โรคหัวใจ สาเหตุเสียชีวิตอันดับหนึ่งของโลก ในไทยอันดับ 2 รองจากมะเร็ง เช็ก 2 ปัจจัยเสี่ยง สัญญาณเตือนที่ไม่ควรมองข้าม
โรคหัวใจและหลอดเลือด “ฆาตกรเงียบ” ที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ความน่ากลัวคือเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการในระเยะเริ่มแรก แต่กว่าจะรู้ตัวก็สามารถคร่าชีวิตคนได้แบบเฉียบพลัน
โดย นพ.อนุพงษ์ ปริณายก ผู้อำนวยการสถาบันหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลพระรามเก้า เปิดเผยว่า โรคหัวใจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของโลก ขณะที่ในประเทศไทย โรคหัวใจป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับสองรองจากโรคมะเร็ง ง (รวมทุกอวัยวะ) โดยมีอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยสูงถึง 12% หรือประมาณ 2 รายต่อชั่วโมง อีกทั้งยังพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปีล่าสุดมีผู้ป่วยใหม่กว่า 400,000–500,000 ราย สะท้อนถึงความรุนแรงของโรคที่กำลังเพิ่มขึ้นในสังคมไทย
1.ปัจจัยปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น พันธุกรรม โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเสียชีวิตจากโรคหัวใจก่อนวัยอันควร หรือ อายุที่มากขึ้น และในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
2. ปัจจัยที่ควบคุมได้ ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง จากการบริโภคไขมันทรานส์ (ที่พบในเบเกอรี่ ครีมเทียม อาหารทอด), จากภาวะอ้วน การสูบบุหรี่ (รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้า), การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป การไม่ออกกำลังกาย ความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ และการละเลยควบคุมโรคประจำตัว ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กระตุ้นให้โรคหัวใจกำเริบหรือรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว
นายแพทย์อนุพงษ์ ระบุว่า อาการของโรคหัวใจ จะมีสองแบบแบบแรกคือแสดงออกแบบค่อยเป็นค่อยไป จะมีอาการเช่น เหนื่อยง่ายเวลาออกแรง แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ที่อาจร้าวไปยังกราม แขน หรือหลัง ซึ่งอาการเหล่านี้มักถูกมองข้าม
และแบบที่สองคือเกิดขึ้นเฉียบพลัน ไม่มีอาการเตือนใดๆ มาก่อน จู่ๆก็เจ็บหน้าอกอย่างรุนแรง ร้าวไปที่กรามหรือไหล่ ร่วมกับความดันตก ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจเสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาล และแม้แต่ผู้ป่วยที่มาถึงโรงพยาบาลแล้ว ยังมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 10% ดังนั้น การใส่ใจสัญญาณเตือน แม้เพียงเล็กน้อย จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
การตรวจวินิจฉัยและรักษาแนะนำให้ผู้ชายอายุ 40 ปีขึ้นไป และผู้หญิงตั้งแต่อายุ 50 ปี ควรเริ่มตรวจสุขภาพหัวใจอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ โดยการตรวจประกอบด้วยตรวจเลือดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG), การเดินสายพาน (Exercise Stress Test) การตรวจเอคโคหัวใจ (Echocardiogram) เพื่อดูโครงสร้างและการทำงานของหัวใจ
นอกจากนี้ ยังมีการตรวจเอกซเรย์หินปูนในหลอดเลือดหัวใจ (Calcium Score CT Scan) ซึ่งสามารถบ่งบอกระยะเริ่มต้นของไขมันในหลอดเลือดหัวใจได้อย่างแม่นยำ ซึ่งหินปูนในหลอดเลือดหัวใจ เปรียบได้กับยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำ ยังมีไขมันที่ซ่อนอยู่ภายในหลอดเลือดอีกมาก รวมทั้งยังมีการตรวจ MRI หัวใจ แม้เทคโนโลยีจะก้าวหน้า เช่น การทำบอลลูน ใส่ขดลวด ผ่าตัดบายพาส หรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจผ่านสายสวนแบบ TAVR แต่โรคหัวใจส่วนใหญ่ “ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้”
การรักษาเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า หากไม่ดูแลรักษาควบคุมปัจจัยเสี่ยงอย่างจริงจัง ก็มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีก จึงจำเป็นต้องได้รับการติดตามปัญหาจากแพทย์อย่างต่อเนื่อง
ขณะนี้โรงพยาบาลหลายแห่งก็เร่งพัฒนาให้รองรับกับทั้งวินิจฉัย รักษา ป้องกัน และฟื้นฟูโดยการรักษาหากทำได้รวดเร็วก็จะยิ่งดีกับผู้ป่วย โดยมาตรฐานสากลของการเปิดหลอดเลือดเพื่อทำการรักษาฉุกเฉินอยู่ที่ 90 นาทีหลังผู้ป่วยมาถึง แต่บางโรงพยาบาลก็สามารถทำได้เร็วกว่านั้น ซึ่งก็จะสามารถลดอัตราการเสียชีวิตและช่วยรักษากล้ามเนื้อหัวใจได้มากขึ้น
Advertisement