Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
น่าห่วง! ผู้สูงวัยติดโซเชียล 4 ชม./วัน เปิดจุดเสี่ยงครอบครัวต้องดูแล

น่าห่วง! ผู้สูงวัยติดโซเชียล 4 ชม./วัน เปิดจุดเสี่ยงครอบครัวต้องดูแล

20 พ.ค. 68
19:16 น.
แชร์

สสส. ร่วมกับ ม.มหิดล แถลงผลวิจัยการรู้เท่าทันสื่อผู้สูงอายุปี 67 พบใช้สื่อออนไลน์มากกว่า 4 ชม.ต่อวัน จุดเสี่ยงถูกหลอกตกเป็นเหยื่อได้ง่าย

ศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล โดยการสนับสนุน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลงผลงานวิจัย เรื่อง สถานการณ์ พฤติกรรมการใช้สื่อ และประสบการณ์ การถูกหลอกลวงของผู้สูงอายุไทย ปี 2567 พบผู้สูงอายุไทยใช้สื่อออนไลน์มากที่สุด โดยใช้มากกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน ส่งผลบวกทั้ง 4 มิติสุขภาวะ ทั้งการบริหารร่างกาย การทำงานจิตอาสา การเข้าร่วมสังคม และการใช้ชีวิตอย่างรู้คุณค่า เข้าใจชีวิต

ด้านความเสี่ยงจากมิจฉาชีพพบว่า ผู้สูงอายุมีแนวโน้มถูกหลอกผ่านสื่อมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่ถูกหลอกให้ซื้อของคุณภาพไม่สมราคามากที่สุด โดยมีจุดอ่อนคือแม้จะมีการคิดก่อนแต่มักจะ "ไม่ถาม" คือไม่หาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายน่าเชื่อถือก่อนตัดสินใจ

ส่วนไลฟ์สไตล์ของผู้สูงอายุไทย กลุ่มใหญ่ที่สุดคือวัย "เกษียณสุขใจ" มีสุขภาพดีพอควร รายได้เพียงพอ เปิดรับสื่อออนไลน์ มองหาความสุขในช่วงชีวิตที่เกษียณ ให้ความสำคัญกับความสุขในครอบครัว และการมองหาความหมายในชีวิต

ทั้งนี้ งานวิจัยยังเผยให้เห็น 4 ฉากทัศน์ อนาคตผู้สูงอายุไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า หากขาดความร่วมมือในการขับเคลื่อนเรื่องการรู้เท่าทันสื่อจากสังคมในระดับโครงสร้าง ผู้สูงอายุอาจตกอยู่ในความเสี่ยงระดับ "สูงถึงสูงสุด"

นางญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา (สำนัก 11) สสส. เผยว่า สสส. ให้ความสำคัญกับการจัดทำองค์ความรู้ และงานวิชาการ โดยสนับสนุนการจัดตั้ง "ศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ" ซึ่งทำหน้าที่เป็นแหล่งข้อมูลเชิงวิชาการ (knowledge hub) ด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ ภายใต้การดูแลหลักของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ม.มหิดล ผลวิจัยในวันนี้เป็นหนึ่งในงานสำคัญที่ศูนย์วิชาการฯ ได้ดำเนินการศึกษา "สถานการณ์การใช้สื่อ ไลฟ์สไตล์ และฉากทัศน์อนาคตผู้สูงอายุไทย" ซึ่งช่วยให้มองเห็นภาพรวมของสถานการณ์ทั้งเรื่องการใช้สื่อ การรู้เท่าทันสื่อ ความเสี่ยงที่ผู้สูงอายุต้องเผชิญ

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า ผู้สูงอายุที่รู้ว่าตนเองตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงผ่านสื่อต่าง ๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าผู้สูงอายุไทยตกเป็นเหยื่อการหลอกลวง มีแนวโน้มมากขึ้นทุกปี โดยประเด็นที่ถูกหลอกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือ หลอกให้ซื้อของคุณภาพไม่สมราคา ร้อยละ 72.91 และหลอกให้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ร้อยละ18.39 ในขณะที่เรื่องการหลอกให้ทำบุญก็เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ถึงเกือบร้อยละ 10 เป็น ร้อยละ 38.80 ในปี 2567

ดังนั้นการสร้างทักษะเท่าทันสื่อ ข้อมูลและดิจิทัล จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ ในการรับมือและเท่าทันกับความเสี่ยงที่มากับสื่อและเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยี AI ที่จะเข้ามามีบทบาทและสร้างผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบให้กับประชาชนผู้ใช้สื่อ

ขณะที่ผลประเมินด้านพฤติกรรมรู้เท่าทันสื่อตามแนวคิด "หยุด คิด ถาม ทำ" ซึ่งอยู่ในหลักสูตรสูงวัยรู้ทันสื่อที่ สสส. ร่วมขับเคลื่อนดำเนินการ ก็พบว่า ผู้สูงอายุยังมีระดับการรู้เท่าทันสื่อในระดับปานกลาง โดยมีจุดอ่อนหลักคือ ไม่ถาม (ไม่หาข้อมูลจากหลายแหล่ง) และไม่หยุด (ไม่ยั้งคิดก่อนเชื่อหรือแชร์) ซึ่งเป็นช่องโหว่สำคัญที่ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อจากการถูกหลอกลวงผ่านสื่อ

ข้อมูลในงานวิจัยยังมีการวิเคราะห์แนวโน้มของฉากทัศน์ที่จะเกิดขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า เพื่อให้สามารถเตรียมความพร้อมและกำหนดทิศทางการพัฒนาได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงสามารถวางนโยบายเชิงรุกที่ตอบโจทย์ความท้าทายของสังคมสูงวัยได้

รองศาสตราจารย์ ดร.นันทิยา ดวงภุมเมศ ศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การทำงานของศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุในปีนี้ มุ่งจัดการและยกระดับความรู้ที่ได้จากการวิจัยเชิงสำรวจสถานการณ์และผลกระทบจากการใช้สื่อ และการรู้เท่าทันสื่อ ที่ดำเนินการมาเป็นปีที่ 4 การศึกษาจัดกลุ่มวิถีชีวิตของผู้สูงอายุไทย การวิเคราะห์กระบวนการเรียนรู้เท่าทันสื่อและผลิตสื่อด้วยตนเองของผู้สูงอายุ และการศึกษาปัจจัยภายนอกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านสังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การเมือง นโยบาย กฏหมาย จริยธรรม และประชากรในปัจจุบัน เพื่อสังเคราะห์คาดการณ์ (Foresight) ความเป็นไปได้ในการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุไทย ตามแนวทางของอนาคตศาสตร์ (Future studies) และนำเสนอออกมาเป็นฉากทัศน์อนาคตผู้สูงอายุไทยในสังคมสารสนเทศในอนาคตในปี 2578 หรือในอีก 10 ปีข้างหน้า ฉากทัศน์ทั้ง 4 แบบที่นำเสนอในวันนี้ ล้วนเป็นภาพสะท้อนอนาคตของสังคมสูงวัยไทยที่สามารถเกิดขึ้นได้จริง

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทิศทางการพัฒนาและการเลือกตัดสินใจร่วมกันของคนในสังคมไทยว่าต้องการให้สังคมสูงวัยไทยเป็นแบบใด ในฉากทัศน์ที่ดีที่สุด เช่น "เท่าเทียมและเท่าทัน" ซึ่งจะเห็นว่า การปรับนโยบายเชิงระบบ เช่น การขยายอายุเกษียณ การส่งเสริมทักษะดิจิทัล การมีสื่อที่มีความรับผิดชอบ และการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุในสังคม เป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้สูงอายุสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีศักดิ์ศรี และยังคงเป็นทรัพยากรของชาติ ขณะเดียวกัน ฉากทัศน์เชิงลบ เช่น "ห่างเหิน ห่างไกล ขาดความเชื่อใจถ้วนหน้า" สะท้อนให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้น หากสังคมละเลย ไม่เตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ปล่อยให้ความเหลื่อมล้ำ ช่องว่างระหว่างวัย และปัญหาข้อมูลเท็จลุกลามโดยไม่มีมาตรการรองรับ

ดังนั้น อนาคตของผู้สูงอายุไทยจะเป็นอย่างไร ไม่ได้ขึ้นอยู่กับโชคชะตา แต่ขึ้นอยู่กับ การเลือกของเราในวันนี้ หากสังคมไทยต้องการให้เกิดฉากทัศน์เชิงบวก จำเป็นต้องมีการวางแผนระยะยาว มีนโยบายสอดคล้องกับบริบทจริง และที่สำคัญคือ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งในระดับบุคคล ชุมชน องค์กร และรัฐ ที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ไปด้วยกัน

Advertisement

แชร์
น่าห่วง! ผู้สูงวัยติดโซเชียล 4 ชม./วัน เปิดจุดเสี่ยงครอบครัวต้องดูแล