เสี่ยงตกงาน

อุตสาหกรรมยานยนต์แบบดั้งเดิมพึ่งพาห่วงโซ่การผลิตที่ซับซ้อนรถยนต์ 1 คันมีชิ้นส่วนมากกว่า 30,000-40,000 ชิ้น ทำให้ต้องมีการจ้างแรงงานนับแสนคนทำงานใน tier 2, tier 3 และอีกหลายหมื่นใน tier 1 หรือสายการประกอบ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีแรงงานในอุตสาหกรรมปลายน้ำ เช่น ศูนย์บริการ อู่ซ่อมรถ ร้านอะไหล่ ที่กระจายตัวทั่วประเทศ

แต่พอโลก เริ่มขยับไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า ก็พบความแตกต่างว่า ใช้ชิ้นส่วนเพียง 3-4 พันชิ้น ผลิตด้วยระบบอัตโนมัติ ความต้องการแรงงานจึงลดลงอย่างมาก อีกทั้งหลังจากใช้งาน 7 ปี แบตเตอรี่เสื่อมสภาพ รถคันเก่าอาจถูกทิ้งโดยไม่ต้องซ่อม ยิ่งซ้ำเติมวิกฤตของช่างอู่และร้านซ่อมรายย่อยที่กำลังหดตัว

ข้อมูลจาก TDRI เสนอแนวทางเพื่อชะลอการตกงานและสร้างโอกาสใหม่ให้กับภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ 

  1. ยืดอายุการใช้งานรถเก่า โดยออกกฎหมายบังคับต่อทะเบียนเพื่อให้ต้องเข้าศูนย์ซ่อมหรืออู่ ทำให้เกิดการจ้างงานและหมุนเวียนของอะไหล่
  2. สนับสนุนรถไฮบริด ที่ยังเติบโตดี เป็นทางเลือกที่สร้างงานในช่วงเปลี่ยนผ่านจากสันดาปไป EV
  3. สร้างอุตสาหกรรมดัดแปลงรถ EV แบบไทยๆ เช่น ดัดแปลงรถกระบะอายุมากกว่า 7 ปีให้เป็น EV ซึ่งมีศักยภาพดูดซับแรงงานได้ถึง 2 แสนคนภายใน 3 ปี
  4. Upskill และ Reskill แรงงาน ผ่านวิทยาลัยเทคนิคและมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ตั้งเป้าให้มีช่างดัดแปลง EV อย่างน้อย 1 คนต่อ 1 ตำบล
  5. หนุน BCG Economy รัฐบาลควรอุดหนุนการดัดแปลงรถ EV ให้เป็นอุตสาหกรรมหมุนเวียนของไทย พร้อมส่งเสริมอู่ที่สามารถแปลงรถเก่าให้วิ่งต่อได้อีกหลายปี

อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกำลังยืนอยู่ในจุดหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างอดีตอันรุ่งโรจน์กับอนาคตที่ไม่แน่นอน การปรับตัวเชิงนโยบาย การวางแผนระยะยาว และการดูแลแรงงานที่เป็นหัวใจของอุตสาหกรรม คือทางรอดเดียวที่วิกฤตรถยนต์ไทยจะก้าวพ้นไปได้

ที่มา : สัมภาษณ์ ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ , ข้อมูลจาก TDRI

แชร์
วิบากกรรมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ทำไมต้องเผชิญวิกฤตครั้งใหญ่?