Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
รู้จัก“JAS 39C/D Gripen”ที่ไทยใช้รบจริงครั้งแรกของโลก มีใช้แค่ 7ประเทศ
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

รู้จัก“JAS 39C/D Gripen”ที่ไทยใช้รบจริงครั้งแรกของโลก มีใช้แค่ 7ประเทศ

27 ก.ค. 68
18:56 น.
แชร์

ตั้งแต่เหตุปะทะระหว่างกองทัพไทยและกัมพูชาปะทุขึ้นบริเวณชายแดน ความสนใจจากทั่วโลกก็พุ่งเป้าไปที่ขีดความสามารถทางทหารของทั้งสองประเทศ ทั้งในแง่ยุทโธปกรณ์ แสนยานุภาพ และกำลังพล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ Saab JAS 39C/D Gripen ของไทยที่ถูกส่งเข้าร่วมภารกิจโจมตีในแนวหน้า ซึ่งนับเป็นบทบาทครั้งสำคัญในสนามรบจริง

ตามรายงานข่าว เครื่องบิน JAS 39C/D Gripen อย่างน้อย 2 ลำได้เข้าจู่โจมเป้าหมายภาคพื้นดินของกัมพูชาในพื้นที่ประชิดชายแดน โดยมีเป้าหมายรวมถึงฐานยิงปืนใหญ่ โดยใช้อาวุธคือระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์รุ่น GBU-12 ภารกิจครั้งนี้ยังมีเครื่อง F-16 Fighting Falcon อีก 2 ลำเข้าร่วม และทางการไทยได้ยืนยันว่าอากาศยานทุกลำกลับฐานได้อย่างปลอดภัย

ภารกิจครั้งนี้นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเครื่องบิน JAS 39C/D Gripen ซึ่งแม้จะเข้าประจำการในหลายประเทศ ได้แก่ สวีเดน สาธารณรัฐเช็ก แอฟริกาใต้ ไทย บราซิล และฮังการี แต่ยังไม่เคยถูกใช้ในการปฏิบัติการรบจริงมาก่อน การออกบินของ JAS 39C/D Gripen เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมจึงถือเป็นครั้งแรกที่เครื่องบินขับไล่รุ่นนี้ได้ปฏิบัติภารกิจโจมตีเป้าหมายในสถานการณ์สู้รบอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้สถานะเดิมในฐานะ "เครื่องบินขับไล่เจเนอเรชันที่ 4 ฝั่งตะวันตกเพียงรุ่นเดียวที่ยังไม่เคยผ่านศึก" สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ

ในบทความนี้ SPOTLIGHT จะพาผู้อ่านไปรู้จัก Saab JAS 39 Gripen ให้ลึกขึ้นว่า เครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์จากสวีเดนรุ่นนี้มีสมรรถนะเหนือชั้นอย่างไร? และปัจจุบันมีประเทศใดบ้างที่ครอบครอง Gripen เป็นส่วนหนึ่งของกำลังทางอากาศ?

Gripen คืออะไร? รู้จัก Saab JAS 39 เครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูงจากสวีเดน

Saab JAS 39 Gripen คือเครื่องบินขับไล่เอนกประสงค์ขนาดเบาความเร็วเหนือเสียง แบบเครื่องยนต์เดี่ยว ผลิตโดยบริษัท Saab AB ของสวีเดน ผู้เชี่ยวชาญด้านอากาศยานและเทคโนโลยีป้องกันประเทศ โดยชื่อ “Gripen” แปลว่า “กริฟฟิน” ซึ่งเป็นสัตว์ในตำนานรูปร่างผสมระหว่างสิงโตและนกอินทรี ส่วนคำย่อ “JAS” มาจากภาษาสวีเดนว่า Jakt, Attack och Spaning หมายถึง “ขับไล่, โจมตี และลาดตระเวน” สะท้อนถึงความสามารถรบแบบ “swingrole” ที่สามารถเปลี่ยนภารกิจได้อย่างคล่องตัว

จุดเริ่มต้นของ Gripen เกิดขึ้นในปี 2522 เมื่อรัฐบาลสวีเดนวางแผนพัฒนาเครื่องบินขับไล่ใหม่เพื่อทดแทน Saab 35 Draken และ Saab 37 Viggen ที่เริ่มล้าสมัย โจทย์คือ ต้องเป็นเครื่องบิน Mach 2 ที่มีต้นทุนไม่สูง และสามารถปฏิบัติภารกิจจากสนามบินขนาดเล็กในระบบ Bas 90 ซึ่งใช้รันเวย์เพียง 800 เมตรเท่านั้น เพื่อความอยู่รอดในการรบหากเกิดการรุกราน

โครงการถูกมอบหมายให้บริษัท Saab เป็นผู้พัฒนา Gripen รุ่นแรก โดยเครื่องต้นแบบบินทดสอบครั้งแรกในปี 2531 และเริ่มส่งมอบเครื่องลำแรกในปี 2536 ก่อนเข้าประจำการในกองทัพอากาศสวีเดนในปี 2539 

ตั้งแต่เริ่มโครงการ Saab ได้พัฒนาและผลิตเครื่องบิน Gripen มาอย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบัน Saab ได้พัฒนา Gripen มาแล้วทั้งหมด 4 รุ่น ไก้แก่ JAS 39A/B, JAS 39C/D, Gripen NG และรุ่นล่าสุด JAS 39E/F โดย JAS 39C/D ซึ่งเป็นเครื่องบิน Gripen รุ่นที่ไทยนำมาใช้ปฏิบัติภารกิจโจมตีจริงในการปะทะชายแดนกับกัมพูชาครั้งล่าสุด ถือเป็นรุ่นพัฒนาหลักที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย ซึ่งแบ่งย่อยออกได้อีกเป็น 2 รุ่น คือ รุ่น C ที่เป็นแบบที่นั่งเดี่ยว และรุ่น D ที่เป็นแบบสองที่นั่ง สำหรับภารกิจฝึกหรือบังคับร่วม 

ในช่วงปี 2554 ประเทศไทยได้จัดหา JAS 39C/D Gripen จำนวน 12 ลำ และรับมอบครบภายในปี 2559 ปัจจุบันยังคงประจำการอยู่ 11 ลำ หลังเกิดอุบัติเหตุสูญเสียไปหนึ่งลำในปี 2560 นอกจากนี้ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลไทยยีงได้ประกาศลงนามสัญญากับบริษัท Saab เพื่อจัดหาเครื่องบิน Gripen รุ่นล่าสุด หรือ JAS 39E/F Gripen เพิ่มอีก 12 ลำ โดยคาดว่าจะมีการสั่งซื้อชุดแรกจำนวน 4 ลำภายในช่วงปลายปี 2568

JAS 39C/D - JAS 39E/F ดีอย่างไร? ทำไมกองทัพอากาศไทยเลือกใช้?

โดยทั่วไปแล้ว Saab Gripen ถือเป็นเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ที่มีสมรรถนะโดดเด่น แม้จะไม่ใช่เครื่องบินที่มีพลังขับดันหรือความสามารถในการล่องหนสูงสุดเมื่อเทียบกับ F-35 ของสหรัฐฯ แต่ Gripen ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในด้านความคล่องตัว การใช้งานที่ยืดหยุ่น และความคุ้มค่าในการปฏิบัติการ จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับประเทศที่ให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพเชิงยุทธวิธีและการทำงานร่วมกับพันธมิตรทางทหารได้อย่างมีประสิทธิผล

สำหรับ JAS 39C/D Gripen นั้น ถือเป็นหนึ่งในเครื่องบินรบอเนกประสงค์ที่ออกแบบมาอย่างชาญฉลาดจากสวีเดน โดยเน้นความคล่องแคล่วสูง ความยืดหยุ่นในการเปลี่ยนภารกิจ และระบบอาวุธและอิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัย ซึ่งล้วนตอบโจทย์ยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศของไทยได้อย่างลงตัว ทั้งในแง่ภูมิประเทศ ข้อจำกัดด้านงบประมาณ และแนวคิดการปฏิบัติการแบบกระจายตัว

ในด้านสมรรถนะ JAS 39C/D ใช้เครื่องยนต์ Volvo RM12 แบบเทอร์โบแฟนติด afterburner ให้แรงขับ 54 กิโลนิวตัน และเพิ่มเป็น 80.5 กิโลนิวตันเมื่อเปิด afterburner น้ำหนักบินขึ้นสูงสุด 14,000 กิโลกรัม ติดตั้งปืนกล BK-27 ขนาด 27 มม. และสามารถบรรทุกอาวุธได้ทั้ง 

  • ปืนใหญ่อากาศ Mauser BK-27 ขนาด 27 มม.
  • ขีปนาวุธอากาศสู่อากาศ: RB-71, AIM-9, AIM-120 AMRAAM, Meteor, Matra MICA, Sky Flash, IRIS-T
  • ขีปนาวุธอากาศสู่พื้น: RB-75, AGM-65 Maverick
  • ขีปนาวุธต่อต้านเรือ: RBS-15
  • ลูกระเบิดขนาด 250–2,000 ปอนด์
  • กระเปาะชี้เป้า Litening
  • ระบบอิเล็กทรอนิกส์สงครามขั้นสูง (ECM)

แนวคิดการออกแบบ Gripen C/D คือ “เครื่องบินเล็กแต่ระบบอัจฉริยะ” โดยวิศวกรของ Saab ให้ความสำคัญกับการติดตั้งระบบประมวลผลกลางความเร็วสูง (mission computer) ที่ควบคุมทุกระบบบนเครื่อง โดยให้นักบินใช้ความสนใจเพียง 20% กับการควบคุมเครื่องบิน ที่เหลืออีก 80% ใช้ไปกับการตัดสินใจทางยุทธวิธี ระบบคอมพิวเตอร์นี้มีความล้ำหน้าจนสามารถปรับเปลี่ยน เปลี่ยนถ่าย และอัปเดตซอฟต์แวร์ใหม่ได้ตลอดเวลา ทำให้ Gripen หนึ่งลำสามารถทำภารกิจได้หลากหลาย ทั้งลาดตระเวน โจมตี และสกัดกั้นแบบอัตโนมัติในพื้นที่หลากหลายสภาพแวดล้อม เช่น ป่าทึบ ชายฝั่ง หรือภูเขา

ระบบเรดาร์ PS-05/A ของ Gripen C/D ตรวจจับเป้าหมายภาคพื้นดินได้ไกล 90 กม. และตรวจจับเครื่องบินรบฝ่ายตรงข้ามได้ไกลถึง 120 กม. ระบบยิงอากาศสู่อากาศสามารถสั่งยิงพร้อมกัน 4 ลูก ใส่เป้า 4 ตำแหน่ง และรองรับการใช้จรวดนำวิถีจากยุโรป อิสราเอล และสหรัฐฯ

นอกจากนี้ Gripen C/D ของไทยยังเป็นเครื่องบินลำแรกในโลกที่ทดสอบจรวดนำวิถี Meteor ที่มีระยะยิงหวังผล 120 กม. ด้วยความเร็วมากกว่า 4 มัค ซึ่งทำให้ไม่สามารถหลบเลี่ยงได้แม้เป้าหมายจะบินด้วยความเร็ว 1.4 มัค และอยู่ห่างออกไปกว่า 80 กม. ทั้งนี้ยังมีการใช้จรวด IRIS-T ซึ่งนักบินสามารถเล็งเป้าผ่านศูนย์เล็งในหมวกบินแบบดิจิทัลได้โดยตรง

สำหรับ JAS 39E/F ซึ่งเป็นรุ่นล่าสุดของตระกูล Gripen ได้รับการพัฒนาเพื่อยกระดับสมรรถนะในทุกมิติ ขณะเดียวกันยังคงจุดแข็งเรื่องต้นทุนการดำเนินงานต่ำ โดยมีค่าใช้จ่ายต่อชั่วโมงบินน้อยกว่าเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่อย่าง F-35 ถึง 3–4 เท่า ทำให้เป็นทางเลือกที่คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์อย่างยิ่งสำหรับประเทศที่ต้องการเครื่องบินรบประสิทธิภาพสูงในงบประมาณจำกัด

เมื่อเปรียบเทียบกับ Gripen C/D รุ่นก่อน JAS 39E/F มีขนาดลำตัวใหญ่ขึ้น สามารถบรรจุเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น 30% ติดตั้งเครื่องยนต์ General Electric F414 ที่ทรงพลังยิ่งขึ้น พร้อมด้วยจุดติดตั้งอาวุธและถังเชื้อเพลิงรวมสูงสุดถึง 10 จุด ระบบห้องนักบินได้รับการออกแบบใหม่ทั้งหมด โดยเปลี่ยนจากหน้าจอแยก 3 จอในรุ่น C/D เป็นจอ Wide Area Display (WAD) ขนาดใหญ่เพียงจอเดียว เพิ่มความคล่องตัวและความเข้าใจในสถานการณ์ขณะบินได้ดียิ่งขึ้น

ในด้านอาวุธและระบบตรวจจับ Gripen E/F รองรับการติดตั้งขีปนาวุธอากาศสู่อากาศพิสัยไกล MBDA Meteor ได้มากถึง 7 ลูก ติดตั้งเรดาร์ AESA รุ่น ES-05 Raven จาก Leonardo พร้อมระบบตรวจจับเป้าด้วยอินฟราเรดแบบ IRST รุ่น Skyward G รวมถึงระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ (EWS) ที่ทันสมัยจาก Saab พร้อมระบบเตือนภัยขีปนาวุธเข้าใกล้แบบ 360 องศา (MAWS) ที่ครอบคลุมรอบทิศทาง Gripen E/F ยังสามารถใช้งานอาวุธของนาโต้และตะวันตกได้หลากหลายชนิด อาทิ IRIS-T, AIM-9 Sidewinder, A-Darter, AIM-120 AMRAAM, MBDA MICA, AGM-65 Maverick, KEPD 350, RBS-15F, GBU-12, GBU-39, Mk 82 และอื่น ๆ อีกมากมาย

จุดเด่นอีกประการของ Gripen E/F คือความสามารถในการขึ้นบินและลงจอดบนถนนหลวงหรือพื้นที่จำกัด ด้วยระยะทางที่สั้นเพียง 500 เมตร แม้ในสภาพพื้นผิวเปียกหรือขรุขระ ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบเหนือเครื่องบินขับไล่อื่นอย่าง Eurofighter Typhoon ที่ต้องใช้ทางวิ่งเรียบและยาวมากกว่า เครื่อง Gripen ยังสามารถเตรียมพร้อมสำหรับการปฏิบัติการบินใหม่ภายในเวลาเพียง 10–20 นาที เพิ่มความเร็วในการตอบสนองในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือการรบจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Gripen E/F สะท้อนถึงแนวคิดการออกแบบที่มาจากสภาพแวดล้อมของสวีเดนซึ่งเต็มไปด้วยภูมิประเทศซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นชายฝั่ง หน้าผา หรือป่าทึบ เครื่องบินรุ่นนี้จึงถูกพัฒนาให้สามารถใช้งานได้แม้ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานสนามบินขนาดใหญ่ และยังคงประสิทธิภาพในการปฏิบัติภารกิจได้อย่างเต็มที่ ความยืดหยุ่นในการขึ้นบินจากสถานที่จำกัดและความทนทานในการปฏิบัติงาน ทำให้ Gripen E/F เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ของประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง

ด้านขุมพลัง Gripen E ใช้เครื่องยนต์เทอร์โบแฟน General Electric F414 ที่ให้แรงขับสูงถึง 22,000 ปอนด์ รองรับการบินด้วยความเร็วเหนือเสียงโดยไม่ต้องใช้สันดาปท้าย (Supercruise) โครงสร้างเครื่องบิน ระบบการบิน และชุดสงครามอิเล็กทรอนิกส์ล้วนถูกออกแบบใหม่ทั้งหมด เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในภารกิจสมัยใหม่

สุดท้าย สถาปัตยกรรมระบบอากาศยานของ Gripen E/F ถูกออกแบบมาให้เปิดกว้างต่อการอัปเกรดฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์อย่างรวดเร็ว เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนตามภัยคุกคามที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้กองทัพอากาศของแต่ละประเทศสามารถพัฒนาซอฟต์แวร์เฉพาะของตนเองได้ด้วย เพิ่มขีดความสามารถในการควบคุมและบูรณาการเทคโนโลยีเข้ากับยุทธศาสตร์ของประเทศได้อย่างเต็มที่

ประเทศไหนมี Gripen ในครอบครองบ้าง?

ปัจจุบันมีหลายประเทศทั่วโลกที่เลือก Gripen เข้าประจำการในกองทัพอากาศของตน ทั้งผ่านการจัดซื้อโดยตรงหรือการเช่าใช้งาน บางประเทศยังพัฒนา Gripen ให้เป็นแกนหลักของกำลังทางอากาศเพื่อรับมือกับภัยคุกคามยุคใหม่ จากข้อมูลในเว็บไซต์ของ Saab รายชื่อประเทศที่มี Gripen ใช้งานมีดังนี้

บราซิล

กองทัพอากาศบราซิล (FAB) ประจำการ F-39E จำนวน 10 ลำ และได้สั่งซื้อเพิ่มเติมอีก 26 ลำในรุ่น Gripen E/F โดยมีกำหนดส่งมอบระหว่างปี 2562-2569 รวมเป็นฝูงบินทั้งหมด 36 ลำในรุ่น F-39E/F ขณะนี้รัฐบาลบราซิลกำลังเจรจากับ Saab เพื่อจัดซื้อเพิ่มอีก 12–15 ลำ Gripen ของบราซิลสังกัดฝูงบิน ‘Jaguar’ แห่งกองบินป้องกันภัยทางอากาศที่ 1

สาธารณรัฐเช็ก

กองทัพอากาศเช็กเช่า Gripen จำนวน 14 ลำ แบ่งเป็นรุ่นที่นั่งเดียว JAS 39C จำนวน 12 ลำ และรุ่นสองที่นั่ง JAS 39D อีก 2 ลำ โดยประจำการตั้งแต่ปี 2559 สังกัดฝูงบินยุทธวิธีที่ 211 

ฮังการี

กองทัพอากาศฮังการีใช้งาน Gripen จำนวน 14 ลำ (รุ่น C EBS HU จำนวน 12 ลำ และ D EBS HU จำนวน 2 ลำ) ภายใต้สัญญาเช่าซื้อ และในเดือนกุมภาพันธ์ 2024 ได้มีการสั่งซื้อ Gripen C เพิ่มอีก 4 ลำ Gripen ของฮังการีประจำการที่ฝูงบินขับไล่ยุทธวิธี ‘พูม่า’ ณ ฐานทัพอากาศที่ 59

แอฟริกาใต้

กองทัพอากาศแอฟริกาใต้ (SAAF) จัดหา Gripen รวม 26 ลำ แบ่งเป็นรุ่น C ที่นั่งเดียว 17 ลำ และรุ่น D สองที่นั่ง 9 ลำ เครื่องแรกส่งมอบเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2551 ทั้ง 26 ลำยังคงประจำการอยู่ ณ ปี 2559 ภายใต้ฝูงบินที่ 2

สวีเดน

กองทัพอากาศสวีเดนใช้งาน JAS 39C จำนวน 74 ลำ, รุ่น D จำนวน 24 ลำ และรุ่น E จำนวน 3 ลำ โดยในปี  2559 มีคำสั่งซื้อเพิ่มอีก 60 ลำในรุ่น E พร้อมแผนสั่งเพิ่มอีก 10 ลำ เดิมทีสวีเดนสั่งรวมทั้งหมด 204 ลำ (รวมรุ่นสองที่นั่ง 28 ลำ) และยังได้ให้เช่าเครื่องบิน 28 ลำแก่กองทัพอากาศเช็กและฮังการี

ไทย

กองทัพอากาศไทยมี Gripen รุ่น JAS 39C จำนวน 8 ลำ และรุ่น JAS 39D อีก 4 ลำ โดยประจำการครบทั้ง 12 ลำภายในปี พ.ศ. 2559 แต่เกิดอุบัติเหตุสูญเสียไป 1 ลำ คงเหลือ 11 ลำในบัญชีประจำการ ปัจจุบันประจำการอยู่ที่ฝูงบิน 701 กองบิน 7 ทั้งนี้ ในวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2567 กองทัพอากาศไทยประกาศเลือก Gripen E/F เป็นเครื่องทดแทนฝูงบิน F-16A/B ที่ล้าสมัย และได้ประกาศสั่งซื้อ JAS 39E/F Gripen เพิ่มอีก 12 ลำ ในเดือนมิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา

สหราชอาณาจักร

โรงเรียนฝึกนักบินทดสอบ Empire Test Pilots’ School ใช้ Gripen สำหรับการฝึกบิน โดยนักเรียนจะฝึกกับเครื่องจำลองร่วมกับกองทัพอากาศสวีเดน และบินจริงกับ Gripen รุ่นสองที่นั่ง ณ โรงงาน Saab เมืองลินเชอปิง ปีละสองครั้ง (ฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง) โดยข้อตกลงความร่วมมือนี้ได้รับการต่ออายุในปี 2551


แชร์
รู้จัก“JAS 39C/D Gripen”ที่ไทยใช้รบจริงครั้งแรกของโลก มีใช้แค่ 7ประเทศ